เกือบหนึ่งสัปดาห์ ใต้ยังวิกฤตฺหลายพื้นที่ยังถูกตัดขาด ต้องระดม ฮ.แบล็กฮอว์ก-ชินุก เร่งอพยพชาวบ้านพ้นพื้นที่เสี่ยงภัย หลังฝนยังตกหนักในหลายพื้นที่และถูกตัดขาด ขณะที่ดินในพื้นที่นครศรีธรรมราชยังถล่มไม่หยุด สรุปความเสียหายล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 ราย อพยพร่วม 7 พันคน ชง ครม.อนุมัติ 1.5 พันล้านซับน้ำตา คาดท่องเที่ยวพังหมื่นล้าน “ควายน้ำ” เสี่ยงสูญพันธุ์
ภาวะน้ำท่วมภาคใต้ทุกจังหวัดยังวิกฤติ ที่ จ.นครศรีธรรมราช แม้พื้นที่ประสบภัยยังเท่าเดิม แต่สถานการณ์กลับรุนแรงมากขึ้น ที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 1 เม.ย. ตลอดวันนี้แม้สภาพอากาศท้องฟ้าจะปิด ฝนตกโปรยปรายลงมาตลอดเวลา และเมฆหนาปกคลุมบนยอดเขากรุงชิงตลอดเวลาก็ตาม แต่ทางเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่โรงเรียนมัธยมนบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ยังระดมใช้ ฮ.ของกองทัพภาคที่ 4 และ ฮ.แบล็กฮอว์ก จากทหารหน่วยรบพิเศษ ลพบุรี จำนวน 2 ลำ สลับบินขึ้นลงนำถุงยังชีพไปแจกช่วยเหลือราษฎรที่ติดค้างถูกตัดขาดจำนวนนับพันคน และทยอยอพยพราษฎรลงมาเที่ยวละ 20 คนต่อเที่ยว ซึ่งไม่สามารถอพยพได้เพียงพอ เนื่องจากราษฎรที่ติดอยู่บนภูเขาและถูกตัดขาดยังเหลืออีกหลายคน
พล.ต.เดชา กิ่งวงศา รองแม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมด้วย พ.อ.สมชาย ภุมรินทร์ รองเสนาธิการ ทภ.4 นำกำลังทหารชุดค้นหากู้ภัยจากหน่วยร้อยฝึกรบพิเศษที่ 4 จำนวน 30 นาย พร้อมอุปกรณ์เครื่องสนามครบชุดและวิทยุสื่อสารเดินเท้าฝ่าสายฝนที่ยังตกลงมาอย่างหนัก ขึ้นไปช่วยเหลือชาวบ้านบนภูเขาไม้ไผ่ จำนวน 9 หมู่บ้าน ของ ต.กรุงชิง ล่าสุดเที่ยงวันเดียวกันมีรายงานแจ้งว่าเกิดเหตุดินภูเขาสไลด์ แต่ยังไม่ทราบชะตากรรมของราษฎรทั้ง 9 หมู่บ้านกว่าร้อยชีวิต
รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ได้ติดต่อประสานขอการสนับสนุนด่วนขอ ฮ.รุ่นชินุก ของหน่วยรบพิเศษลพบุรี บินมาเสริมอีก 2 ลำ เนื่องจากไม่เพียงพอ และเมื่อ ฮ.ชินุกบินมาถึง จะสามารถบรรทุกคนได้มากเที่ยวละถึง 60 คน
ส่วนพื้นที่ ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี มีดินภูเขาถล่มลงหลายจุด ถนนในหมู่บ้านเกือบทุกสายถูกตัดขาด ต้นไม้หักโค่น ไฟฟ้าดับมืดสนิททั้งหมู่บ้าน พื้นที่ ต.สระแก้ว, ต.ท่าขึ้น, ต.กลาย อ.ท่าศาลา มีน้ำท่วมสูงเป็นวงกว้าง และน้ำป่าทะลักอีก เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจาก อ.นบพิตำ และ อ.พรหมคีรี ส่งผลให้ รพ.ท่าศาลา ถูกน้ำท่วมซ้ำระลอกสอง ต้องปิดดำเนินการอย่างสิ้นเชิง
เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ทุกตรอกซอกซอยจมใต้บาดาลทั้งเมือง ระดับสูงประมาณ 1-2 เมตร พื้นที่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช น้ำทะลักเข้าท่วมขัง และมีแนวโน้มระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แพทย์และพยาบาลพากันอพยพคนป่วยและเครื่องมือการแพทย์ รวมทั้งเวชภัณฑ์ยา หนีน้ำกันอย่างทุลักทุเล
ที่คลองนางเรียม บริเวณเขตอุทยานนกน้ำทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เกษตรกรผู้เลี้ยงควายจำนวนหนึ่งได้ดำน้ำถอนหญ้า บ้างก็ใช้มีดพร้าตัดหญ้าใต้น้ำเพื่อนำไปเป็นอาหารให้กับควายน้ำ ก่อนที่จะอดตายยกฝูง ในขณะเดียวกันจากสถานการณ์น้ำท่วมประกอบกับน้ำทะเลหนุน ระดับความลึกอยู่ที่ 3-4 เมตร ทำให้ควายน้ำไม่สามารถดำน้ำกินหญ้าได้ โดยล่าสุดพบควายเสียชีวิตแล้วกว่า 130 ตัว
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้มีพื้นที่ประสบภัย 8 จังหวัด 87 อำเภอ 568 ตำบล 4,615 หมู่บ้าน ได้แก่ นครศรีธรรมราช,พัทลุง, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, ชุมพร, สงขลา, กระบี่ และพังงา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 294,097 ครัวเรือน 998,867 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหายทั้งหลัง 17 หลัง 848 หลัง ถนน 2,343 สาย มีผู้เสียชีวิต 21 ราย
นครศรีธรรมราช น้ำท่วมพื้นที่ 23 อำเภอ 161 ตำบล 1,410 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช, ลานสกา, ร่อนพิบูลย์, พระพรหม, พิปูน, เฉลิมพระเกียรติ, หัวไทร, จุฬาภรณ์, ชะอวด, ขนอม, สิชล, นบพิตำ , ปากพนัง, พรหมคีรี, ท่าศาลา, ถ้ำพรรณรา, ช้างกลาง, เชียรใหญ่, ฉวาง, นาบอน, ทุ่งใหญ่, ทุ่งสง และบางขัน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 114,761 ครัวเรือน 372,392 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 196,378 ไร่
