โครงการสุขภาวะผู้หญิง มูลนิธิผู้หญิง ร่วมกับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน จัดเสวนาเนื่องในวันสตรีสากล เรื่อง “สื่อ” จะเสริมสุขภาวะผู้หญิงได้อย่างไร เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างคนทำงานสื่อ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และคนทำงานด้านผู้หญิง ที่สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เริ่มจาก ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม กล่าวว่า สุขภาวะ หมายถึงภาวะของการมีความสุข หรือการอยู่ดีใน 4 มิติคือ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ หรือมิติด้านปัญญา ที่ผ่านการได้รับโอกาส ความเสมอภาค การเข้าถึงทรัพยากร และบริการสาธารณะอย่างเป็นธรรม การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย บรรลุเป้าหมายของตัวเอง มีคุณค่า มีศักยภาพและพึงพอใจในชีวิต
สาเหตุที่ต้องสร้างสุขภาวะของผู้หญิงในสังคมไทย เนื่องจากสถานการณ์ช่องว่างการพัฒนาผู้หญิงก้าวไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้า เพราะอุปสรรคในวิธีคิด วิธีการให้ความหมายของผู้หญิงเป็นปัญหารากเหง้าที่ต้องตีให้แตกถึงการปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้มีประสิทธิภาพ แม้ความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายที่ลดช่องว่างระหว่างสังคม และการเพิ่มกฎหมายเพื่อปกป้องผู้หญิงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้มา
แต่การเปลี่ยนแปลงฐานคติของคนในสังคมเกี่ยวกับผู้หญิงยังอยู่ในวัยเตาะแตะ ไม่ใช่แค่ผู้ชาย ผู้หญิงก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น กฎหมายคำนำหน้านาม และกฎหมายที่เอาผิดสามีว่าด้วยการข่มขืนภรรยา แต่วิธีคิดของหญิงไทยกลับไม่หยิบมาใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ต่อสู้มา
ดร.สุชาดาสะท้อนวิธีคิดที่ตายตัวของสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของผู้หญิงหลายมิติว่า ทำให้เกิดความยากจน ไม่มีงานทำ เพราะได้รับการศึกษาน้อยหรือไม่ถึงขั้นที่จะหางานทำได้ง่าย วิธีคิดที่ตายตัวบางอย่างมีผลต่อความเจ็บป่วย พิการทางด้านร่างกายของผู้หญิง มีอำนาจต่อรองน้อยหรือแทบไม่มีอำนาจ ส่งผลให้ผู้หญิงไม่ตระหนักในพลังหรือศักยภาพของตัวเองในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
คนทำงานในเรื่องของผู้หญิงต้องทบทวน ไม่ผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจ หรือผลิตซ้ำการพึ่งพิงของผู้หญิงในภาพลักษณ์ที่ตายตัว ต้องทบทวนว่าการทำงานส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงจากรากเหง้าของปัญหาจริงๆ หรือในระดับฉาบฉวย ถ้าไม่ส่งผลต้องปรับกลยุทธ์และร่วมมือกันอย่างไร
“อยากให้คนทำงานทุกภาคส่วนมองตัวเอง อย่ามัวมองแต่โครงสร้าง ต้องไม่ลืมว่าเราก็เป็นผลผลิตทางโครงสร้างอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไม่ได้ผล ต้องเปลี่ยนที่ตัวเราก่อน มองลึกเข้าไปข้างในว่าเรากำลังใช้อำนาจเหนือใครในการทำงานหรือไม่ หรือสร้างความไม่เท่าเทียมหรือไม่กับเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว เพื่อนฝูง”
ด้านศิริพร สะโครบาเนค จากมูลนิธิผู้หญิง กล่าวถึงละครไทยที่ยังนำเสนอภาพผู้หญิงในลักษณะที่ต้องขึ้นอยู่กับผู้ชาย เทียบกับเรื่องป๊ะป๋ายะหยา ที่แสดงถึงความไม่จำนนต่อชีวิต และเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมผู้ผลิตสื่อในสิงคโปร์ทำได้ ทั้งที่ในบ้านเขามีการเฉลิมฉลองวันบุรุษสากล 19 พ.ย. ด้วยซ้ำ ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการเรียนเรื่องบุรุษศึกษากันแล้ว แต่สื่อของเรายังอยู่ในภาพพจน์แบบเดิมของผู้หญิง ถึงแม้เราจะบอกว่าต้องมีโอกาส และความเสมอภาค
