รายงานจากกรุงพนมเปญ โดยเอเอฟพี ระบุว่า ทหารไทยและกัมพูชาได้ปะทะกันวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่สี่ติดต่อกันของการปะทะกัน พร้อมทั้งอ้างคำพูดของสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่าการสู้รบเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นครั้งที่สี่และทำให้มีคนตายอย่างน้อย 5 คน โดยนายทหารระดับผู้บังคับบัญชากัมพูชา ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยิงโต้ตอบกันเวลาประมาณ 8 โมง ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอาวุธอะไร
ขณะที่แหล่งข่าวทหารไทยใกล้ชายแดน กล่าวว่า เป็นการปะทะกันช่วงสั้นๆ 2 นาที ในระดับปืนเล็กเช้าของวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เกิดจากการเข้าใจผิด
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า การปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงค่ำ และหยุดยิงเวลา 21.25 น. จากนั้นเวลา 23.40 น. กองกำลังสุรนารีแจ้งว่าเกิดการยิงกันอีกประปราย โดยเฉพาะทางกัมพูชาต้องการจะยึดบริเวณเนินภูมะเขือและเนินเขาสัตตะโสม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารไทยยึดไว้ แต่กำลังทหารไทยสามารถผลักดันไม่ให้ทหารกัมพูชายึดได้ และที่ผ่านมา ทางการไทยรักษากติกาที่เจรจากันมาโดยตลอด ซึ่งคาดว่า ทางกัมพูชาจะสูญเสียมาก จึงเปิดฉากยิงก่อน
เวลา 22.30น.ของวันที่ 6 ก.พ. BAYON TV ทีวีกัมพูชา ได้อ่านแถลงการณ์ของสมเด็จฮุน เซน เรียกร้องประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ให้เรียกประชุมคณะมนตรีฯ นัดฉุกเฉิน เพื่อช่วยยุติปัญหาภายหลังเกิดการปะทะกันบริเวณชายแดนสองประเทศเป็นรอบที่สาม
เนื้อหาหลักๆ ของแถลงการณ์มีการอธิบายรายละเอียดของสถานการณ์การปะทุที่ชายแดนระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย รายงานว่าเหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ระหว่างเวลา 15.00-17.00 น. และเป็นการลำดับเหตุการณ์ขึ้นมาเรื่อยๆ
ในแถลงการณ์ของสมเด็จฮุน เซน ระบุว่า การเผชิญหน้าและการรุกรานอย่างโจ่งแจ้งนี้ ทหารกัมพูชาไม่มีทางเลือก จะต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตนเองและภายใต้คำสั่งให้ปกป้องอธิปไตย และบูรณาภาพแห่งดินแดน และมีการย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อวันที่ 3 เมษายนปีที่แล้ว ที่บอกว่า ประเทศไทยได้รุกรานกัมพูชาใน 3 ครั้งก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2008 และ 2009 โดยระบุว่าการรุกรานของไทยอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมาทำให้เกิดความเสียหายต่อกัมพูชา และต่อตัวปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2008 โดยปีกด้านหนึ่งของปราสาทถึงกับพังทลายลงมา
ท้ายของเอกสารฉบับนี้ สมเด็จฮุน เซน ได้ขอร้องให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำจดหมายเวียนเพื่อชี้แจงไปยัง 5 สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง โดยขอให้แจ้งเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ
นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย กรณีนายกรัฐมนตรีกัมพูชาส่งจดหมายถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่า การกระทำดังกล่าวของกัมพูชาได้พยายามที่จะทำในลักษณะมาโดยตลอด ที่จะพยายามดึงนานาชาติโดยองค์การสหประชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลร้ายแรงต่อเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ จากปัญหาที่เกิดขึ้นอาเซียนก็ไม่สามารถเข้ายุ่งกรณีนี้ได้ถ้าประเทศคู่กรณีแย้งไม่อนุญาต เนื่องจากกฎบัตรของอาเซียนได้มีการกำหนดเอาไว้
“พฤติกรรมของกัมพูชาในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และประเทศต่างๆ ก็รับรู้ รับทราบพฤติกรรมของกัมพูชามาโดยตลอด พฤติกรรมของกัมพูชาเป็นที่ปรากฎชัดว่าไม่มีความจริงใจในการเจรจา ที่ผ่านมาการเจรจาของไทยกับกัมพูชานั้น ทางกัมพูชาจะใช้วิธีการคุยเพื่อคุย แต่ไม่ได้เป็นการพูดคุยเพื่อหาทางออก ” อดีตทูตไทยกล่าว
นายสุวรพงษ์ กล่าวต่อว่า ข่าวสารที่ออกมาจากประเทศกัมพูชานั้น ตนอยากจะเตือนประชาชนคนไทยให้ทำความเข้าใจให้มาก เพราะอย่างลืมว่าสื่อของกัมพูชานั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ซึ่งแตกต่างจากสื่อในประเทศไทยที่เป็นสื่อเสรีอ และรัฐบาลไม่สามารถควบคุม
ด้านน.พ.วันชัย เหล่าเสถียรกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับทหารกัมพูชา ระลอก 3 เมื่อคืนที่ผ่านมา มีทั้งหมด 14 นายส่วนใหญ่จะถูกสะเก็ดระเบิดตามร่างกาย ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 1 นาย ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลกันทรลักษ์มีความพร้อมที่จะให้บริการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บตลอดเวลา
ขณะที่ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางจังหวัดมีการเตรียมความพร้อมรองรับประชาชนที่อพยพหนีเหตุปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชา โดยเน้นดูแลเรื่องที่นอน ผ้าห่ม เครื่องกันหนาว ห้องน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มาพ่นยากันยุงให้ด้วย สำหรับอาหารก็มีพร้อม และมีหน่วยจิตอาสามาตั้งโรงครัวเสริมให้อีก ขณะนี้ประชาชนอพยพกระจายอยู่ 21 จุด ประมาณ 15,000 คนหน่วยงานแบ่งดูแลอย่างทั่วถึง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1735 ครั้ง