จุฬาราชมนตรี ได้เน้นให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางการสร้างคน ที่มีคุณภาพและเป็นคนดีตามหลักการศาสนา ระบุ ระบบเรียนการเรียนปัจจุบันที่สร้างคนเก่ง แต่เลว
วันที่ 5 มีนาคม นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวในระหว่างเปิดป้ายมัสยิดนูรุ้ลอิบาดะห์ หนองบอน ประเวศ กรุงเทพฯ ว่า มัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ชาวชุมชนใช้ปฏิบัติศาสนกิจ และการให้การอบรมบุตรหลาน ในสมัยศาสดา ตอนที่ท่านอพยพจากมักกะห์ไปมาดีนะห์ สิ่งแรกที่ท่านทำคือการก่อสร้างมัสยิด ซึ่งนอกจากใช้เพื่อรวมคนละหมดแล้ว ยังเป็นสถานที่รับแขก สถานที่เผยแผ่ศาสนา ซึ่งแตกต่างจากเรา จะสร้างบ้านก่อนสร้างมัสยิด
“มัสยิดจะต้องสร้างคนให้เดินออกไปอย่างสง่างาม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เราไม่อาจพึ่งพาการศึกษาในระบบได้แล้ว เพราะการศึกษาในระบบเป็นการศึกษา เพื่อปัจเจกชน เป็นการศึกษาที่แยกส่วน และไม่ได้สอนเรื่องของศีลธรรมจรรยาเลย สอนให้คนเก่ง แต่ไม่มีคนดีเลย ประเทศเรามีคนเก่งมากมาย แต่เราหาคนดีแทบไม่ได้เลย สถาบันพระปกเกล้า ได้ทำวิจัย เรื่องความซื่อตรงปรากฏว่า ความซื่อตรงของคนติดลบ ดังนั้น มัสยิด จะต้องเป็นสถานที่สร้างคนให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดี” เขา กล่าว
มัสยิดหนองบอน ตั้งอยู่เลขที่ 43 ซอยอ่อนนุช 70 หนองบอน แขวงและเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างแทนมัสยิดหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม มาตั้งแต่ปี 2548 ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 17 ล้านบาท ด้วยเงินบริจาคของชาวบ้าน และเงินจากการจัดงานประจำปี ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี จึงแล้วเสร็จ ตัว เป็นอาคาร 2 ชั้น โครงสร้างคอนกรีต ปูพื้นด้วยไม้ ซึ่งรื้อมาจากมัสยิดหลังเดิม ชั้น 1 ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของมัสยิด ชั้น 2 เป็นสถานที่ละหมด และชั้นลอย เป็นสถานที่ละหมดของสตรี
สำหรับชุมชนหนองบอน เป็นชุมชนชาวไทยมุสลิม ที่อพยพมาจากไทรบุรี ลังกาวี เมื่อกว่า 100 ปี โดยมาจับจองที่ดินทำกินตามนโยบายของรัชกาลที่ 5 ก่อนจะเติบโตขยายเป็นชุมชนขนาดใหญ่และมีชาวบ้านจากหลายสถานที่เข้ามาอยู่อาศัย มีมัสยิดหนองบอนเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติศาสนกิจ มีโรงเรียนสอนศาสนาอยู่ในบริเวณมัสยิดเพื่อสั่งสอนบุตรหลานของชาวชุมชนและบริเวณใกล้เคียง