สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุราษฎร์ธานียังวิกฤติหนัก โดยขณะนี้ ที่ อ.พุนพิน ประสบความเสียหายหนักที่สุด ทุกพื้นที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมดจำนวน 16 ตำบล 79 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนกว่า 3,300 ครัวเรือน หรือกว่า 12,660 คน (อพยพ 50 คน 14 ครัวเรือน) ขณะนี้ถนนเสียหายแล้ว จำนวน 96 สาย/ท่อระบายน้ำ 12 แห่ง/คอสะพาน 1 แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย กว่า 5,525ไร่/บ่อปลา 683 บ่อ/สัตว์เลี้ยง 1,396 ตัว ส่วน อ.พระแสง ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ ราษฎรเดือดร้อน จำนวน 1,480 ครัวเรือน 4,440 คน
ขณะที่อำเภออื่น ๆมีน้ำท่วมขังเช่นกัน และการช่วยเหลือยากลำบากมาก เพราะการคมนาคมถูกตัดขาดเกือบทั้งหมด การช่วยเหลือทำได้เพียงอาศัยเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น ขณะเดียวกันพบว่าระบบน้ำประปา ไฟฟ้าถูกตัดขาดเกือบทั้งหมดแล้ว
ผบ.ทบ.ชี้ทหารเข้าพื้นที่ลำบาก
วันที่ 1 เมษายน เวลา 07.30 น.ที่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล. 1 รอ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีวันคล้ายวันสถาปนาพล. 1 รอ.ครบรอบ 104 ปี ถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและดินถล่มที่อ.เขาพนม จ.กระบี่เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้กำชับกองทัพภาคที่ 4 ให้บูรณาการการทำงานกับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของส่วนราชการต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังของอาสาสมัคร และอปพร.ร่วมกับประชาชน เรื่องการดูแลปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล เพื่อเปิดเส้นทางให้น้ำไหล และแก้ปัญหาถนนที่ถูกตัดขาดให้ได้เร็วที่สุด ที่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนและการเข้าไปให้ความช่วยเหลือของทางราชการ เนื่องจากเส้นทางขาดและชำรุด จึงมอบหมายให้กรมการทหารช่างประสานการปฏิบัติกับกรมทางหลวง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดจึงต้องจัดลำดับความเร่งด่วนในการทำงาน วันนี้คงต้องติดตามความก้าวหน้าว่า มีปัญหาติดขัดอะไรหรือไม่ ปัญหาขณะนี้คือการเข้าไปไม่ถึงในพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำและการขึ้นตรวจการณ์ทางอากาศทำได้จำกัดเพราะฟ้ายังปิดอยู่ แต่พื้นที่ใดที่เข้าได้ ตนสั่งการให้ใช้กำลังพลและสุนัขทหารเข้าไปดูแล ซึ่งเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญลำดับหนึ่งเพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งจากการที่นายกรัฐมนตรีไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่มา 2 ครั้งแล้วได้ฝากให้กองทัพบกช่วยดูแลเรื่องการสัญจร ความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือหลังน้ำลดให้ทุกส่วนราชการพูดคุยกัน เพื่อบูรณาการการทำงาน ส่วนกรณีทีประชาชนบางส่วนไม่ยอมออกจากพื้นที่เนื่องจากห่วงทรัพย์สินนั้น ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่าต้องให้ตัวเองปลอดภัยก่อน เราต้องบอกให้ประชาชนระมัดระวัง ต้องอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนดูแลกัน และเราต้องจัดเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเขา เพราะบางพื้นที่เข้าไปไม่ได้ต้องใช้เรือหรือทางอากาศจึงได้ระดมอากาศยานเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดทั้งเฮลิคอปเตอร์แบคฮอร์ค เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก และที่มีสลิงค์สำหรับนำคนหรือสิ่งของไปลงได้ ซึ่งจะไปปฏิบัติภารกิจทั้งด้านยุทธวิธีต่างๆ โดยวันนี้(1 เม.ย.) จะระดมเพิ่มเติมในส่วนของกรมการทหารช่างว่ายังมีเรือ รถที่เหลืออยู่หรือไม่ เพื่อจะให้ความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารประจำการ(เกณฑ์ทหาร) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 เม.ย.นี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ว่าต้องดำเนินการไปตามปกติ เพื่อให้เข้ารับการฝึกพร้อมกันในเดือนเมษายนนี้ ประมาณ 10 สัปดาห์ หากเลื่อนการเกณฑ์ออกไปจะทำให้ระบบต่างๆ รวนไปหมด จึงได้ให้นโยบายว่าหากมีบุคคลใดที่มีเหตุจำเป็นจริงๆ ให้ไปแจ้งที่กองอำนวยการตรวจเลือก เพื่อพิจารณาเลื่อนเกณฑ์ไปปีหน้า ส่วนในบางพื้นที่ที่มีปัญหาและเจ้าหน้าที่อาจเข้าไปทำการตรวจเลือกไม่ได้ ผู้บังคับกองพันซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจเลือกก็ต้องใช้วิจารณญาณเรื่องการขยับพื้นที่ออกมาและจัดยานพาหนะไปรับ หากแก้ไขไม่ได้ก็คงเสนอมาที่หน่วยเหนือพิจารณาต่อไป
นายกฯเร่งช่วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานกาณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐ ได้ประสานกันทุกระดับ เพื่อให้การช่วยเหลือ ส่วนสถานการณ์ทางฝั่งอันดามัน ได้ประกาศเตือนก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งจะเฝ้าระวังสถานการณ์เพิ่มเติมอีกครั้งในฝั่งอ่าวไทย โดยยันว่า ภาครัฐได้ระดมให้การช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น โดยใน 2-3 วันนี้ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับการกระจายให้ความช่วยเหลือ จะเป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
เวลา 10.00 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง กล่าวภายหลังลงพื้นที่น้ำท่วมเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า รู้สึกหนักใจ เนื่องจากมีถนนและสะพานเสียหายจำนวนมาก ร่วมทั้งไร่นาของประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะเร่งอนุมัติงบประมาณในการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะงบประมาณในการสร้างสร้างถนน และสะพานรวมถึงการดำเนินการฟื้นฟูไร่นาให้เป็นรูปธรรม โดยจะให้ได้รับเงินในการปลูกใหม่ให้ทันฤดูฝนที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกยางพารา ทั้งนี้ ยังไม่มีงานวิจัยรับรองที่ชัดเจนว่ายางพาราไม่อุ้มน้ำจนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม หรือเป็นความผิดพลาดจากระบบป้องกันภัย โดยน่าจะเป็นเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และภัยธรรมชาติมากกว่า
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1653 ครั้ง