รณฤทธิชัย คานเขต เป็น ส.ส.มุสลิม 1 ใน 2 คนในภาคอีสาน เส้นทางการเมืองของเขาผ่านการเลือกตั้งมา 12 ครั้งสอบตก 6 ครั้ง สอบได้ 6 ครั้ง นับเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นสูงในทางการเมืองสูง แต่หลายคนรู้จักเขาในมุมของความดารา แต่ความจริงเขาถูกบ่มเพาะทางการเมืองมาจากการต่อสู้ทางการเมืองในสถานการณ์ 16 ตุลาคม
รณฤทธิชัย คานเขต เกิดที่จังหวัดยโสธร ครอบครัวเป็นมุสลิมปาทานที่อพยพมาจากปากีสถาน ตั้งแต่รุ่นปู่ อาชีพหลักคือ การส่งเนื้อวัวขาย แต่ด้วยรักและผูกพันในการเมือง รณฤทธิชัย จึงได้ทิ้งอาชีพของครอบครัวกระโจนสู่เส้นทางการเมือง
“ผมลงเลือกตั้งครั้งแรกตั้งแต่ปี 2522 จนปี 2538 จึงได้รับการเลือกตั้ง แต่การลงเลือกลงเลือกตั้งของผมไม่ได้ลงซ้ำเขต แรกๆลงที่กทม. เขตพญาไท ในนามพรรคกิจสังคม ยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค แพ้ให้กับผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคะแนนที่ได้รับถือว่า สูสี ต่อมามีพี่น้องมุสลิมหนองจอกบอกว่า มุสลิมต้องการได้เป็น ส.ส.ผมเลยย้ายไปลง เขตหนองจอก ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งเหมือนเดิม จากนั้นไปลงสมัครที่ภาคอีสาน ที่อุบลราชธานี และยโสธร ซึ่งแม้จะแพ้การเลือกตั้ง แต่คะแนนที่ได้ก็ถือว่าเยอะ ห่างจากผู้ชนะไม่มาก แต่ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะผมไม่ซื้อเสียง แต่ต่อมาผมประกาศว่า ใครทำอย่างไรผมทำอย่างนั้น คนเฮกันทั้งอำเภอ หลังจากนั้นก็ได้รับการเลือกตั้งและได้คะแนนเป็นอันดับ 1 มาตลอด” ส.ส.ยโสธร กล่าว
การที่ครอบครัวมีอาชีพส่งเนื้อวัว ทำให้ครอบครัวของเขาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป คนเลี้ยววัว คนที่นำวัวมาส่ง ซึ่งถือว่า เป็นคนที่ค่อนข้าวมีฐานะ เป็นเหตุผลหนึ่งให้ รณฤทธิชัย เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนยโสธร
คนส่วนใหญ่รู้จัก รณฤทธิชัย คานเขต ในความเป็นดารา และมักจะมองว่า เป็นดารามาเล่นการเมืองว่า ไม่รู่เรื่องการเมือง แต่ความจริงแล้ว เขาสนใจการเมืองมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา
“ความเป็นดารา จะถูกคู่แข่งนำไปโจมตีว่า เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ อยู่แต่ห้องแอร์ ไม่ลงพื้นที่ แต่ความจริงแล้วสิ่งที่หล่อหลอมผมในทางการเมือง มาจากการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยและได้เข้าร่วมในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ตอนนั้น ผมเรียนพละศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัย ได้นำนักศึกษาพละศึกษาไปร่วมชุมนุมกับนักศึกษา และเป็นคนที่ทำหน้าที่คุ้มกันนักศึกษาที่มาชุมนุม ผมเข้าสู่การเมือง เพราะต้องการเห็นการเมืองดีขึ้น” รณฤทธิชัย กล่าว
รณฤทธิชัย กล่าวว่า ปัญหาในภาคอีสานคือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำระบบชลประทานมีน้อยมากเมื่อเทียบกับภาคอื่น ภาคอีสานมีระบบชลประทานแค่ 8% ในขณะที่ภาคใต้และภาคตะวันออกมี 25- 27% ภาคเหนือมี 30% กว่า ภาคกลางมีมากถึง 80% ถ้าคนอีสานมีน้ำสมบูรณ์ เขาก็จะสามารถปลูกข้าว หรือทำเกษตรกรรมได้ปีละ 2 ครั้ง ก็สามารถลืมตาอ้าปากได้ ไม่ต้องรอพึ่งพารัฐ ไม่เป็นหนี้ธกส.
“ผมได้ทดลองที่ยโสธรในหมู่บ้านที่อยู่แม่น้ำชี มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และแล้งซ้ำซากในหมู่บ้านเดียวกัน คือ ตอนหน้าฝนน้ำจากลำน้ำชี ก็จะเอ่อท่วม นาข้าวเสียหาย พอหน้าแล้งก็มีปัญหาภัยแล้ง เพราะน้ำไหลลงแม่น้ำชีหมด ก็ดึงชลประทานมาตั้งสถานีสูบน้ำ พอหน้าน้ำหลากก็กั้นน้ำไว้ หน้าแล้งก็สูบน้ำมาใช้ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 2,000 ไร่ ปรากฏว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง จากเดิมที่ปลูกครั้งเดียวก็ประสบปัญหาน้ำท่วม ผมให้คนไปตรวจสอบการกู้ยืมและการจ่ายคืนที่ ธกส.พบว่า ชาวบ้านจ่ายคืนหนี้ เกือบหมด เหลือหนี้ที่กู้ยืมข้ามปี เป็นการชี้ชัดให้เห็นว่า หาก ภาคอีสานมีระบบชลประทาน ชาวบ้านก็จะมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ถูกใครชักจูงได้ง่าย” เขา กล่าว
แนวทางการแก้ไขปัญหา รณฤทธิชัย กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ด้วยการออกนโยบายชัดเจน ซึ่งมีการพูดกันมาหลายรัฐบาล รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยพูด แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนทำซักที
“ผมเจอคุณธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็ถามตลอดว่า ได้พูดคุยกับนายกฯเรื่องนี้ บ้างหรือเปล่า ในสภาฯ ก็ได้ตั้งกระทู้อภิปรายตลอดว่า จะต้องจัดตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมาเพื่อให้สามารถจัดการน้ำให้เป็นระบบ ในภาคอีสานจะใช้งบประมาณ 200,000 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี ตกปีละ 20,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากและเป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร ดีกว่า ต้องตั้งงบแก้ปัญหาภัยแล้งทุกปีๆไม่จบสิ้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจัดสรรงบด้านชลประทานประมาณ 20,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ภาคอีสานไม่กี่พันล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ”
งบประมาณจำนวนนี้ ส.ส.ยโสธร กล่าวว่า จะนำไปขุดลอกแม่น้ำสายรองที่มีอยู่ในภาคอีวาน ให้มีปริมาณน้ำไหลไปยังไร่นาของชาวบ้านเพียงพอ และสร้างแก้มลิงเก็บน้ำไว้ใช่ยามหน้าแล้ง หากดำเนินการจริงจังในระยะเวลา 10 ปี จะพลิกชีวิตของคนอีสานให้อยู่ดีกินดีได้แน่นอน
ข้อมูล : นิตยสารเอ็มทูเดย์ MTODAY ฉบับที่ 9 16 ก.พ.-มีนา 2554
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 3063 ครั้ง