รูปภาพ : นายโรเบิรต์ ซูลิค ประธานธนาคารโลกหรือ World Bank
ที่มา : Bloomberg
ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกได้ผลักดันให้ประชากรโลกอีกกว่า 44 ล้านคนเข้าสู่ความยากจน “สุดขั้ว” ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนับแต่เดือนมิถุนายนปี 2010 เป็นต้นมา ธนาคารโลกระบุ
ธนาคารโลกกล่าวว่า ดัชนีราคาอาหารของธนาคารโลกดีดตัวขึ้น 15% ระหว่างเดือนตุลาคม 2010 ถึงเดือนมกราคม 2011 นำดดยข้าวสาลี น้ำตาล และน้ำมันพืช อย่างไรก็ตามดัชนีราคาอาหารของธนาคารโลกยังคงต่ำกว่าจุดสูงสุดในช่วงวิฤตอาหารปี 2008 อยู่ 3% ซึ่งในตอนนั้นราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้จุดชนวนให้เกิดการจลาจลในหลายๆประเทศทั่วโลก
“ราคาอาหารทั่วโลกกำลังพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับที่อันตรายและคุกคามคนยากจนหลายสิบล้านคนทั่วโลก” นายโรเบิร์ต ซูลิค ประธานธนาคารโลกกล่าวในแถลงการณ์วานนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2011) “ราคาที่พุ่งขึ้นกำลังผลักดันผู้คนหลายล้านคนเข้าสู่ความยากจนและกำลังเพิ่มความตึงเครียดให้กับคนที่สุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบจากราคาอาหารแพงมากที่สุด ซึ่งใช้จ่ายกว่าครึ่งของรายได้ไปกับค่าอาหาร”
ราคาข้าวโพดในตลาดชิคาโก้กระชากขึ้นกว่า 88% ในปี 2010 ที่ผ่านมา และราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้นกว่า 74% หลังจากภัยแล้งและน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้ผลผลิตในหลายๆประเทศไล่ตั้งแต่รัสเซียไปจนถึงอาร์เจนติน่า
ราคาอาหารที่พุ่งขึ้นมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการประท้วงในประเทศตูนีเซียซึ่งท้ายที่สุดประธานาธิบดีไซน์ เอล อาบีดีน เบน อาลีต้องถูกขับไล่ลงจากอำนาจ ขณะที่นายฮอสนี่ มูบารักต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลังจากการประท้วงใหญ่ในอิยิปต์ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 สัปดาห์
ขณะที่ราคาอาหารที่สูงขึ้นไม่ใช่ “สาเหตุหลัก” ของความวุ่นวายทางการเมืองในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ปัจจัยจากราคาอาหารก็ถือเป็น “ปัจจัยซ้ำเติม” สถานการณ์ นายซูลิคกล่าวในการแถลงข่าว “ตอนนี้ไม่มีที่ว่างสำหรับการนิ่งนอนใจแล้ว”
ธนาคารโลกกล่าวว่า ราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้น 45% ในบังคลาเทศ และ 31% ในศรีลังกาในช่วงครึ่งหลังของปี 2010
นโยบายที่ผิดพลาด
“หากเราไม่ได้รับภาวะที่ผ่อนคลายขึ้นในฟากของสภาพอากาศ หลังจากนั้นผมคาดการณ์ได้เลยว่าสถานการณ์จะย่ำแย่กว่าเดิม และนโยบายที่ผิดพลาดเช่น การห้ามการส่งออกหรือมาตรการอื่นๆในด้านภาษีหรือการควบคุมราคาจะยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงกว่าเดิม” นายซูลิคกล่าว
ต่างจากปี 2008 ราคาข้าวมีการเพิ่มขึ้นแบบไม่หวือหวามากและ “การเก็บเกี่ยวที่ดีในหลายๆประเทศในแอฟริกา” ได้ “ป้องกันไม่ให้มีคนถลำเข้าสู่ความยากจนมากขึ้น” ธนาคารโลกระบุ
มุมมองที่มีต่อข้าว ซึ่งเป็นอาหารจำเป็นของคนกว่าครึ่งโลก “ยังคงมีเสถียรภาพ” อยู่ ธนาคารโลกกล่าว ขณะที่ราคาข้าวล่วงหน้าในตลาดชิคาโก้เพิ่มขึ้นกว่า 57% นับแต่เดือนมกราคม 2010 ราคาข้าวในปัจจุบันก็ยังต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 25.07 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 100 ปอนด์ในช่วงเมษายน 2008 ถึงกว่า 39%
ธนาคารโลกให้นิยามคำว่า “ความยากจนสุดขั้ว” (Extreme Poverty) ว่า ต้องมีการดำรงชีพด้วยเงินที่ต่ำกว่า 1.25 ดอลลาร์ต่อวัน ในช่วงวิกฤตอาหารปี 2008 ธนาคารโลกเตือนว่า ประชากรโลกกว่า 100 ล้านคนอาจเสี่ยงที่จะถูกผลักดันลึกเข้าไปสู่ความยากจนได้
ตาข่ายความมั่นคง
“มันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้เกิดความแน่ใจว่า การเพิ่มขึ้นอีกของความยากจนจะต้องถูกควบคุมด้วยการใช้มาตรการต่างๆซึ่งสามารถบรรเทาผลกระทบจากภาวะตลาดที่ปั่นป่วนได้และด้วยการเพิ่มระดับของตาข่ายความมั่นคง (Safety Net) และโครงการด้านโภชนาการ” ธนาคารโลกระบุ
การประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกลุ่มประเทศ G20 ในสัปดาห์นี้ควรให้ความสำคัญกับเรื่องอาหาร นายซูลิคกล่าว
กลุ่ม G20 ควรให้การสนับสนุนมาตรฐานการปฏิบัติ (Code of Conduct) ในเรื่องการห้ามการส่งออก ระบบข้อมูลที่ดีขึ้นในเรื่องคลังสำรองอาหารในประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจและการพยากรณ์อากาศในระยะยาวในภูมิภาคต่างๆเช่น แถบแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาร่า (Sub-Saharan Africa)
ธนาคารโลกได้รับเงินบริจาค 350 ล้านดอลลาร์ จากจำนวน 925 ล้านดอลลาร์ที่ลงขันโดย 6 ประเทศและมูลนิธิบิลและเมลินด้า เกตส์ สำหรับกองทุนด้านเพื่อความมั่นคงทางอาหาร นายซูลิคกล่าว
ที่มา Bloomberg
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Motday
ท่านสามารถอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มของธนาคารโลกได้ที่