ดีเอสไอเดินหน้าออกหมายจับก่อการร้ายล็อต 4 เผยผู้ต้องหากลุ่มใหญ่พ่วงคดีวางเพลิงปล้นทรัพย์ ขณะที่ป.ป.ง.พบยอดเงินถึง 150,000 ล้านบาท มีการเคลื่อนไหวที่ส่ออาจสนับสนุนให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เตรียมส่งรายชื่อบุคคลทำธุรกรรมการเงินต้องสงสัย 80 ราย ยอดเงินราว 10,000 ล้านบาท ระบุมีคนดัง ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ เบิกเงินจากตู้เอทีเอ็มข้างถนนทุกวัน แถมช่วงชุมนุมไปปิดยอดผ่อนรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ วันนี้ 14 มิ.ย.ที่กระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมแถลงถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม ตามนโยบายรัฐบาลในการดำเนินคดีกรณีการชุมนุมที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ
นายธาริตกล่าวว่า ปัจจุบันมีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ 153 สำนวน แยกเป็นคดีก่อการร้าย 73 สำนวน ขู่บังคับรัฐบาล 18 สำนวน คดีทำร้ายร่างกายประชาชน 50 สำนวน คดีเกี่ยวกับอาวุธยุทธภัณฑ์ 12 สำนวน ซึ่งยังไม่รวมกับคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ในจังหวัดต่างๆ ที่มีแนวโน้มอีก 7 จังหวัด สำหรับการขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ล็อตที่ 4 ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างมาก เพราะได้นำเอาคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด มาเป็นส่วนหนึ่งของการก่อการร้าย ขณะนี้กำลังเร่งหารือกับพนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบหลักฐานที่จะใช้ยื่นขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญา ในส่วนของผู้ต้องหาหลักในคดีก่อการร้ายขณะนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับแล้ว 53 คน
ด้านพญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ลงพื้นที่เก็บหลักฐานจากที่เกิดเหตุจากการใช้อาวุธทั้งเอ็ม 79 คาร์บอมบ์ หรือการใช้อาวุธสงครามชนิดต่างๆ เพื่อนำมาตรวจพิสูจน์รวม 59 คดี จำนวน 73 ครั้ง โดยได้ส่งหลักฐานให้ทางพนักงานสอบสวนไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด สำหรับกรณี 6 ศพในวัดปทุมวนารามฯ ถูกโอนเป็นคดีพิเศษแล้ว ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า 6 ศพได้ถูกเคลื่อนออกจากจุดที่เกิดเหตุ ส่วนข้อมูลที่ระบุจุดเกิดเหตุว่าอยู่ที่ใดนั้นเรามีพยานบุคคลประมาณ 4-5 คน
พบเงิน1.5แสนล้านเคลื่อวไหว
ขณะที่ พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวถึงการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของแกนนำและผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่า ปปง.ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรม พบว่า มีความเคลื่อนไหวทางการเงินเป็นจำนวน 150,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการกระทำความผิดทางอาญากรณีการก่อการร้าย รวมถึงความผิดที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน ซึ่งปปง.ได้วิเคราะห์การธุรกรรมเสร็จแล้ว พบว่า มีบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการเงินผิดปกติ ไม่ต่ำกว่า 80 ราย ซึ่งจะเสนอให้คงคำสั่งระงับการทำธุรกรรมการเงินวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท
หลังจากนี้ ปปง. จะได้ส่งผลรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมดังกล่าวให้ดีเอสไอเพื่อใช้เป็นข้อมูลดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และจะเสนอให้ศอฉ.เพิกถอนคำสั่งระงับการทำธุรกรรมการเงินของบุคคลที่ตรวจสอบไม่พบความผิดปกติ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่การเพิ่มรายชื่อที่จะต้องระงับเพิ่มแต่อย่างใด ส่วนรายละเอียดนั้นยังไม่ขอเปิดเผย แต่บอกได้เพียงว่าประชาชนรู้จักกันอย่างดี
“ปปง.จะเสนอให้ศอฉ.ออกหมายเรียกบุคคลทั้ง 80 รายชื่อ ซึ่งพบว่าทำธุรกรรมการเงินต้องสงสัยเข้าให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อชี้แจงรายการธุรกรรมการเงินต่างๆ โดยผู้ที่มีรายชื่อเป็นคนดังที่สังคมรู้จักดี แต่มีการทำธุรกรรมการเงินผิดปกติ ซึ่งคนระดับนี้เรามักไม่เห็นเขาเดินข้างถนน เพราะมีลูกน้องห้อมล้อมเป็นจำนวนมาก แต่จู่ๆเขาก็เดินไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มข้างถนนทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่าแสนบาท หรือบางรายในช่วงการชุมนุมก็นำเงินไปปิดยอดผ่อนรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้ต้องชี้แจงถึงที่มาของเงิน”พ.ต.อ.สีหนาทกล่าว
ด้านนายชาติชาย กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวผู้ต้องขังเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบตามหมายขังของศาล ประมาณ 440 คน ในข้อหากระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือความผิดที่เกี่ยวเนื่อง เช่น วางเพลิง ลักทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และถูกนำตัวมาควบคุมไว้ในเรือนจำ 16 แห่ง
