นายกรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่สุราษฎร์-นครศรีฯ พรุ่งนี้ ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย ด้านกรมป้องกัน ฯ เตือน 5 จังหวัดใต้ระวังอันตรายดินโคลนถล่ม-น้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ แนะประชาชนหมั่นติดตามประกาศแจ้งเตือนภัย พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังใกล้ชิด
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปภ.ได้ประกาศเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ตามที่ลาดเชิงเขา ทางน้ำไหลผ่าน และที่ลุ่มริมแม่น้ำใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี , นครศรีธรรมราช , พัทลุง , ตรัง และพังงา ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักสะสมอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวันในระยะนี้ ทั้งนี้ อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินบนภูเขาที่ชุ่มน้ำอยู่แล้วถล่มลงมา จึงขอให้ประชาชนหมั่นติดตามประกาศแจ้งเตือนภัย หากฝนตกหนักเกิน 200 มิลลิเมตร และสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ในทันที
อย่างไรก็ตาม ได้ประสานให้ ปภ.จังหวัด ในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับมิสเตอร์เตือนภัยเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยในระยะนี้เป็นพิเศษ โดยหมั่นตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุผิดปกติให้รีบแจ้งเตือนชาวบ้าน อพยพหนีภัยตามแผนที่กำหนดไว้โดยเร็ว
นอกจากนี้ สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะฝนตกหนัก สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประงานงานการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศอช.)เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีในวันพรุ่งนี้ รัฐบาลรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ และเกรงว่าจะมีความรุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในปลายปีที่แล้ว โดยอาจเทียบเคียงกับอุทกภัยในปี 31 จึงขอเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์และฟังการประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้อีกอย่างน้อย 5 วัน
นายสาทิตย์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมเข้าสู่วันที่ 4 แล้ว และมีการประกาศให้พื้นที่ 7 จังหวัดในภาคใต้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ประกอบด้วย ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และกระบี่ ซึ่ง ศอช.ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก พื้นที่ที่ประสบภัยดินถล่ม กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน กลุ่มสอง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่ม ได้มอบให้ทุกจังหวัดเตรียมเคลื่อนย้ายประชาชนและทรัพย์สินไปยังที่ปลอดภัย และกลุ่มสาม แจ้งเตือนไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังเกาะต่างๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
ส่วนความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลกำหนดไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้เงินทดรองประจำจังหวัด 50 ล้านบาทไปก่อน หากไม่พอสามารถเสนอขอขยายวงเงินได้ 2.วันพรุ่งนี้(30 มี.ค.)จะขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เร่งนำเรือท้องแบน แพยาง และเสื้อชูชีพไปช่วยเหลือในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย และ 3.อาหารและน้ำดื่ม ศูนย์ฯ ได้ตั้งงบประมาณไว้ 20 ล้านบาท เพื่อจัดทำถุงยังชีพ พร้อมทั้งเปิดรับการบริจาคจากประชาชน โดยจะถ่ายทอดสดการรับบริจาคผ่านโมเดิร์นไนน์ทีวีวันพรุ่งนี้
นายสาทิตย์ กล่าวว่า วันพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(คชอ.) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวละ 5,000 บาท ว่าจะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการเข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ ทั้งนี้จะมีการใช้แผนที่ดาวเทียมเพื่อกำหนดพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมาประเมินประกอบกัน รวมถึงกำหนดมาตรการชดเชยพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายด้วย
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1266 ครั้ง