วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงกรณีเหตุปะทะและความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา ว่า ทุกประเทศในอาเซียนรู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และได้มีการติดต่อประสานหารือกันระหว่างประเทศสมาชิกถึงกรณีดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้ ดร.มาร์ตี นาทาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน อยู่ระหว่างการเยือนกัมพูชา และจะมาเยือนประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ ( 8 ก.พ.54) เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาและข้อขัดแย้งจากทั้งสองฝ่าย พร้อยืนยันแนวทางของอาเซียนขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับฟังและมีความต้องการให้ปัญหาดังกล่าวยุติด้วยการเจรจาระดับทวิภาคี แต่ในกรณีที่ไม่สามารถยุติได้ อาเซียนก็พร้อมเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย
ส่วนกรณีที่รัฐบาลไทยจะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า คงต้องถามรัฐบาลไทยว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนกรณีที่อาเซียนเข้าเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยหรือไม่นั้น เบื้องต้นตนได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศแล้ว แต่หากทั้ง 2 แนวทางยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละประเทศคู่กรณีที่จะเรียกร้องหน่วยงานระหว่างประเทศในระดับนานาชาติเข้ามาแก้ปัญหา ได้ประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายแล้ว
นายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาติ (UNSC) โดยหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 7 ก.พ.2554 โดย เนื้่อหาสรุปถึงท่าทีของประเทศไทย และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ที่ประเทศไทยได้ตอบโต้ในระดับที่เหมาะสม เน้นเป้าหมายทางการทหารตามหลักสากล อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังย้ำถึงจุดยืนเดิมที่ต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใต้กลไกทวิภาคี
เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปชี้แจงในที่ประชุมวุฒิสภาซึ่งเป็นการประชุมลับ ซึ่งคาดว่า เข้ามาตอบกระทู้กรณีเหตุปะทะชายแดนไทยกับกัมพูชา ที่อาคารรัฐสภา 1
กษิตนำทีมทูต-สื่อเทศดูหมู่บ้านภูมิซรอล
ในการประชุมวุฒิสภาได้ประชุมลับเพื่ออภิปรายญัตติด่วน เหตุการณ์ปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศและตัวแทนจากกองทัพมาร่วมรับฟัง
รายงานข่าวจากวุฒิสภาแจ้งว่า ในที่ประชุม ส.ว.ส่วนใหญ่ได้แสดงความกังวลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเกรงว่าจะปัญหาจะบานปลาย พร้อมขอให้รัฐบาลปกป้องอธิปไตยไทยอย่างเต็มที่ พร้อมเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการตอบโต้ด้านอื่น ๆ เพื่อกดดันฝ่ายกัมพูชา เช่น มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจอย่างการปิดด่านบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา หรือระงับโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือกัมพูชา นอกจากนี้ควรการลดความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย
ขณะที่นายกษิต ชี้แจงว่า ตลอดเวลารัฐบาลไทยได้อดทนอดกลั้นมาโดยตลอด เพราะถือว่าเป็นประเทศใหญ่ในการช่วยเหลือประเทศเล็ก 6 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศกัมพูชา การที่กัมพูชายิงเข้าใส่ไทยก่อน ทำให้กองทัพต้องดำเนินการตอบโต้ ซึ่งก็ยืนยันว่าทางกองทัพได้ดำเนินการตอบโต้ด้วยความระมัดระวังไม่ให้โดนประชาชนชาวกัมพูชาและไม่ต้องการให้เกิดความเสียหาย แต่กัมพูชาพยายามที่จะโจมตีบ้านเรือนประชาชนคนไทย
กระทรวงการต่างประเทศพร้อมจะใช้ทุกเวทีไม่ว่าจะเป็นการเจรจาแบบพหุภาคีหรือทวิภาคีชี้แจง และตอบโต้ทุกวิถีทาง เพื่อให้ประชาคมโลกได้รับข้อเท็จจริง ซึ่งในวันที่ 8 ก.พ.นี้ทางกระทรวงต่างประเทศจะนำคณะทูตและสื่อต่างประเทศไปดูความเสียหายที่หมู่บ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการที่ทหารกัมพูชาโจมตี ซึ่งถือว่าผิดหลักสิทธิมนุษยชน
