วันที่ 11 กุมภาพันธ์ การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมมีมติเสียงเกินหนึ่งจำนวน 397 ต่อ 19 และ งดออกเสียง 10 เสียง เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในวาระที่ 3 เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งขั้นต่อจากนี้จะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการแก้ไขและความเห็นขอบจากรัฐสภาแล้วนายกรัฐมนตรีจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างแก้ไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 ต่อไป ทั้งนี้ ร่างแก้ไขมาตรานี้มีสาระสำคัญ คือ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพ.ร.บ.เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
สำหรับการโหวต ในมาตรา 93-98 ซึ่งปรากฏว่า เห็นชอบ 347 ต่อ 37 งดออกเสียง 42 ทำให้การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งใหม่ มี ส.ส.ระบบเขต 375 ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 125 คน
ทั้งนี้ ในการนี้รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ เรื่องดังกล่าว ให้มีการออกกฎหมายลูกภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับผลการนับคะแนนในส่วนของมาตรา 190 ไม่มีอะไรพลิกโผ แต่ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือกลุ่ม 40 ส.ว.บางส่วนที่เคยคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างหนัก ตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อาทิ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา นางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ส.ว.สรรหา นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา นายมนเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา และนายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง ได้กลับมาโหวตสนับสนุนกันถ้วนหน้า
ส่วนการโหวต ในมาตรา 93-98 ซึ่งปรากฏว่า เห็นชอบ 347 ต่อ 37 งดออกเสียง 42 นั้น จากการตรวจสอบพบว่าพรรคประชาธิปัตย์ มีส.ส. 172 คน เห็นด้วย 169 งดออกเสียง 1 คือมีน.ส.ปรีชญา ขำเจริญ ส.ส.ราชบุรี ซึ่งเป็นส.ส.เพียงคนที่งดออกเสียงในวาระที่ 2 มาแล้ว และขาดประชุม 2 คน คือ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.สัดส่วน ซึ่งป่วยอยู่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำพันธมิตรฯ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 ว่า ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อยคราวนี้ก็ต้องดู ซึ่งต่อไปก็ต้องดูในเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งยังไม่ได้กำหนดระยะเวลา และเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ได้พบและสอบถามนายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.กตั้ง (กกต.) ซึ่งนายอภิชาติก็บอกว่าจะให้ทางนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ฝ่ายเตรียมการเลือกตั้งเป็นผู้ดูแล ส่วนการนำขึ้นทูลเกล้าฯนั้นต้องรอให้ทางสภาส่งมาที่ตนก่อน
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้ไข รธน.เป็นไปโดยมิชอบ เพราะในกรรมาธิการไม่มีสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จะทำให้ผลการบังคับใช้ล่าช้าออกไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะส่งอย่างไร หน้าที่ของตนตอนนี้คือรอให้ทางสภาส่งมา และเมื่อส่งมาถึงตนก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯทันที แต่ถ้ามีการส่งตีความก็นำขึ้นทูลเกล้าฯไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่าหากนำขึ้นทูลเกล้าฯไม่ได้แสดงว่ากติกาใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้ซึ่งเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “เราก็อยากให้เร็วครับ”
ต่อข้อถามว่าแสดงว่าจะกระทบกับปฏิทินทางการเมืองของนายกฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าเขาจะดำเนินการอย่างไร เมื่อถามว่าขณะนี้ทราบว่ามีการยื่นและทางเจ้าหน้าที่ของสภาฝ่ายธุรการได้รับไปแล้ว นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่เกี่ยว แต่ก็ยังไม่ทราบ เมื่อถามว่าตามกรอบเวลาแล้วการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ได้เลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ยังตอบไม่ได้
เมื่อถามว่าเงื่อนไข 3 ข้อ ที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดไว้ตอนนี้ยังติดขัดในข้อไหนบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เหลือเพียงเงื่อนไขข้อที่ 3 คือถ้าบ้านเมืองในภาพรวมอยู่ในความเรียบร้อยก็สามารถยุบสภาได้ ไม่มีปัญหา ซึ่งวันนี้ก็สงบในส่วนหนึ่ง แม้โดยรวมๆ ยังถือว่าไปได้ แต่หากหมดเรื่องการชุมนุมในช่วงนี้ไปแล้วสามารถกลับเข้าสู่การบังคับใช้กฎหมายปกติได้ก็จะชัดเจนขึ้น
เมื่อถามว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาระบุว่าให้จับตาดูเงื่อนไขการยุบสภาในวันที่ 18 ก.พ. มีการพูดคุยกันบ้างหรือยัง นายอภิสิทธิ์ หัวเราะพร้อมกล่าวว่า “ผมก็กำลังจะบอกว่าวันที่ 18 ก.พ. เป็นวันมาฆะบูชาได้เท่านั้น”
นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่น.ส.ปรีชญา ขำเจริญ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ งดออกเสียงในการแก้ไขรธน.วาระ 3 ว่า เรื่องดังกล่าวต้องปล่อยให้เป็นกระบวนการของพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะดำเนินการอย่างไร ในเบื้องต้นอาจจะมีการว่ากล่าวตักเตือน แต่จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการภายในของพรรค สำหรับในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลที่งดออกเสียงหรือไม่เห็นด้วยนั้น ก็ปล่อยให้เป็นกระบวนการภายในของแต่ละพรรค
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1344 ครั้ง