กองทัพสหรัฐฯทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า “มาร์จาห์” เป็น “เมืองใหญ่ที่มีประชากร 80,000 คน” และเป็นศูนย์ส่งกำลังบำรุงของพวกตอลิบานในจังหวัดเฮลด์มันด์ ดังนั้นจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นฉากของการสู้รบซึ่งเป็นการประกาศ “ชัยชนะครั้งใหญ่และครั้งโด่งดัง” แต่เอาเข้าจริงแล้วสภาพของมาร์จาห์ไม่ควรเรียกว่าเป็นตำบลเล็กเมืองน้อยด้วยซ้ำไป ดังนั้น มันจึงกลายเป็นตัวอย่างอันชัดเจนที่สุดและน่าตื่นใจที่สุดของสงครามแห่งการสร้างภาพสร้างความรู้สึกประทับใจ ทั้งนี้ความสำคัญของสงครามชนิดนี้ก็มีสรุปเอาไว้ในเอกสารของกองทัพสหรัฐฯว่าด้วยหลักการในการต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบ
เป็นเวลาหลายสัปดาห์ทีเดียว สาธารณชนในสหรัฐฯคอยเฝ้าติดตามการรุกรบครั้งใหญ่ที่สุดของสงครามอัฟกานิสถาน เพื่อเข้ายึดที่มั่นที่เรียกขานกันว่า “มาร์จาห์” (Marjah) พวกเขาได้รับคำบอกเล่าว่าที่มั่นแห่งนี้เป็น “เมืองใหญ่ที่มีประชากร 80,000 คน” ตลอดจนเป็นศูนย์ส่งกำลังบำรุงของพวกตอลิบานสำหรับอาณาบริเวณแถบนั้นของจังหวัดเฮลมันด์ (Helmand) การที่ประชาชนมีความคิดความเข้าใจกันเช่นนี้ เป็นเพราะการตีฆ้องร้องป่าวที่กระทำกันในเดือนกุมภาพันธ์ โดยจุดมุ่งหมายประการสำคัญที่สุดของการป่าวร้องนี้ ก็คือการสร้างภาพประทับใจโดยรวมขึ้นมาว่า มาร์จาห์นั้นทรงคุณค่ามากในทางยุทธศาสตร์ มีความสำคัญเหนือกว่าศูนย์กลางชุมชนเมืองแห่งอื่นๆ ในเฮลมันด์
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าภาพของมาร์จาห์ทั้งที่เสนอออกมาโดยพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร และทั้งที่รายงานโดยสื่อมวลชนด้านข่าวสารรายใหญ่ๆ กลับกลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างอันชัดเจนที่สุดและน่าตื่นใจที่สุด ของการให้ข้อมูลอันผิดพลาดบิดเบือนในสงครามคราวนี้ทั้งหมด โดยสำหรับคราวนี้ เป็นการกระทำที่ดูเหมือนจะด้วยจุดมุ่งหมายที่จะวาดภาพให้เห็นไปว่า ยุทธการใหญ่ครั้งนี้คือจุดพลิกผันอันสำคัญมากๆ ของสงครามอัฟกานิสถาน
แท้ที่จริงแล้วมาร์จาห์ไม่ได้เป็นเมืองใหญ่อะไรเลย ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งตำบลเล็กเมืองน้อยอะไรด้วยซ้ำ โดยเป็นเพียงกลุ่มบ้านเรือนเกษตรกร 2-3 กลุ่มซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่การเกษตรผืนใหญ่ บริเวณตอนใต้ของหุบเขาลุ่มแม่น้ำเฮลมันด์
เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของกองกำลังสนับสนุนด้านความมั่นคงนานาชาติ (International Security Assistance Force หรือ ISAF ซึ่งก็คือกองทหารนานาชาติที่นำโดยองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ -ผู้แปล) ได้บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) เมื่อวันอาทิตย์(7) ในเงื่อนไขที่ขอมิให้ระบุชื่อของเขา โดยยอมรับว่า “มันไม่ได้เป็นเขตชุมชนเมืองเลย” ตัวเขาเองยังเรียกมาร์จาห์ว่าเป็น “ชุมชนชนบท” ด้วยซ้ำ
