จุฬาราชมนตรีลงพื้นที่ยะลาพบปะผู้นำศาสนา พร้อมระบุจะส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความไม่สงบ และเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์ ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันที่ 22 มี.ค.เวลา 10.30 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา หมู่ที่ 1 บ้านท่าสาป ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมคณะ เดินทางไปพบปะเยี่ยมเยียนการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับบรรดาผู้นำศาสนา โต๊ะครู โต๊ะอีหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ในพื้นที่ จ.ยะลา โดยมี นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา (ฝ่ายความมั่นคง) นายอับดุลเลาะแม เจ๊ะแซ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา และคณะร่วมให้การต้อนรับ
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เปิดเผยว่า ในการลงพื้นที่ยะลาครั้งนี้ เพื่อพบปะกับผู้นำศาสนาในระดับของอูลามะ (ผู้รู้ในศาสนาอิสลาม) หรือโต๊ะครูตามสถาบันปอเนาะต่างๆ รวมทั้งพบกับคณะกรรมการอิสลาม และอิหม่ามมัสยิด เพื่อทำความรู้จักกัน ซึ่งในครั้งที่ผ่านมาที่ตนเองลงมาในพื้นที่ยังไม่ได้พบปะพูดคุยกันอย่างลึกซึ้งเท่าที่ควร ซึ่งในวันนี้จะมีการพูดคุย ในประเด็นหลักๆ คือ การพูดคุยกับผู้นำศาสนาในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหา และข้อขัดข้องในด้านต่างๆ การดูแลบุตรหลานในเรื่องของการศึกษาที่มีความจำเป็นและต้องการให้เด็กมุสลิมได้เข้าถึงการศึกษามากขึ้น
เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตในอนาคต รวมทั้งการระมัดระวังเรื่องของยาเสพติด ที่กำลังคุกคามความเป็นอยู่ และการเข้าไปยุ้งเกี่ยวกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งตนเองหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย ในส่วนของสำนักงานจุฬาราชมนตรีนั้น พร้อมที่จะมีการสนับสนุน และพร้อมที่จะส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นเยาวชนที่ดี มีอนาคตที่สดใสต่อไป
และเรื่องที่จะต้องทำการพูดคุยเป็นการเร่งด่วนคือ ในเรื่องเกี่ยวกับการประกอบพิธีฮัจญ์ ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับโควตาผู้ที่จะไปประกอบพิธีฮัจย์นั้น ก็เป็นอย่างปกติเหมือนทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งตนเองพยายามที่จะขอเพิ่มโควตา ผู้ที่จะไปประกอบพิธีฮัจย์ ให้ได้มากขึ้น เพราะว่าในปีนี้เศรษฐกิจในประเทศไทยดีขึ้น ยางพารามีราคาสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา ผู้ที่มีความประสงค์จะไปประกอบพิธีฮัจย์ ก็มีจำนวนมากขึ้น
ปัญหาที่พบในตอนนี้ คือ ปัญหาระหว่างฝ่ายราชการ คือ กรมการศาสนา กับผู้ประกอบการฮัจย์ ที่ยังว่ากันไม่ลงตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็มีการประชุม จะมีการประท้วงไม่ยอมเข้าระบบ ตนเองก็ได้ขอร้องจากผู้ประกอบการแล้วว่า ในระยะต้นก็ขอให้เป็นไปตามระบบไปก่อน ซึ่งในส่วนที่ยังไปสร้างความลำบากต่อผู้ประกอบการฮัจญ์นั้น จะมีการเจรจากันอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้ ตนเองก็รับอาสาที่จะเป็นสื่อกลางในการเจรจากับทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้สามารถทำงานต่อไปอย่างราบรื่น
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1414 ครั้ง