วันที่ 28 มีนาคม หลังจากที่มีรายงานว่าจระเข้ภายในสวนสัตว์เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่ตั้งอยู่ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) ได้หลุดออกมาจากกรงชั้นในและติดอยู่ในกรงชั้นนอกโดยเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ได้พยายามเร่งติดตามกลับคืนเนื่องจากเกรงว่าสัตว์อื่นๆและชาวบ้านในย่านใกล้เคียงจะได้รับอันตราย ซึ่งจระเข้จำนวน 8 ตัวได้หลุดออกมาอยู่ภายนอกแล้วโดยชาวบ้านได้แจ้งการพบเห็นหลายจุดด้วยกันเช่นหลังสนามบิน ทภ.4 ค่ายวชิราวุธ ซึ่งอยู่ใกล้กับสวนสัตว์เทศบาลนครนครศรีธรรมราช บริเวณหลังโรงเรียนบ้านชะเอียน ต.ปากพูน อ.เมือง และบริเวณชุมชนมะขามชุม ต.ในเมือง ซึ่งนายสัตวแพทย์ นพราชย์ อินทร์ทองคำ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ปืนลูกดอกออกติดตามไล่ล่าอย่างเร่งด่วนท่ามกลางความขวัญผวาของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง
เวลา 22.00 น.ชาวบ้านจำนวนนับสิบคนที่อาศัยอยู่บริเวณข้างรันเวย์สนามบินค่ายวชิราวุธกองทัพภาคที่ 4 ได้แจ้งว่ามีจระเข้ ซึ่งคาดว่าหลุดมาจากสวนสัตว์เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จำนวน 5 ตัวบุกเข้าไปกินแพะที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้และพาหลบหนีน้ำไปอยู่บนสนามหญ้าข้างรันเวย์สนามบินหายไป 2 ตัวและได้หลบอยู่ในบึงน้ำในบริเวณใกล้เคียง
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่มูลนิธิประชาร่วมใจ พร้อมด้วยอุปกรณ์ส่องแสงสว่างเข้าให้การช่วยเหลือตรวจสอบ โดยพบว่าจระเข้จำนวนหนึ่งกบดานอยู่ในบึงดังกล่าวอย่างชัดเจน ชาวบ้านจึงประสานกับเจ้าหน้าที่เทศบาลเพื่อเข้าทำการจับกลับไปยังสวนสัตว์แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้ารที่เทศบาลแจ้งว่าสามารถจับตายได้ทันที เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตรายกับคน ต่อมาชาวบ้านจึงประสานกับสารวัตรทหารเข้าทำการช่วยเหลือโดยการใช้อาวุธปืน เนื่องจากเกรงว่าจระเข้จะย้อนมากินสัตว์เลี้ยงและเป็นอันตรายกับเด็กเล็กที่อพยพหนีน้ำท่วมมาอยู่ริมขอบรันเวย์สนามบิน
ระหว่างนั้น ได้มีนายทหารระดับสูงนายหนึ่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลบริเวณดังกล่าวเข้ามายุติการให้การช่วยเหลือ โดยสั่งการว่าห้ามจับตายจระเข้โดยเด็ดขาดให้มีการจับเป็นเท่านั้น ท่ามกลางความตกตะลึงของชาวบ้าน โดยชาวบ้านได้ย้อนถามว่าจะรอให้จระเข้มากินเด็กก่อนหรือ นายทหารรายดังกล่าวตอบว่าให้ชาวบ้านอพยพหนีจระเข้ไปอยู่ที่อื่น ก่อนที่เจ้าหน้าที่สารวัตรทหารในระดับประทวนจำต้องถอนกำลังออกไป ท่ามกลางเสียงก่นด่าของชาวบ้านที่รอการช่วยเหลือเนื่องจากจระเข้ดังกล่าวอันตรายมากและยังป้วนเปียนอยู่ในรัศมีที่ชาวบ้านอพยพไม่ถึง 200 เมตรเท่านั้น ทำให้จระเข้จำนวนดังกล่าวกบดานอยู่ในบึงต่อไปส่วนชาวบ้านต่างหวาดผวาไม่กล้านอน
วันที่ 28 มีนาคม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รอนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ยอมรับ สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้หนักมาก พร้อมกล่าวว่า นายอภิสิทธฺ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่ง รัฐมนตรี ส.ส. ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยภิบัติ ส่วนชาวบ้านขวัญกำลังใจดี พร้อมหนุนแนวคิดของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เสนอปัญหาภัยพิบัติเป็น”วาระแห่งชาติ” เชื่อว่านายสาทิตย์ ต้องการให้เแก้ไขเป็นระบบ และดูุแลได้ทันเหตุการณ์
