ประชุมรัฐสภาเจบีซีเริ่มแล้ว “สมาชิกรัฐสภา” อภิปรายให้หยุดการลงมติผลการประชุมเจบีซี 3 ฉบับ จนกว่าศาล รธน.ตีความ
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.45 น. เริ่มวาระการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะการพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ ซึ่งเป็นวาระพิจารณาที่เลื่อนมาจากการพิจารณาในรอบแรก เมื่อวันที่ 25 มีนาคม โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมแจ้งให้กับที่ประชุมว่าขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือรับคำร้อง 5/2554 กรณีที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะรวม 80 คน อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญเสนอคำร้องต่อประธานรัฐสภาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผลการพิจารณา ศึกษาของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เป็นหนังสือสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาหรือไม่
จากนั้นมีสมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็นว่าควรให้ชะลอการลงมติเรื่องดังกล่าวออกไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยแล้วเสร็จ อาทิ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าตามในรัฐธรรมนูญส่วนที่ 8 ว่าด้วยการควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 154(2) วรรคสองระบุว่าระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้นายกฯ ระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ตนมองว่าข้อหารือเรื่องเจบีซีที่กระทรวงการต่างประเทศส่งมาให้รัฐสภาพิจารณา เหมือนกับการตราพระราชบัญญัติ ดังนั้นเมื่อมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญ และศาลมีการรับเรื่องแล้ว องค์กรอื่นควรหยุดการดำเนินการ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร
ทั้งนี้ ก่อนเข้าประชุมสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับรองรายงานผลการศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี 3 ฉบับ ส่วนตัวมองว่าอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเสร็จก่อน ทั้งนี้ ไม่น่าจะมีปัญหาหากไม่มีการพิจารณาเจบีซี 3 ฉบับ เพราะยังมีกฎหมายอื่นที่สำคัญค้างวาระการประชุมอีกกว่า 20 ฉบับ
ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไปเมื่อปีที่แล้วว่าเจบีซี 3 ฉบับ เข้าข่ายเป็นหนังสือสนธิสัญญาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การลงมติรับรองรายงานการประชุมดังกล่าวขึ้นอยู่กับเสียงในสภา โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำเป็นต้องชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่รอคำวินิจฉัยจากศาลก่อน เนื่องจากตามกฎหมายแล้ว เรื่องที่ยังอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ สภาก็ต้องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาด
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 998 ครั้ง