เทปโคพบร่องรอบคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมาหมายเลข1 มีความสูง 14 เมตร ขณะที่โรงไฟฟ้าหมายเลข 2 เจอแผ่นดินไหวจนปั้นจั่นหักโค่น
วันที่ 22 มีนาคม นาโอกิ ซึโนดะ โฆษก บริษัทโตเกียว อิเล็กทริกพาวเวอร์ (เทปโค) กล่าวว่า จากการตรวจสอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิชิ (หมายเลข1) ในจังหวัดฟูกุชิมะ ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามินั้น พบว่าร่องรอยคลื่นที่ซัดผ่านลานจอดรถโรงไฟฟ้ามีความสูงถึง 14 เมตร
ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา หมายเลข 2 ที่อยู่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตรถูกคลื่นสึนามิพัดเข้าใส่เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก
ด้านคนงานก่อสร้าง ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะหมายเลข 2 กล่าวกับสำนักข่าวเอ็นเอชเคว่า ได้อพยพขึ้นเนินเขาทันทีหลังแผ่นดินไหวรุนแรง จนทำให้ทำนบกั้นน้ำสั่นไหวอย่างแรงและแขนของรถปั้นจั่นคันหนึ่งหักโค่นลงมา
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งได้รับการออกแบบมาให้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ในระดับไม่เกิน 8.0 ริกเตอร์ โดยโรงไฟฟ้าหมายเลข1จะสามารถรองรับคลื่นสึนามิที่สูง ไม่เกิน 5.7 เมตร ขณะที่โรงไฟฟ้าหมายเลข 2 รองรับคลื่นที่ความสูงไม่เกิน 5.2 เมตร
อย่างไรก็ตามคลื่นสึนามิเป็นคลื่นที่มีระลอกคลื่นยาว และจะยกตัวเพิ่มระดับความสูงอย่างรวดเร็วเมื่อกระทบเข้ากับชายฝั่ง
ด้านนายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ว่า ที่ประชุมได้ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจากภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในภาพรวมระยะสั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามแหล่งเงินทุนที่ญี่ปุ่นจะนำมาใช้พื้นฟูประเทศอย่างใกล้ชิด หากใช้เงินจากภายนอกมาฟื้นฟูอาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนจากต่างประเทศที่ลงทุนในไทยได้
ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในระยะสั้นมั่นใจว่าเอกชนไทยจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก ยกเว้นเรื่องการท่องเที่ยวที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์เบื้องต้นได้ลดการทำงานล่วงเวลาลดลง ทำให้การผลิตลดลงไปประมาณ 5,000 คันต่อวัน ขณะที่เรื่องชิ้นส่วนกลับได้รับอานิสงส์ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประเมินว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในระยะสั้น โดยโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอาจจะเลื่อนลงทุนออกไป แต่คาดว่าจะไม่รุนแรงมากนัก และเหตุการณ์นี้จะเป็นแรงกระตุ้นทำให้นักลงทุนตัดสินใจโยกย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติในประเทศ คาดว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะมาลงทุนในประเทศไทยเพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย
ด้าน นายมูเนโนริ ยามาดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้จะไม่กระทบต่อทิศทางการขยายธุรกิจและการลงทุนต่างประเทศของบริษัทในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการขนส่งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากญี่ปุ่นมีความล่าช้านั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะกระทบอย่างไรบ้าง
สำหรับการจัดงาน “Invest Japan Symposium : เชิญร่วมค้นหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในญี่ปุ่น-ประตูสู่การค้าโลก” เพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตามกำหนดเดิม รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น (เมติ) ต้องเดินทางมาร่วมงานด้วย แต่เนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉินในญี่ปุ่น ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมงานครั้งนี้ได้
นายยาสุโอะ ฮายาชิ ประธานและซีอีโอเจโทร กล่าวว่า ระยะสั้นอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอาจจะชะลอตัวลง เนื่องจากปัญหาด้านพลังงาน แต่ในระยะยาวเชื่อว่า การค้า การลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เพื่อส่งออกไปยังประเทศในเอเชียและประเทศอื่นๆ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1263 ครั้ง