ศาลอิหร่านพิพากษาลงโทษประหารชีวิตผู้ต้องหา 2 ราย ฐานเปิดเว็บไซต์ลามกอนาจาร
วันที่ 30 มกราคม สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอรายงานว่า ศาลอิหร่าน ได้พิพากษาประหารชีวิตผู้ต้องหา 2 คน ข้อหาเปิดเวบโป้
อัยการสูงสุด ระบุว่า ผู้ดูแลเว็บไซต์ลามกอนาจารทั้งสอง ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต และเจ้าหน้าที่ได้ส่งคำพิพากษาดังกล่าวให้กับศาลสูงสุดเพื่อขอคำรับรอง” อับบาส จาฟารี โดลาตอบาดี อัยการสูงสุดอิหร่านกล่าว โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้ต้องหา
เมื่อเดือนธันวาคมปี 2010 แคนาดาเคยแสดงความกังวลผ่านไปยังกรุงเตหะราน ต่อกรณีการพิพากษาประหารชีวิตชาวแคนาดารายหนึ่ง ซึ่งเกิดในอิหร่าน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ออกแบบเว็บไซต์ลามกอนาจาร
ซอเอด มาเลกพู ชาวแคนาดา วัย 35 ปี ถูกตัดสินว่า มีความผิดข้อหา “ออกแบบ และเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ลามกอนาจารหลายแห่ง” “ปลุกปั่นต่อต้านระบอบปกครองของเตหะราน” และ “ดูหมิ่นความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม” ข้อมูลจากกลุ่มรณรงค์ผ่านโลกออนไลน์แห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกร้องให้เขาได้รับการปล่อยตัวระบุ
มาเลกพู ถูกจับกุมเมื่อปี 2008 หลังจากเดินทางกลับอิหร่านเพื่อเยี่ยมพ่อที่กำลังป่วย เขาถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ เนเธอร์แลนด์เพิ่งประกาศระงับความสัมพันธ์กับทางกรุงเตะหราน หลังอิหร่านสั่งประหารชีวิตสตรีเชื้อสายอิหร่าน-ดัตช์ รายหนึ่ง ฐานลักลอบค้ายาเสพติด ทั้งๆ ที่ในตอนแรกเธอถูกจับกุม เพราะร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาล
อิหร่าน จีน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐฯ มีจำนวนการประหารชีวิตนักโทษในแต่ละปีสูงที่สุด โดยการคบชู้ การฆาตกรรม การลักลอบค้ายาเสพติด และอาชญากรรมสำคัญๆ ล้วนต้องโทษประหารชีวิตทั้งสิ้นในสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
สหรัฐฯ เรียกร้องให้อิหร่านยุติการลงโทษประหาร
ฟิลิป ครอว์ลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อ 31 มกราคม ระบุว่า สหรัฐฯมีความกังวลอย่างยิ่งที่อิหร่านยังคงละเลยสิทธิมนุษยชนของพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแขวนคอสตรีชาวเนเธอร์แลนด์เชื้อสายอิหร่าน ซาห์รา บาห์รามี โดยไม่อนุญาตให้สถานกงสุลเนเธอร์แลนด์เข้าไปให้ความช่วยเหลือ
บาห์รามี วัย 46 ปี ซึ่งเป็นชาวเนเธอร์แลนด์เชื้อสายอิหร่าน ถูกจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2009 หลังจากเดินทางไปเยี่ยมญาติในอิหร่าน และได้เข้าร่วมการประท้วงรัฐบาล
ภายหลัง บาห์รามี จึงถูกตั้งข้อหาลักลอบขนยาเสพติด โดยทางการอิหร่าน ระบุว่า พบโคเคนและฝิ่นอยู่ภายในบ้านของเธอ
การประหารชีวิต บาห์รามี เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มกราคม ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจระงับการติดต่อกับอิหร่านทันที
“บาห์รามี เป็นหนึ่งในนักโทษอีกหลายสิบคนที่ถูกประหารในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ ท่ามกลางข้อกังขาเกี่ยวกับเหตุจูงใจของรัฐบาลอิหร่าน และคำถามที่ว่านักโทษเหล่านี้ได้รับสิทธิอันชอบธรรม ตามที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) หรือไม่” ครอว์ลีย์ กล่าว
“สหรัฐฯขอเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านยุติการประหารนักโทษ และรับรองว่าพวกเขาจะได้รับสิทธิพลเมืองตามกติการะหว่างประเทศ”
องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์วอตช์ เตือนว่า อิหร่านมีเป้าหมายจะประหารชีวิตนักโทษให้ได้มากกว่า 1,000 คนในปีนี้
แคทเธอรีน แอชตัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ได้กล่าวประณามการประหารชีวิต บาห์รามี พร้อมระบุว่า เธอรู้สึก “ท้อแท้” ที่รัฐบาลอิหร่านปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่กงสุลเข้าพบ บาห์รามี ก่อนการประหาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่โปร่งใส
นักสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม ระบุว่า อิหร่านเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการประหารชีวิตต่อหัวสูงที่สุดในโลก
องค์การนิรโทษกรรมสากล เปิดเผยว่า ในปี 2009 อิหร่านประหารชีวิตนักโทษอย่างน้อย 388 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน
ฮิวแมน ไรท์วอตช์ ประมาณว่า อิหร่านประหารนักโทษไปแล้วอย่างน้อย 74 คนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นมา ขณะที่ผลสำรวจของสำนักข่าวเอเอฟพีตามรายงานของสื่ออิหร่านพบว่า มีผู้ถูกประหารแล้วอย่างน้อย 66 คน
“ด้วยอัตรานี้ ทางการอิหร่านจะประหารคนมากกว่า 1,000 คนก่อนสิ้นปี 2011” ซาราห์ เลอาห์ วิตสัน ผู้อำนวยการ ฮิวแมน ไรท์ วอตช์ ประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 ม.ค.
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2282 ครั้ง