วันเดียวกัน ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 14.00 น. นายวรพล พรหมิกบุตร อายุ 53 ปี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องสงสัยตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ 19/2553 ลงวันที่ 8 เม.ย.53 พร้อมด้วย นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. เดินทางเข้ามอบตัวกับ พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รักษาการ ผบก.ป. และ พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ สุขวัฒน์ธนกุล ผกก.5 บก.ป. โดยนายวรพลกล่าวว่า หลังจากที่ถูกศาลออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตนได้ประสานผ่านทนายความติดต่อขอเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน บก.ป.มาก่อนหน้านี้กว่า 1 สัปดาห์แล้ว แต่ตนติดปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะคออักเสบมากจึงเลื่อนนัดมาเป็นวันเดียวกันนี้ ซึ่งที่ผ่านมาตนอยู่ที่บ้านพักกับภรรยา ไม่ได้หนีไปไหน
หลังการสอบปากคำพนักงานสอบสวนจะนำตัวนายวรพลไปควบคุมตัวไว้ที่ บก.ตชด.ภาค 1 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ต่อไป
ด้าน นายคารมกล่าวถึงแกนนำคนเสื้อแดงที่ถูกคุมตัวอยู่ที่ค่ายนเรศวรว่า ทราบว่าพนักงานสอบสวน บก.ป.จะนำตัวแกนนำ นปช.ประมาณ 10-13 คนที่ถูกควบคุมตัวที่ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และที่ บก.ตชด.ภาค 1 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ไปยังศาลอาญาเพื่อขอถอนหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ แต่หลังจากถอนหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะขออำนาจศาลควบคุมตัวต่อในคดีก่อการร้ายทันที อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องทางรัฐบาลว่าถ้าจะปรองดอง เหตุใดจึงไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนการยื่นคำร้องฝากขัง 11 แกนนำ นปช.นั้น ได้เตรียมยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำทั้งหมด พร้อมทั้งยื่นคัดค้านฝากขังดังกล่าว โดยเตรียมหลักทรัพย์คนละ 1 ล้านบาท ไว้ยื่นขอประกันตัว ส่วนนายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพี่อไทยนั้น หากพร้อม ก็อาจจะเดินทางมาศาลด้วยเช่นกัน
สำหรับขั้นตอนการดำเนินคดีกับแกนนำ นปช.ในวันที่15 มิ.ย.เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวแกนนำ นปช. ที่ถูกควบคุมตัวตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถูกแจ้งข้อหาก่อการร้าย เช่น นายวีระ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายขวัญชัย ไพรพนา นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก นายอำนาจ อินทโชติ และนายพิเชษฐ์ หรือภูมิกิตติ สุขจินดาทอง มือขวา พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง มายังศาลอาญา โดยทางพนักงานสอบสวน บก.ป.จะยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอถอนหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากนั้นพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอควบคุมตัวทั้งหมดในคดีก่อการร้ายทันที ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดคาดว่าจะเป็นไปในรูปแบบเดียวกับที่ดำเนินการกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายการุณ โหสกุล
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า ตำรวจจับสึกพระที่ร่วมชุมนุมกับเสื้อแดงนั้น พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. กล่าวว่า ที่เจ้าคณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่นระบุว่า ตนเป็นผู้จับพระทั้ง 4 รูปสึกแล้วส่งเข้าห้องขังนั้น เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำผู้ต้องหาทั้ง 4คนส่งฟ้องศาลหมดแล้ว สำหรับเรื่องการจับสึกผู้ต้องหา ตนมีพยานอยู่ในเหตุการณ์ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งได้เชิญเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ของจังหวัดมาเป็นพยานแล้วทำการสึกดังกล่าว
“การที่เจ้าคณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่นออกมากล่าวหาว่า ผมบังคับให้สึกนั้น ยืนยันว่าไม่มีการบังคับแต่อย่างใด พระทั้ง 4 รูปนั้นมีข้อหาชัดเจนในการกระทำผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่แล้ว ตนขอยืนยันว่าการจับพระสึกนั้นไม่มีการบังคับ อีกทั้งผู้ต้องหาก็รับสารภาพด้วย”พล.ต.ต.อำนวย กล่าว
สำหรับพระรูปดังกล่าวคือ พระศรีอริยวิโส จากธรรมสถานสวนศรีอาริยธรรม ตำบลวังเพิ่ม อำเภอสีชมพู จังหวัดขอน แก่น หนึ่งในพระ 4 รูปที่ถูกทหารจับกุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. โดยพระศรีอริยวิโส ได้ไปปรากฏตัวเมื่อวันที่ 13 มิ.ย ในงานบรรยายธรรมในหัวข้อเรื่อง “บทบาทพระไทยในยุคโลกาภิวัตน์” ซึ่งจัดขึ้นที่วัดราชาธิวาส โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าร่วมงานกว่า 500 คน
สำหรับชื่อ”พระศรีอริยวิโส”นั้น มีชื่อคล้ายชื่อของพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ซึ่งพระราชาคณะที่มีชื่อขึ้นต้นด้วย”พระศรี”นั้น ส่วนใหญ่ มักเป็นพระที่จบเปรียญธรรม 9 ประโยค และได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่”พระศรี..” ส่วนพระศรีอริยวิโสนั้น เดิมอาจจะชื่อนายศรี แล้วมาบวชพระจนได้ฉายาอริยวิโสนั้น ก็ไม่ปรากฏชัด แต่หากชื่อนายศรี และได้ฉายาดังกล่าวจริง ก็ต้องเขียนเว้นวรรคเป็น พระศรี อริยวิโส แต่คำว่าวิโส ซึ่งภาษาบาลีแปลว่า”ยาพิษ” นั้น คงไม่มีพระอุปัชฌาย์รูปไหนตั้งฉายาให้กับผู้บวชเช่นนั้น แต่อาจจะเป็นฉายา อริยวังโส (อริยวํโส)ซึ่งแปลว่า วงศ์ของผู้ประเสริฐ มากกว่า ดังนั้น หากพระรูปดังกล่าว เจตนาใช้ชื่อ”พระศรีอริยวิโส” หรือ”พระศรีอริยวังโส”แล้ว คงไม่สามารถตีความเป็นเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากตั้งใจเลียนแบบชื่อพระราชาคณะนั่นเอง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1210 ครั้ง