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการกำกับ ติดตาม การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงการช่วยเหลือพื้นที่ในภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย ว่า ตนได้ลงพื้นที่ 5 จังหวัดในภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วม ตั้งแต่ จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง และพัทลุง ซึ่งตอนนี้มีรายงานอย่างเป็นทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิตที่ จ.นครศรีธรรมราช 5 คน ซึ่งต้องติดตามดูกันต่อไป ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือรายงานสภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดการณ์ว่าปัญหาดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 30 มี.ค.นี้ และหย่อมความกดอากาศจะเคลื่อนตัวจากฝั่งอ่าวไทยไปฝั่งทะเลอันดามัน ดังนั้น คชอ.ขอให้จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันที่เหลือ คือ จ.กระบี่ พังงา และภูเก็ต ต้องเตรียมรับสถานการณ์ด้วย ซึ่งเขามีแผนเฝ้าระวังอยู่แล้ว และจุดที่เราให้ความสำคัญมากคือพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม ซึ่งทุกจุดในตอนนี้ได้มีการอพยพประชาชนออกทั้งหมด โดยเราขอให้ทุกจังหวัดเคลื่อนย้ายประชาชนออกมายังจุดที่ปลอดภัย ส่วนผู้ที่เคลื่อนย้ายสิ่งของไปยังที่สูงนั้น เราขอให้รอจนกว่าสถานการณ์จบ จึงจะย้ายสิ่งของกลับเข้าไปตามเดิม
สำหรับปัญหาใหญ่ที่ จ.นครศรีธรรมราช คือ สนามบินยังถูกปิดอยู่ ซึ่งตนจะเสนอในที่ประชุมครม.วันนี้( 28 มี.ค.) คือ 1.ขอให้กระทรวงคมนาคมจัดส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดูว่าจะสามารถระบายน้ำออกจากสนามบินโดยเร็วที่สสุดได้เมื่อใด รวมถึงต้องดูโครงสร้างรันเวย์ว่าจะใช้การได้เมื่อใด และต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก 2.ผลกระทบต่อโรงพยาบาลท่าศาลาที่ต้องมีการอพยพผู้ป่วยออกไปเกือบทั้งหมด ซึ่งต้องไปดูว่าจะดูแลและป้องกันปัญหาเช่นนี้อีก 3.การดูแลถนนสายต่างๆ ส่วนการดูแลที่มีปัญหาเรื่องของเครื่องมือก็ดีขึ้น หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งการและลงไปดูแล แต่ยังมีปัญหาอย่างหนึ่งคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบประมาณไปแล้วจำนวนมากจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลจึงให้การสนับสนุนงบประมาณผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเรามีงบทดรองราชการ จำนวน 50 ล้านบาทอยู่แล้ว ซึ่งสามารถขอขยายวงเงินได้โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้เสนอเข้ามาถ้ามีงบประมาณไม่พอ แต่ตอนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดเหล่านี้บอกว่ายังมีงบประมาณเพียงพอ
เมื่อถามว่าการดำเนินการของทางจังหวัดในขณะนี้ถือว่าเป็นแน่ที่น่าพอใจหรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ยังต้องช่วยประสานงานอยู่ ซึ่งตนได้กำชับทางจังหวัดว่าต้องประสานงานกับภาคเอกชนที่มีเครื่องมือต่างๆ ให้เข้ามาช่วยอย่างมาก แต่เท่าที่ตนดู เห็นว่าทางจังหวัดยังสามารถรับมือได้อยู่ด้วยการสนับสนุนของหน่วยงานและรัฐบาลที่มีอุปกรณ์ซึ่งเราใช้งบกลาง 300 กว่าล้านบาทที่จัดสรรให้เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งที่แล้ว ส่วนถุงยังชีพนั้นทางจังหวัดกำลังจัดอยู่ ซึ่งตนบอกว่าถ้ามีไม่พอ ก็มีกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ของสำนักนายกรัฐมนตรีที่พร้อมจะจัด ซึ่งตอนนี้เราได้เตรียมไว้แล้วจำนวนหนึ่งและพร้อมที่จะส่งไปช่วยเหลือ ขณะที่การจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ประสบภัยนี้ เราต้องมีการประเมินก่อนว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะยาวนานแค่ไหน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1720 ครั้ง