“มันเป็นบริเวณซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านหลายๆ แห่ง แล้วก็มีบ้านเรือนของชาวบ้านตามแบบฉบับ” ที่พบเห็นกันอยู่ในอัฟกานิสถาน เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวต่อและเสริมว่า บ้านเรือนเหล่านี้เมื่อเปรียบเทียบตามมาตรฐานชาวอัฟกานิสถานแล้ว ก็ต้องถือว่าร่ำรวยทีเดียว
ทางด้าน ริชาร์ด บี สกอตต์ (Richard B Scott) เป็นผู้ที่เคยทำงานในมาร์จาห์ ในฐานะเป็นที่ปรึกษาด้านการชลประทาน ให้กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US Agency for International Development หรือ USAID) จนกระทั่งถึงราวปี 2005 เขาก็ให้ความเห็นเช่นกันว่า มาร์จาห์ไม่ได้มีอะไรที่จะทำให้เข้าใจผิดคิดไปได้ว่าเป็นชุมชนเมือง มันเป็น “พื้นที่การเกษตร” ที่มี “ตลาดของเกษตรกรหลายแห่งกระจัดกระจายตัวออกไป” สกอตต์บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
เจ้าหน้าที่ ISAF คนข้างต้นบอกกับไอพีเอสด้วยว่า มาร์จาห์จะมาเกี่ยวข้องกับจำนวนประชากรเป็นหมื่นๆ คนได้ก็มีเพียงกรณีเดียว คือต้องนับรวมเอาผู้คนทั้งหมดที่อยู่ตามหมู่บ้านจำนวนมาก ในอาณาบริเวณที่แผ่กว้างออกไปร่วมๆ 200 ตารางกิโลเมตร
นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ผู้นี้บอกว่า ในอดีต มาร์จาห์ไม่เคยถูกจัดรวมในลักษณะเช่นนี้มาก่อนเลย แต่เวลานี้กำลังมีแผนการที่จะยกฐานะของมาร์จาห์ให้กลายเป็น “อำเภอ” จริงๆ ขึ้นมา ในสังกัดของจังหวัดเฮลมันด์
เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยอมรับว่า ความสับสนเกี่ยวกับจำนวนประชากรของมาร์จาห์ อาจเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า ชื่อนี้ได้เคยถูกใช้เรียกพื้นที่การเกษตรที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ดังที่กล่าวข้างต้น และก็ให้หมายถึงเฉพาะบริเวณที่พวกเกษตรกรมารวมตัวกันเป็นตลาดซื้อขายก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ชื่อของมาร์จาห์ “มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงใกล้ชิดที่สุด” กับความหมายอย่างหลังมากกว่า โดยที่บริเวณตลาดดังกล่าว ยังเป็นที่ตั้งของมัสยิดแห่งหนึ่งและร้านค้าอีก 2-3 ร้าน
ในพื้นที่อันจำกัดมากๆ นี่เอง ที่ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายบุกเข้ายึดครองของ “ยุทธการมุชตารัค” (Operation Moshtarak) ซึ่งใช้ทหารสหรัฐฯ, องค์การนาโต้, และอัฟกานิสถานรวม 7,500 คน และก็มีการประชาสัมพันธ์ออกข่าวกันอย่างเข้มข้นที่สุดยิ่งกว่ายุทธการครั้งใดๆ นับตั้งแต่เริ่มต้นสงครามอัฟกานิสถานกันมา
แล้วเจ้านิยายที่ว่ามาร์จาห์เป็นเมืองใหญ่ที่มีผู้คน 80,000 คน เริ่มต้นเผยแพร่ออกไปได้อย่างไรกัน
ความคิดดังกล่าวนี้ถูกแพร่กระจายไปยังสื่อมวลชนด้านข่าวสารต่างๆ โดยฝีมือของหน่วยทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯซึ่งประจำอยู่ทางภาคใต้ของจังหวัดเฮลมันด์ โดยรายงานข่าวชิ้นแรกๆ ที่สุดซึ่งมีการระบุอ้างอิงว่ามาร์จาห์เป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมากนั้น ต่างก็มีต้นตอมาจากแหล่งเดียวกัน นั่นคือ การบรรยายสรุปสถานการณ์ของพวกเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ณ ค่ายเลธเธอร์เน็ก (Leatherneck) อันเป็นชื่อฐานของนาวิกโยธินที่อยู่ในบริเวณนั้น
สำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ด เพรส (Associated Press หรือ AP) เผยแพร่รายงานข่าวชิ้นหนึ่งในวันเดียวกันนั้น โดยอ้างว่า “พวกผู้บังคับบัญชาทหารนาวิกโยธินหลายคน” กล่าวว่า พวกเขาคาดการณ์ว่ามีผู้ก่อความไม่สงบระหว่าง 400 ถึง 1,000 คน “ซุกซ่อน” อยู่ใน “เมืองทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานที่มีประชากร 80,000 คนแห่งนี้” การใช้ภาษาถ้อยคำเช่นนี้ย่อมชวนให้นึกไปถึงภาพการสู้รบตามถนนในเขตชุมชนเมือง ที่ทหารจะต้องบุกเข้าไปตรวจค้นในบ้านทีละหลังๆ เพื่อกำจัดศัตรูที่แอบซ่อนอยู่
รายงานข่าวชิ้นนี้บอกด้วยว่า มาร์จาห์เป็น “ตำบลใหญ่ที่สุดที่ตกอยู่ในความควบคุมของฝ่ายตอลิบาน” อีกทั้งเรียกมันว่าเป็น “แกนหลักของเครือข่ายการส่งกำลังบำรุงและการลักลอบค้าฝิ่นของพวกกองกำลังหัวรุนแรงเหล่านี้” นอกจากนั้นยังให้ตัวเลขว่ามีประชากรประมาณ 125,000 คนพำนักอาศัยอยู่ใน “ตำบลนี้ตลอดจนหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่รายรอบ”
ฝ่ายข่าวของเครือข่ายโทรทัศน์เอบีซี ตามติดมาด้วยรายงานข่าวชิ้นหนึ่งในวันถัดมา โดยมีการระบุอ้างอิงถึง “นครแห่งมาร์จาห์” ทั้งนี้มีการอ้างว่า เมืองใหญ่แห่งนี้ตลอดจนพื้นที่รอบๆ “เป็นบริเวณที่มีประชากรจำนวนมาก, มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง, และมีผู้คนหนาแน่น ยิ่งกว่าบริเวณอื่นๆที่ทางนาวิกโยธินสามารถบุกเข้าไปกวาดล้างและยึดครองเอาไว้จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้”
หลังจากนั้น สื่อมวลชนด้านข่าวสารรายอื่นๆ ต่างก็เสนอข่าวชิ้นต่อๆ มาโดยวาดภาพให้เห็นว่ามาร์จาห์เป็นพื้นที่ชุมชนเมืองอันคึกคักจอแจ โดยที่มีการใช้คำว่า “ตำบลเล็กเมืองน้อย” (town) กับ “เมืองใหญ่” (city) สลับสับเปลี่ยนกันไปมา
ครั้นเมื่อยุทธการมุชตารัคเริ่มต้นขึ้น พวกโฆษกกองทัพสหรัฐฯต่างก็วาดภาพให้เห็นไปว่า มาร์จาห์เป็นศูนย์ชุมชนเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อันเป็นวันที่ 2 ของการเปิดการรุก โฆษกนาวิกโยธินสหรัฐฯ พ.อ.โจซ ดิดดัมส์ (Josh Diddams) แถลงว่า ทหารนาวิกโยธินกำลัง “อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของนครแห่งนี้แล้วในเวลานี้”
เขายังใช้ถ้อยคำภาษาที่โน้มนำให้คิดไปถึงภาพของการต่อสู้ในเขตเมือง โดยระบุว่าพวกผู้ก่อความไม่สงบยังคงกำลังยึด “พื้นที่บางย่าน” เอาไว้ได้
เมื่อการรุกรบผ่านไปสองสามวัน ผู้สื่อข่าวบางคนเริ่มกล่าวถึงบริเวณแถบนี้ว่าเป็น “ท้องที่” (region) ทว่านั่นมีแต่สร้างความสับสนขึ้นมาแทนที่จะช่วยทำให้เรื่องราวกระจ่างถูกต้อง รายงานชิ้นหนึ่งระบุถึง “ตลาด 3 แห่งในตำบล –ที่มีเนื้อที่ 80 ตารางไมล์”
“ตำบล” ที่มีเนื้อที่ 80 ตารางไมล์ (207.2 ตารางกิโลเมตร) จะต้องใหญ่โตกว่านครใหญ่ของสหรัฐฯหลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็น วอชิงตัน ดีซี, พิตสเบิร์ก, หรือ คลีฟแลนด์