มาร์คแจงที่ประชุมวุฒิเชื่อต้องเปิดเจรจา
มีรายงานข่าวจากวุฒิสภาแจ้งว่า นายอภิสิทธิ์ ได้ชี้แจงเวลาประมาณ 18.00 น. โดยระบุว่า ได้ประเมินแล้วว่าอาจเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะทั้งสองประเทศมีปัญหาตั้งแต่การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมไทย-กัมพูชาปี 2551 เรื่องเหตุรุนแรงครั้งนี้ เกิดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เริ่มจากทหารกัมพูชานำรถตักและทหาร 7 คัน มาทำถนนในเขตแดนไทยในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ทางการไทยจึงประท้วงไปทำให้กัมพูชาถอยทหาร
ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ฝ่ายไทยจึงออกไปซ่อมถนนปรับพื้นที่ ฝ่ายกัมพูชาจึงยิงเข้ามา ฝ่ายไทยจึงยิงตอบโต้ มาถึงวันนี้(7ก.พ.) ปะทะรวม 4 รอบ บาดเจ็บ 20 กว่าคน ทหารเสียชีวิต 1 นาย ราษฎรเสียชีวิต 1 คน อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยสั่งถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และไม่ได้ปล่อยปละละเลย แต่คาดว่า ฝ่ายกัมพูชาอาจต้องการยกปัญหาไปสู่ระดับนานาชาติ แต่ฝ่ายไทยคิดว่า การเจรจาระดับทวิภาคีน่าจะแก้ปัญหาได้ และจะนำข้อเสนอของส.ว.ไปพิจารณาดำเนินการ ตอนนี้ภาวะยังล่อแหลมแต่ขอให้มั่นใจและเห็นใจรัฐบาลไทย และเชื่อว่าจะมีการเปิดการเจรจาของสองประเทศทุกระดับเร็วๆนี้
หลังจากนายกฯชี้แจง จึงเข้าสู่การพิจารณากระทู้ถามด่วนเรื่อง การดำเนินการของรัฐบาลไทยกรณีคนไทย 7 คน ถูกจับกุมบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ของนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ถามต่อนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมมีมติให้เป็นการประชุมลับเพื่อต่อเนื่องจากญัตติด่วนดังกล่าว
ประวิตรมอบ3นโยบายป้องอธิปไตยยึดเอ็มโอยู43
พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ชายแดนไทย กัมพูชาว่า ขณะนี้อยู่ในภาวะเรียบร้อย โดยกระทรวงกลาโหมให้นโยบายเหล่าทัพนำไปปฏิบัติ 3 เรื่อง คือ 1ไม่รุกรานใครและเราต้องรักษาอธิปไตยตามแนวชายแดนเอาไว้ให้ได้ 2. เราต้องดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนตามแนวชายแดน 3. เราต้องยึดมั่นใน สนธิสัญญากฎบัตรระหว่างประเทศ และ เอ็มโอยูปี 43 ซึ่งหากเขารุกล้ำอธิปไตยเรามา ทหารจำเป็นต้องตอบโต้ในการรักษาอธิปไตยของเรา โดยตอบโต้ไปเฉพาะที่หน่วยทหารเท่านั้น จะไม่มีการตอบโต้ไปยังประชาชน เราจะไม่ยอมเสียพื้นที่หรือดินแดนให้กับใคร ที่ผ่านมา ถ้าพูดจากันไม่เข้าใจก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะให้เราถอนทหารออกมาเราก็ทำไม่ได้ ทั้งนี้ทางนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงมหาดไทยดูแลประชาชน และให้อพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
เมื่อถามว่า เกรงว่า จะขยายวงกว้างจนกลายเป็นสงครามหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คงไม่ถึงขั้นจะต้องรบกันจนกลายเป็นสงคราม ขณะนี้หน่วยทหารในพื้นที่พูดจากัน แต่อาจจะมีการกระทบกันในบางจุด ซึ่งคงจะต้องเร่งในเรื่องการประชุมจีบีซี เพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนกรณีที่ทางกัมพูชาระบุว่าจะไม่เจรจากับประเทศไทย แต่จะให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมาแก้ปัญหานั้น เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการในเรื่องของสหประชาชาติ และต่างประเทศ ทางเราก็ดูแลสถานการณ์ชายแดน ขณะนี้แม่ทัพภาคที่ 2 ได้คุยกับแม่ทัพภาคของกัมพูชา ถ้าไม่พูดคุยกันคงยิงกันมากกว่านี้ คงยิงกันตลอดเวลา ไม่มีเวลาหยุดยิง ซึ่งทางผบ.เหล่าทัพคงประชุมหารือ เพื่อนำแนวนโยบายนี้ไปดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ขอยืนยันว่าก องทัพพร้อมจะดุแลและรักษาอธิปไตยของประเทศไว้อย่างเต็มที่ รวมถึงการดูแลประชาชนตามแนวชายแดน ให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2062 ครั้ง