สสส.จับข้าราชการสภาฯ ฝึกหัวเราะบำบัด หวังให้สมองหลั่งสานเอนดอร์ฟินกระตุ้นการงานให้อารมณ์ดี
สำนักพัฒนาบุคลากร สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ โครงการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กรนิติบัญญัติ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จัดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ : รักษ์สุขภาพ รุ่นที่ 2 ให้กับข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระดับ 1-6 โดยเฉพาะนำหัวเราะบำบัดมาใช้ให้ข้าราชการคลายเคลียด
ทั้งนี้ ภาคีเครือข่าย สสส. จาก โรงพยาบาลรามาธิบดี นำโดย นพ.ฆนัท ครุฑกูล ผู้จัดการศูนย์หัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม ได้บรรยายพร้อมฉายสไลด์ให้ความรู้เรื่องโภชการอาหาร พร้อมแนะนำการรับประทานอาหารถูกสุขลักษณะจากอาหารหลัก 5 หมู่
นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นประเภทของอาหารที่เสี่ยงก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งนี้ได้มีการแบ่งกิจกรรมเป็น 3 ฐาน เพื่อให้คำแนะนำและความรู้หลักการรับประทานอาหารด้านต่างๆ คือ 1.ฐานคาร์โบไฮเดต แนะนำเกี่ยวกับการเลือกกินอาหารแต่ละมื้อให้พอเหมาะกับร่างกายของแต่ละบุคคล 2.ฐานโซเดียมหรือเกลือ เกี่ยวกับอาหารแปรรูป เครื่องปรุง และขนมสำเร็จรูป รวมถึงเครื่องดื่มบางชนิดที่มีโซเดียมผสมอยู่ และ 3.ฐานไขมัน และโปรตีน เน้นการเลือกใช้และกินน้ำมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเส้นเลือด
ด้าน อ.พันธ์ศักดิ์ โรจน์วาธรรม ที่ปรึกษาด้านจิตเวชฯ ได้จัดกิจกรรมพร้อมสาธิตการ “หัวเราะบำบัด” เพื่อใช้ประโยชน์จากการหัวเราะในการกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เราอารมณ์ดีมีความสุข เป็นการออกกำลังกายที่จะช่วยในอวัยวะส่วนท้อง กระเพาะ ลำไส้ ทั้งนี้การหัวเราะมี 5 ท่าง่ายๆ คือ ท้องหัวเราะ , อกหัวเราะ , คอหัวเราะ , หน้าหัวเราะ และสมองหัวเราะ อย่างไรก็ตามกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรสามารถนำความรู้ความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่งผลให้ข้าราชการมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อองค์กร
ขณะที่ รศ.เจริญ กระบวนรัตน์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คิดค้นนวัตกรรมการออกกำลังกายแบบ “ยางยืดเหยียด” ได้บรรยายให้รู้ถึงวิธีการออกกำลังที่ถูกต้องเหมาะสมกับร่างกายในแต่ละวัย พร้อมสาธิตการออกำลังการแบบง่ายๆที่ประยุกต์ใช้กับยางยืด ซึ่งจะส่งผลในการช่วยกระตุ้นประสาทรับรู้ความรู้สึกของกล้ามเนื้อ ให้มีปฏิกิริยาการรับรู้ และตอบสนองต่อแรงดึงของยางที่กำลังถูกยืด
อย่างไรก็ตาม การออกกำลังด้วยวิธีดังกล่าวจะ เป็นผลดีต่อการพัฒนาและบำบัดรักษาระบบการทำงานของประสาทกล้ามเนื้อได้ ขณะเดียวกันยังช่วยรักษาและป้องกันการเสื่อมสภาพของระบบกลไกการเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ เอ็นกล้ามเนื้อและเอ็นข้อต่อที่มีผลต่อรูปร่างโครงสร้างร่างกายและความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหว รวมทั้งช่วยป้องกันบำบัดรักษาอาการปวดเข่า ปวดหลัง กระดูกบาง กระดูกพรุน ข้อติด ข้อเสื่อม และช่วยแก้ปัญหาบุคลิกภาพ รูปร่างทรวดทรงให้กระชับได้สัดส่วนอย่างสมวัย
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 3115 ครั้ง