การตัดสินใจที่จะป่าวร้องให้เกินจริงเกี่ยวกับมาร์จาห์ โดยที่มีการหว่านเพาะสร้างความประทับใจอย่างผิดๆ ว่ามันเป็นเมืองที่มีอาณาเขตใหญ่โตทีเดียวนั้น ไม่น่าที่จะฝีมือการกระทำอย่างเป็นอิสระของพวกนาวิกโยธิในค่ายเลธเธอร์เน็ก
เมื่อพลิกดูเอกสาร “คู่มือภาคสนามของกองทัพบกสำหรับการต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ” (Army Counter-insurgency Field Manual) ฉบับที่มีการแก้ไขในปี 2006 ภายใต้การดูแลของ พล.อ.เดวิด เพเทรอัส (David Petraeus) ผู้บัญชาการ กองบัญชาการทหารเขตกลางของสหรัฐฯ (US Central Command) ก็จะพบว่า ภารกิจหัวใจประการหนึ่งของ “การปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร” ในสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ ก็คือ “การสร้างเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ จนกระทั่งกลายเป็นที่ยอมรับกันขึ้นมาให้ได้”
ภารกิจดังกล่าวนี้ปกติกระทำโดย “กองบัญชาการระดับสูง” ไม่ใช่กองบัญชาการในภาคสนาม ทั้งนี้ตามเนื้อหาในเอกสารคู่มือฉบับนี้
เอกสารฉบับนี้กล่าวย้ำว่า สื่อมวลชนด้านข่าวสาร “มีอิทธิพลโดยตรงต่อทัศนคติของผู้ชมรายหลักๆ ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับผู้ดำเนินการต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบ, การปฏิบัติการของพวกเขาเหล่านี้, และความรู้สึกคัดค้านต่อต้านการก่อความไม่สงบ” คู่มือฉบับนี้ยังได้ระบุถึง “สงครามแห่งการสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยใช้สื่อมวลชนด้านข่าวสาร”
พล.อ.สแตนลีย์ แมคคริสทัล (Stanley McChrystal) ผู้บัญชาการกองทหารสหรัฐฯ และกองกำลัง ISAF ในอัฟกานิสถาน มีการเตรียมการอย่างชัดเจนเพื่อทำสงครามประเภทนี้ ก่อนหน้าที่จะเปิดยุทธการในมาร์จาห์ ขณะที่การรุกใหญ่คราวนี้จวนเจียนจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว แมคคริสตัลได้ออกมาพูดจาด้วยถ้อยคำภาษาแบบเดียวกับที่ปรากฏในเอกสารคู่มือการต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบ โดยกล่าวว่า “ทั้งหมดแล้วมันก็คือสงครามแห่งการสร้างความความรับรู้ความเข้าใจ”
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้รายงานเอาไว้ในฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ว่า การตัดสินใจเปิดฉากรุกใหญ่ที่มาร์จาห์นั้น มีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การทำให้มติมหาชนในสหรัฐฯเกิดความประทับใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกองทัพสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน ด้วยการสาธิตให้เห็นว่า กองทัพอเมริกันสามารถที่จะบรรลุ “ชัยชนะครั้งใหญ่และครั้งโด่งดัง”
การสร้างภาพประทับใจผิดๆ ให้เห็นไปว่ามาร์จาห์เป็นเมืองใหญ่ที่ทรงความสำคัญ ย่อมเป็นส่วนที่ไม่อาจขาดหายได้ในความพยายามดังกล่าวนั้น
แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์ และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1819 ครั้ง