พัทลุง น้ำท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ 65 ตำบล 622 หมู่บ้าน 65 ชุมชน ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง, เขาชัยสน, ควนขนุน, กงหรา, ศรีบรรพต, บางแก้ว, ป่าพะยอม, ศรีนครินทร์, ป่าบอน, ตะโหมด และปากพะยูน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 45,388 ครัวเรือน 177,415 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 48,984 ไร่
สุราษฎร์ธานี น้ำท่วมพื้นที่ 17 อำเภอ 124 อำเภอ 966 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี, ดอนสัก, กาญจนดิษฐ์, ไชยา, เวียงสระ ท่าชนะ, บ้านนาสาร, บ้านนาเดิม, คีรีรัฐนิคม, เกาะสมุย, วิภาวดี, พุนพิน, ท่าฉาง, พระแสง, เกาะพะงัน, พนม และบ้านตาขุน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 65,295 ครัวเรือน 243,490 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 157,992 ไร่
โดยที่อำเภอพุนพินน้ำจากแม่น้ำตาปี เอ่อล้นท่วมเทศบาลตำบลท่าข้าม จนถูกตัดขาด ประชาชนหลายร้อยครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนหนัก
ตรัง น้ำท่วมพื้นที่ 10 อำเภอ 67 ตำบล 410 หมู่บ้าน 5 เทศบาล ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง, ห้วยยอด, รัษฎา, นาโยง, ย่านตาขาว, วังวิเศษ, กันตัง, สิเกา, หาดสำราญ และปะหลี่ยน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 12,434 ครัวเรือน 33,152 คน
ชุมพร น้ำท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ 1 เทศบาล 40 ตำบล 381 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร, สวี, หลังสวน, ละแม, พะโต๊ะ, ทุ่งตะโก และปะทิว ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 18,684 ครัวเรือน 55,385 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 4,332 ไร่
สงขลา น้ำท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ 19 ตำบล 100 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอระโนด, กระแสสินธุ์ และรัตภูมิ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 10,977 ครัวเรือน 33,585 คน
กระบี่ น้ำท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ 48 ตำบล 438 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่, เขาพนม, ลำทับ, เกาะลันตา, เหนือคลอง, คลองท่อม และอ่าวลึก ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 19,547 ครัวเรือน 57,942 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 150 ไร่
พังงา น้ำท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ 44 ตำบล 288 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองพังงา, เกาะยาว, ตะกั่วทุ่ง, ท้ายเหมือง, คุระบุรี, ตะกั่วป่า, ทับปุด และกะปง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 7,011 ครัวเรือน 26,506 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 35 ไร่
อย่างไรก็ตาม นายวิทเยนทร์ มุตตามระ รอง ผอ.ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยา (ศชอ.) เผยว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 ราย บาดเจ็บ 181 คน และอพยพ 6,757 คน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีทั้งหมด 25 ราย แบ่งเป็นที่ จ.สุราษฎร์ธานี 6 ราย, จ.พัทลุง 2 ราย, จ.นครศรีธรรมราช 11 ราย, จ.กระบี่ 6 ราย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องที่พักอาศัย จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานที่พักอาศัยชั่วคราวในโครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และโครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านหัวป่าเขียว อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง แก่ผู้ประสบภัย เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลาย
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โปรดให้นางสมถวิล ยังอยู่ ผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ จัดเครื่องอุปโภค บริโภคเพื่อบรรจุถุงยังชีพพระราชทานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย สำหรับให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 2,500 ชุด ณ กองบิน 2 กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ สนามบินอู่ตะเภา
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บ.ข.ส. กล่าวว่า บ.ข.ส.เปิดให้บริการเดินรถในพื้นที่ภาคใต้ ตามปกติทุกเส้นทางแล้ว ยกเว้นเส้นทางกรุงเทพฯ-เขาพนม-กระบี่ ยังต้องปิดให้บริการชั่วคราว
นางธนิฎฐา เศวตศิลา มณีโชติ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่าความเสียหายเบื้องต้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเกิดขึ้นแล้วประมาณ 3-4 พันล้านบาท หากกระทบไปสงช่วงสงกรานต์ จะมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1048 ครั้ง