การเสนอเรื่องความงาม คือความขาวและผอมผ่านโทรทัศน์ จากการวิจัยที่ประเทศแคนาดา บอกว่าการที่ผู้หญิงสวยในแบบฉบับปัจจุบันส่งผลให้ธุรกิจอาหารที่ทำให้ผอมหรือการลดน้ำหนัก ทำกำไรปีละ 4 แสนล้านดอนลาร์สหรัฐ
สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงเวียนว่ายตายเกิดว่าต้องขาว คนที่ไม่ขาวก็รู้สึกต่ำต้อย ภาพลักษณ์ที่ตายตัวเหล่านี้ทำให้จำกัดสิทธิเสรีภาพ ความขาวกลายเป็นเรื่องของชนชั้นว่าคนมีระดับต้องผิวขาว ไม่ดำ ที่น่าเสียใจคือผู้หญิงต้องต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้ รวมถึงหน้าตา จมูกต้องโด่งและต้องทำศัลยกรรม
ล่าสุดกรณีเจ้าสาวต้องไปทำให้ตัวขาว จะได้เป็นเจ้าสาวที่เจ้าบ่าวภูมิใจ สุดท้ายเธอต้องเสียชีวิต สื่อที่ส่งผลลบต่อผู้หญิงและสารเหล่านี้ออกมาตอกย้ำภาพลักษณ์ที่จะประสบความสำเร็จ ทำให้ผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่ในภาพลักษณ์แบบนี้ต้องทุกข์ทรมานและเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้
“ภาพลักษณ์ของผู้หญิงจนถึงปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ยังเป็นแมวยั่วสวาท คนไต่เต้าที่ชั่วร้าย นางมารร้ายสวมปราด้า ผู้หญิงอันตรายเป็นซูเปอร์วูแมน และมีโฆษณาบางอย่าง เช่น ผู้หญิงเป็นแม่บ้านที่สวยแล้วต้องทำกับข้าวอร่อย ต้องซักผ้าให้สะอาด ภาพพจน์ของผู้หญิงต้องวนเวียนกับสิ่งเหล่านี้”
ศิริพร กล่าวต่อว่า ผู้หญิงกับบทบาทของสื่อมวลชน บรรจุไว้เป็น 1 ใน 12 ประเด็นความก้าวหน้าของผู้หญิง ในแผนปฏิบัติการปักกิ่งที่ว่า จำนวนผู้หญิงทำงานสื่อแม้จะมีมาก แต่น่าเสียใจว่าไม่ได้อยู่ในระดับการตัดสินใจ ทำให้ไม่มีมิติหญิงชาย ต้องปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ในการเหยียดหยามผู้หญิง แต่ทุกวันนี้ยังเห็นอยู่ ต้องขจัดรายการที่มีความลำเอียงทางเพศ มีนโยบายชัดเจนในการนำเสนอประเด็นของผู้หญิง การเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
สื่อต้องทำงานร่วมกัน ต้องมีสื่อเฉพาะทาง เพื่อให้เกิดความละเอียดอ่อน สมดุล มีการฝึกอบรม องค์กรสตรีและสื่อควรจัดสานเสวนาเพื่อพัฒนาแนวทางจรรยาบรรณวิชาชีพ หรือมีกลไกที่เหมาะสมในการนำเสนอเกี่ยวกับผู้หญิง ต้องจัดตั้ง “วอตช์ด๊อก” เฝ้าระวังว่าสื่อมวลชนนำเสนอสิ่งที่ผู้หญิงต้องการหรือไม่ รวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรผู้หญิงและองค์กรสื่อมวลชน
สื่อมวลชนต้องนำเสนอข้อเท็จจริง ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย แต่สิ่งที่สื่อนำเสนอ วิธีการผลักภาพลักษณ์ของผู้หญิงให้ตกต่ำลงด้วย
“วอตช์ด๊อกและการจัดทำแนวปฏิบัติที่ให้กับสื่อในการนำเสนอภาพ แนวคิดต่างๆ เราอาจเริ่มนำมาใช้ให้สื่อมีบทบาทสร้างเสริมสุขภาวะของผู้หญิงไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงตกต่ำลงมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ผลิตซ้ำคติและภาพลักษณ์ตายตัว
การเสวนาวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยถึงการทำให้คนเสพสื่อมีบทบาท และคนที่ส่งสารมีมุมมองที่หลากหลาย ไม่ผลิตซ้ำ
“โดยเฉพาะความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก”
ที่มา:วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7046 ข่าวสดรายวัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1817 ครั้ง