รูปภาพ : นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ล่าสุดออกโรงปฏิเสธทันควันหลังมีคนวิพากษ์นโยบายเฟดมีส่วนทำราคาอาหารแพงจากการที่ปริมาณเงินล้นโลกและไหลเข้าตลาดโภคภัณฑ์
ที่มา : Bloomberg
นโยบายการซื้อสินทรัพย์โดยธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด (หมายถึงนโยบาย QE) ไม่ได้เป็นต้นเหตุนำไปสู่ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นในหลายๆประเทศเช่นอิยิปต์ นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯออกมากล่าววานนี้ (พฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ 2011)
“ผมคิดว่า มันไม่ยุติธรรมเอาเสียเลยที่บอกว่านโยบายการเงินสหรัฐฯมีส่วนทำให้เกิดแรงกดดันด้านอุปสงค์ส่วนเกินในประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากว่าประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจมีเครื่องมือที่จำเป็นพร้อมสรรพในการจัดการปัญหาอุปสงค์ส่วนเกินในประเทศเหล่านั้น” นายเบอร์นันเก้ระบุ
ข้อวิจารณ์ของนายเบอร์นันเก้ถือเป็นการตอบโต้อย่างจริงจังต่อข้อตำหนิจากหลายฝ่ายซึ่งมองว่า นโยบายการคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำผสมโรงด้วยมาตรการการผ่อนผลายเชิงปริมาณหรือ QE (Quantitative Easing) เฟดกำลังผลักดันให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ
นายเบอร์นันเก้พูดถึงประเด็นด้านอาหารระหว่างการตอบคำถามหลังสุนทรพจน์ของเขาที่สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งชาติ (National Press Club) ที่กรุงวอชิงตัน เขากล่าวว่า ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเกิดใหม่สะท้อนถึงความมั่งคั่งที่สูงขึ้นของประชาชนในประเทศเหล่านั้นและในบางประเทศ ความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ
“ยกตัวอย่าง พวกเขา (หมายถึงประเทศเกิดใหม่) สามารถใช้นโยบายการเงินของพวกเขาเอง พวกเขาสามารถปรับอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ค่อยเต็มใจที่จะทำสักเท่าไหร่ในบางกรณี” นายเบอร์นันเก้ระบุ
ราคาอาหารโลกพุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งในเดือนมกราคม 2011 โดยล่าสุดดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและเกษตรโลกหรือเอฟเอโออยู่ที่ 231 จุด ในเดือนมกราคม 2011 เพิ่มขึ้นกว่า 3.4% จากเดือนธันวาคม 2010 ถือเป็นการพุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แล้วสำหรับระดับราคาอาหารเฉลี่ยทั่วโลก
ในสุนทรพจน์ของเขา นายเบอร์นันเก้ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดตรงไปยังสภาคองเกรสให้จัดการกับปัญหาที่เขาเรียกว่า “การขาดดุลงบประมาณที่สูงเป็นพิเศษ”
“ความท้าทายด้านการคลังในระยะยาวที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ถือว่าน่ากลัวมากเพราะโดยมากมันเป็นผลผลิตของแนวโน้มที่ทรงพลังในตอนนี้ ไม่ใช่เป็นปัจจัยในระยะสั้นหรือชั่วคราว” นายเบอร์นันเก้กล่าว
ก่อนหน้านี้ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณเตือนเรื่องการขาดดุลงบประมาณมาก่อนแล้ว แต่สุนทรพจน์ของเขาแสดงถึงการเรียกร้องที่แหลมคมกว่าเดิมเพื่อหามาตรการในการจัดการกับการขาดดุลงบประมาณซึ่งตอนนี้อยู่ในระดับ 9-10% ต่อจีดีพี
“ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลที่สูงเป็นเวลานานจะดูดเอาเงินทุนไปจากการลงทุนภาคเอกชนและจะทำให้เราเป็นหนี้ต่างชาติมากขึ้น โดยมีผลกระทบหนักในะระยะยาวต่อระดับผลผลิตทางเศรษฐกิจ รายได้ และมาตรฐานการครองชีพของสหรัฐฯ” นายเบอร์นันเก้กล่าว
เขากล่าวว่า มาตรการจะไม่เพียงแต่ยกระดับการเติบโตในระยะยาวเท่านั้น “แต่ยังสามารถสร้างผลประโยชน์มากมายในระยะอันใกล้ในแง่ของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ต่ำลงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่สูงขึ้นด้วย”
นายเบอร์นันเก้ยังมีท่าทีชัดเจนถึงการสนับสนุนลำดับความสำคัญทางนโยบายที่กำหนดโดยประธานาธิบดีโอบามาในคำแถลงการณ์แห่งรัฐ (State of the Union Address) ของเขาซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปภาษี แต่ก็ให้แรงจูงใจแก่การลงทุนในด้านทักษะ การวิจัยและพัฒนา และ การจัดหา “โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่จำเป็น”
ในเรื่องเศรษฐกิจ คำพูดของเขาค่อนข้างระมัดระวังมาก โดยอิงกับคำแถลงที่เขาให้ต่อสภาคองเกรสก่อนหน้าและแถลงการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐฯในช่วงการประชุมหารือเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมนี้เป็นหลัก
นายเบอร์นันเก้ไม่ได้มีการปรับมุมมองทางเศรษฐกิจของเขามากมายอะไรเพื่อให้สะท้อนถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่ออกมาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ในช่วงเช้าวานนี้เช่นกัน สถาบันการจัดการอุปทาน (Institute of Supply Management หรือ ISM) ได้ออกมาแถลงว่า ดัชนีกิจกรรมภาคบริการของ ISM เพิ่มขึ้นจากระดับ 57.1% ในเดือนธันวาคมมาเป็น 59.4% ในเดือนมกราคม สูงสุดในรอบ 6 ปี
โดยรวมแล้ว นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า “ความเชื่อมั่นในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่กำลังปรับตัวดีขึ้น นโยบายการเงินที่เหมาะสม และเงื่อนไขทางการเงินที่เป็นใจกว่าเดิม … ดูเหมือนจะนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2011 ที่รวดเร็วกว่าที่เราเห็นในปีที่แล้ว
นายเบอร์นันเก้ยังได้เตือนถึงการมั่นใจเกินไปในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงซบเซาอยู่ “จนกระทั่งเราเห็นภาวะการสร้างงานที่แข็งแแกร่งขึ้นอย่างชัดเจน เราไม่สามารถพิจารณาได้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้วจริงๆ”
ที่มา Financial Times
แถลงการณ์องค์การอาหารและเกษตรโลกว่าด้วยดัชนีราคาอาหารของเดือนมกราคม 2011 แถลง ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2011
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday