เครื่องบินรบและรถถังของรัฐบาลลิเบีย ยังถล่มที่มั่นฝ่ายต่อต้านอย่างหนัก ขณะที่มหาอำนาจเกี่ยงกันเป็นผู้นำบังคับใช้เขตห้ามบิน
กองกำลังที่ภักดีต่อพันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ได้ส่งรถถังและเครื่องบินรบ ถล่มที่มั่นของฝ่ายต่อต้านอย่างหนักหน่วง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ในขณะที่สหรัฐย้ำว่า การบังคับใช้เขตห้ามบินเพื่อขัดขวางปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของฝ่ายพันเอกกัดดาฟี จะต้องได้รับฉันทามติจากโลกด้วย ขณะที่ตัวเลขผู้บาดเจ็บล้มตายที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ วิกฤติการอพยพหนีภัยสงครามและความหิวโหย กำลังเพิ่มแรงกดดันให้กับบรรดารัฐบาลชาติมหาอำนาจให้เร่งดำเนินการ แต่หลายชาติก็ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนจากการลงโทษด้วยมาตรการคว่ำบาตร ไปใช้มาตรการทางทหารแต่เพียงลำพัง โดยนางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ สกาย นิวส์ ว่าการบังคับใช้เขตห้ามบิน ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาคมนานาชาติ สหประชาชาติควรเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องนี้ ไม่ใช่สหรัฐ
ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ของสหรัฐ นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ต่างก็เห็นชอบร่วมกันว่า ให้เร่งเดินหน้าแผนการที่วางไว้ รวมทั้งการให้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ใช้ปฏิบัติการตอบโต้สถานการณ์อย่างเต็มรูปแบบ เท่าที่จะทำได้ที่รวมทั้ง การสอดแนม , การบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม , การบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรด้านอาวุธ และกำหนดเขตห้ามบิน
แต่ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศส กำลังหาทางให้สหประชาชาติออกมติแก้ปัญหา เช่น การกำหนดเขตห้ามบิน เพื่อป้องกันไม่ให้พันเอกกัดดาฟีใช้กำลังทางอากาศถล่มพลเมืองของตนเองนั้น รัสเซียและจีน ซึ่งเป็นสองชาติที่มีอำนาจในการวีโตในคณะมนตรีความมั่นคง ยังคงไม่แสดงท่าทีใด ๆ ต่อแนวคิดนี้ ที่อาจนำไปสู่การถล่มระบบป้องกันทางอากาศของลิเบีย
ส่วนสถานการณ์ในลิเบีย มีรายงานว่า ในเมืองซาวิยาห์ ซึ่งตกอยู่ในมือของฝ่ายต่อต้าน และอยู่ใกล้กับกรุงทริโปลีที่สุดนั้น มีประชาชนจำนวนมากติดอยู่ท่ามกลางการโจมตีอย่างหนักของฝ่ายพันเอกกัดดาฟี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยมีการใช้ทั้งรถถังราว 40-50 คัน และเครื่องบินรบยิงถล่ม แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงใจกลางเมืองได้ อาคารจำนวนมากถูกทำลาย รวมทั้งมัสยิดแห่งหนึ่งด้วย
นายมุสตาฟา อับเดล จาลิล ประธานสภาแห่งชาติลิเบีย ที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ในเมืองเบนกาซี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เปิดเผยต่อสำนักข่าวอัล จาซีรา เมื่อวันอังคารว่า พันเอกกัดดาฟีจะไม่ถูกตามล่าสำหรับอาชญากรรมที่เขาก่อไว้ ถ้าเขายอมลาออก และไปจากลิเบียภายใน 72 ชั่วโมง รวมถึงยุติการโจมตีทั้งหมด
นายจาลิล กล่าวว่า จะไม่มีการขยายเส้นตายจากที่กำหนดไว้ 72 ชั่วโมงอย่างเด็ดขาด และข้อเสนอที่มีไปถึงพันเอกกัดดาฟี ผ่านคณะผู้แทนเจรจา เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไป โดยกำหนดเงื่อนไขข้อแรก คือ พันเอกกัดดาฟีจะต้องยุติการสู้รบในทุกสนามรบข้อที่สอง คือ เขาต้องออกจากลิเบียภายใน 72 ชั่วโมง และข้อที่สาม คือ ฝ่ายต่อต้านอาจจะสละสิทธิ์ในกาาดำเนินเขาในคดีอาชญากรรมต่าง ๆ ทั้งการกดขี่ข่มเหง , การเข่นฆ่าประชาชนปล่อยให้ประชนอดอยากและการสังหารหมู่ ซึ่งฝ่ายต่อต้านกำลังรอท่าทีจากฝ่ายรัฐบาล
ขณะเดียวกัน เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา พันเอกกัดดาฟี ซึ่งถูกห้อมล้อมด้วยเหล่าองครักษ์ ได้ไปปรากฎตัวที่โรงแรมในกรุงทริโปลี ที่มีการจัดสถานที่รับรองผู้สื่อข่าว เขายังคงชูกำปั้นขึ้นไปในอากาศ ขณะก้าวออกจากรถยนต์และเดินเข้าไปในโรงแรม ก่อนจะเข้าไปยังห้องที่มีฉากกั้น เพื่อให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ของตุรกีและฝรั่งเศส โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะออกมาโดยไม่พูดกับสื่ออื่น ๆ ที่รออยู่ด้านนอก ปล่อยให้นายอับเดลมาจิด อัล ดูร์ซี ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อต่างประเทศ ออกมาแถลงแทนว่า พันเอกกัดดาฟี่ กำลังอารมณ์ดีอย่างยิ่ง และต้องการ
อธิบายสถานการณ์ในลิเบีย
เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่สับสน หลังจากสถานีโทรทัศน์ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ได้ปฏิเสธข่าวที่ว่า ผู้นำลิเบียได้พยายามจะขอทำข้อตกลงกับฝ่ายต่อต้าน เพื่อหาทางก้าวลงจากอำนาจ เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกตั้งข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม และรับประกันความปลอดภัยของตัวเขาและครอบครัว และยังต้องการหลักประกันจากสหประชาชาติด้วยว่า จะไม่อายัดทรัพย์สินทั้งหมดของเขา แต่นายอับเดล ฮาฟิซ โกก้า โฆษกของสภาแห่งชาติลิเบีย กลับให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกับประธานสภาฯ โดยบอกว่า ไม่มีการเจรจาใด ๆ ทั้งสิ้น พวกเขาต้องการความเปลี่ยนแปลง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1131 ครั้ง