รูปภาพ : สำนักงาน ก.ล.ต.สหรัฐฯ
ที่มา : Bloomberg
บรรดาหน่วยงานกำกับดูแลระบบการเงินทั้งในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอังกฤษกำลังสอบสวนว่า มีการรวมหัวของธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งในการ “ชักใย” หรือ “ปั่น” (manipulate) อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงซึ่งใช้ในการคำนวณต้นทุนการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรมูลค่านับแสนล้านดอลลาร์
การสอบสวนครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มของธนาคารยักษ์ใหญ่ 16 แห่งซึ่งมีหน้าที่ช่วยสมาคมนายธนาคารแห่งอังกฤษ (British Bankers’ Association หรือ BBA) ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเสนอขายตลาดระหว่างธนาคารหรือ Libor (London interbank offered rate) ซึ่งเป็นต้นทุนโดยประมาณของการกู้ยืมระหว่างกันของธนาคาร
การสอบสวนครั้งนี้จำเพาะเจาะจงไปที่อัตราดอกเบี้ย Libor ที่กำหนดขึ้นเพื่อการกู้ยืมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯระหว่างปี 2006-2008 ซึ่งเป็นช่วงก่อนและระหว่างเกิดวิกฤตการเงิน แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการสอบสวนกล่าวกับไฟแนนเชียลไทม์
การสอบสวนเป็นข่าวขึ้นเมื่อวานนี้ (อังคารที่ 15 มีนาคม 2011) เมื่อธนาคารยูบีเอสของสวิตเซอร์แลนด์ได้เปิดเผยในรายงานประจำปีของธนาคารว่า ทางธนาคารได้รับหมายเรียกจากหน่วยงานของทางการสหรัฐฯ 3 หน่วยงานและคำร้องขอข้อมูลจากสำนักงานกำกับดูแลภาคการเงินหรือ FSA (Financial Supervisory Agency) ของญี่ปุ่น
ยูบีเอสกล่าวว่า บรรดาหน่วยงานที่กำกับดูแลกำลังพุ่งประเด็นไปที่ “มีความพยายามที่ไม่เหมาะสมโดยยูบีเอสในการชักใยอัตราดอกเบี้ย Libor ในบางช่วงเวลาหรือไม่ ทั้งการกระทำโดยตัวยูบีเอสเองหรือทำร่วมกับผู้อื่น”
เชื่อกันว่าบรรดาธนาคารสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย Libor ได้รับคำร้องขอที่ไม่เป็นทางการต่อข้อมูลอย่างน้อยหนึ่งคำร้องขอ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนเริ่มต้นในกระบวนการสอบสวนก่อนไปถึงขั้นของการออกหมายเรียก
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการสอบสวนยังบอกกับทางไฟแนนเชียลไทม์อีกว่า พยานจำนวนมากถูกเรียกสัมภาษณ์โดยเจ้าหน้าที่สอบสวนจากหน่วยงานกำกับดูแลและรัฐบาลต่างๆไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐฯ (US Securities and Exchange Commission หรือ US SEC), กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินหรือ FSA (Financial Services Authority) ของอังกฤษ
การสอบสวนได้ดำเนินการมาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว โดยมีอย่างน้อยหนึ่งธนาคารได้รับการร้องขอเบื้องต้นต่อข้อมูลในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แหล่งข่าวระบุ
BBA มีหน้าที่ผลิตอัตราดอกเบี้ย Libor สำหรับการกู้ยืมเงิน 10 สกุลโดยใช้อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคาร 8-20 แห่ง ธนาคารที่ส่งอัตราดอกเบี้ยจะต้องตั้งดอกเบี้ยในระดับที่พวกเขาคิดว่าสามารถยืมได้ในตลาดเปิด อัตราดอกเบี้ยที่เสนอเข้ามาหากมีการเบี่ยงเบนเกินไปจะถูกตัดออกและอัตราที่ประกาศจะเป็นค่ากลางของอัตราดอกเบี้ยที่แต่ละธนาคารส่งเข้ามา
บรรดาผู้ที่ตำหนิกระบวนการกำหนด Libor ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ทางการเงินมูลค่ากว่า 350 ล้านล้านดอลลาร์หรือมากกว่า 10,600 ล้านล้านบาท ได้วิจารณ์มานานแล้วว่า ระบบนี้ล้าสมัยและขาดความโปร่งใส บรรดานักวิจารณ์ทางการเงินยังตำหนิในช่วงวิกฤตการเงินด้วยว่า บรรดาอัตราดอกเบี้ย Libor ถูกบิดเบือนเพราะพวกเขาเชื่อว่า ธนาคารที่มีฐานะอ่อนแอย่อมไม่ต้องการยอมรับต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้น
ยูบีเอสปฏิเสธที่จะตอบวิจารณ์มากไปกว่าที่เปิดเผยในรายงานประจำปี หน่วยงานกำกับดูแลต่างๆก็ปฏิเสธที่จะออกมาพูดเรื่องนี้ด้วย ธนาคารต่างๆที่อยู่ในกลุ่มที่กำหนดดอกเบี้ย Libor ในช่วงเวลาที่การสอบสวนครอบคลุมไปถึงก็ปฏิเสธที่จะออกมาพูดเรื่องนี้หรือโฆษกของธนาคารไม่สามารถติดต่อได้
ธนาคารที่เข้าข่ายเหล่านั้นได้แก่ : แบงก์ออฟอเมริกา, บาร์เคลย์ส, ซิตี้กรุ๊ป, เครดิตสวิส, ดอยช์แบงก์, เอชเอสบีซี, เจพีมอร์แกน เชส, ลอยด์ส, ราโบแบงก์, รอยัลแบงก์ออฟแคนาดา, แบงก์ออฟโตเกียวมิตซูบิชิ, ธนาคารโนรินชูกิน, รอยัลแบงก์ออฟสก็อตแลนด์ และ ธนาคารเวสต์แอลบี
เอชบีโอเอสซึ่งควบรวมกิจการกับลอยด์สก็เป็นสมาชิกในกลุ่มนี้ด้วย
BBA เคยกล่าวไว้ว่า “เรามีพันธะในการรักษาชื่อเสียงและความซื่อตรงของ Libor ที่กำหนดโดย BBA ซึ่งจะยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่น่าเชื่อถือสำหรับตลาดเงินระหว่างสถาบัน”
“Libor มีวิธีการคำนวณที่ตรงไปตรงมาและชัดเจนซึ่งไม่รวมอัตราดอกเบี้ยใดก็ตามที่มีการเบี่ยงเบนอย่างมีนัยสำคัญ Libor มีความโปร่งใสอย่างสมบูรณ์ ข้อมูลทั้งหมดซึ่งบรรดาธนาคารสมาชิกส่งเข้ามามีการเปิดเผยต่อสาธารณะเช่นเดียวกับวิธีวิทยาของเราที่ใช้ในการคำนวณ”
ที่มา Financial Times
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday