รูปภาพ : วิกฤตลิเบียส่งผลทั่วโลกกังวลน้ำมันอาจขาดแคลนและส่งผลราคาน้ำมันอาจถีบตัวขึ้นต่อเนื่อง กาตาร์กลายเป็นสมาชิกโอเปกรายล่าสุดที่ออกมาตอกย้ำว่าโลกจะไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำมันเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตลาด
ที่มา : Bloomberg
สมาชิกกลุ่มโอเปกและชาติผู้ผลิตนอกกลุ่มสามารถชดเชยกำลังการผลิตส่วนที่หายไปจากลิเบียได้ นายโมฮัมเหม็ด ซาเละห์ อัลซาดา รัฐมนตรีย้ำมันกาตาร์กล่าว หลังจากราคาน้ำมันพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“เราคิดว่าตอนนี้ไม่มีการขาดแคลนน้ำมัน” อัลซาดากล่าวกับผู้สื่อข่าวที่นครโดฮาวานนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2011) “โอเปกและชาติอื่นๆนอกกลุ่มสามารถชดเชยกำลังการผลิตที่เสียไปในส่วนของลิเบียได้”
ความกังวลที่มีต่อวิกฤตการเมืองในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางที่อาจกระทบต่อการผลิตน้ำมันได้ดันให้ราคาน้ำมันดิบไปอยู่ที่ 103.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สูงที่สุดนับแต่เดือนกันยายน 2008 ลิบเบียถือครองน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้วสูงที่สุดในแอฟริกา
คำกล่าวของนายอัลซาดามีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้าน้ำมันของซาอุดิอาระเบียออกมาระบุเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ว่า มันไม่มีเหตุผลที่ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากทั้งซาอุดิอาระเบียและชาติสมาชิกโอเปกจะไม่ปล่อยให้เกิดการขาดแคลนในตลาด กาตาร์และลิเบียถือเป็นหนึ่งในชาติ 12 สมาชิกกลุ่มโอเปกซึ่งผลิตน้ำมันกว่า 40% ของการผลิตทั่วโลกในแต่ละวัน ซาอุดิอาระเบียถือเป็นสมาชิกรายใหญ่ที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในกลุ่ม
เจ้าหน้าที่ซาอุดิอาระเบียที่ไม่เปิดเผยชื่อได้ให้ข่าวกับบลูมเบิร์กผ่านทางโทรศัพท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า น้ำมันบางส่วนจากแอฟริกาที่จะไปยังตลาดเอเชียสามารถโยกกลับไปที่ยุโรปได้ ขณะที่น้ำมันส่วนที่เพิ่มมาจากซาอุดิอาระเบียสามารถส่งไปยังเอเชียได้เพื่อทดแทนน้ำมันในส่วนของไนจีเรียและแองโกล่า
การปะทะกันอย่างหนักระหว่างฝ่ายต่อต้านและกองกำลังที่ภักดีต่อนายกัดดาฟี่ได้ลดปริมาณการผลิตน้ำมันไปอย่างน้อย 850,000 บาร์เรลต่อวันจากระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันช่วงก่อนการปะทะจะเกิดขึ้น แถลงการณ์จากทบวงพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA (International Energy Agency) ระบุเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา IEA ตั้งอยู่ที่นครปารีสตั้งขึ้นเพื่อให้คำแนะนำต่อกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ทั้งหลาย
บ่อน้ำมันลิเบียปิดตัวลง
“บริษัทน้ำมันต่างชาติเกือบทั้งหมดที่ดำเนินงานในลิเบียได้รายงานถึงการปิดตัวลงบางส่วนหรือทั้งหมดของกำลังการผลิต” แถลงการณ์ IEA ระบุ บริษัทเหล่านี้มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันในลิเบียกว่า 72% ของการผลิตน้ำมันในแต่ละวันทั้งหมดของลิเบีย ขณะที่สถานะของบ่อน้ำมันที่ดำเนินงานโดย National Oil Corp. ของลิเบียซึ่งรับผิดชอบการผลิตในอีก 28% ที่เหลือยังคง “ไม่ชัดเจน” IEA ระบุ
ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาด NYMEX ส่งมอบเดือนเมษายนดีดตัวสูงขึ้น 60 เซ็นต์ต่อบาร์เรลหรือ 0.6% ปิดที่ 97.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันซื้อขายล่าสุด ราคาน้ำมันดิบในสหรัฐฯพุ่งแตะระดับ 103.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งเป็นจุดสูงสุดในการซื้อขายระหว่างวันนับแต่วันที่ 29 กันยายน 2008 ที่ผ่านมา
ขณะที่น้ำมันดิบล่วงหน้าเบรนท์ทะเลเหนือซึ่งเป็นราคาอ้างอิงของยุโรป สัญญาส่งมอบเดือนเมษายนราคาเพิ่มขึ้น 78 เซ็นต์หรือ 0.7% มาอยู่ที่ 112.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลที่ตลาด ICE Futures ยุโรปในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นราคาปิดสูงที่สุดนับแต่ 29 สิงหาคม 2008 น้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นกว่า 9.4% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา Bloomberg
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday