อย่าประมาทอาชญากรรมการเงินโลก
โดย เบ๊นซ์ สุดตา
เบื้องหลังความสำเร็จทางเศรษฐกิจและธุรกิจของตะวันตกนั้นแง่หนึ่งก็มีด้านที่น่าสรรเสริญอยู่เมื่อกล่าวถึงองค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติของผู้บริหารนโยบาย
นักวิชาการ และนักธุรกิจชั้นนำต่างๆ ณ จุดนี้เป็นเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจทั้งคนไทยและคนทั้งโลกต่างมุ่งหวังที่จะไปศึกษาเอาองค์ความรู้ทางการบริหารจัดการและเศรษฐศาสตร์จากตะวันตกเพื่อนำมาพัฒนาองค์กรและประเทศให้เจริญกว้าวหน้าต่อไป
แต่อีกด้านหนึ่งของความสำเร็จที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับรู้หรือแสร้งทำเป็นไม่รู้นั้นก็คือ
การฉ้อฉล การใช้เล่ห์เหลี่ยม การปกปิด การกล่าวเท็จ
และสารพัดยุทธวิธีทางธุรกิจและเศรษฐกิจต่างๆที่บริษัทและสถาบันการเงินชั้นนำรวมถึงรัฐบาลใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเองทั้งในแง่ของผลกำไร
ราคาหุ้นที่สูงขึ้น หรืออำนาจทางเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับ
“อาชญากรรม” ระดับโลก และหลายต่อหลายครั้งการกระทำในลักษณะที่ปกปิด ฉ้อฉล และ
ปราศจากเจตนาที่โปร่งใสก็นำมาซึ่งความเสียหายมหาศาลในวงกว้างด้วย
ครั้งหนึ่งฝรั่งตะวันตกเคยพร่ำสอนเราสมัยวิกฤตการเงินในเอเชียช่วงปี
1997-1998 ว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นมีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากความผิดพลาดในการบริหารงานของบริษัทและสถาบันการเงินภาคเอกชนที่ขาด
“บรรษัทภิบาล” หรือ Corporate
Governance คือ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างเพียงพอ
สถาบันการเงินและธุรกิจขนาดใหญ่อาศัยสายสัมพันธ์ทางเครือญาติในการดำเนินงานและปล่อยสินเชื่อ
แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า พอถึงช่วงปี
2000-2001
ในฝั่งประเทศแม่แบบการดำเนินงานด้วยระบบบรรษัทภิบาลอย่างสหรัฐฯเองกลับเผชิญวิกฤตอันเกิดจากความไม่โปร่งใสซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการก่อ
“อาชญากรรมการเงิน” ซึ่งเกี่ยวพันถึงการปั่นราคาหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง “เอ็นรอน”
ซึ่งเป็นธุรกิจพลังงานและเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่มากด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวมก่อนล้มละลายกว่า
100,000 ล้านดอลลาร์
ซึ่งมากพอๆกับวงเงินกู้ที่ไอเอ็มเอฟปล่อยให้กับประเทศเอเชียทั้งหลายที่ประสบปัญหาวิกฤตการเงิน
แต่ความเสียหายอันเนื่องมาจากการตกแต่งบัญชีของเอ็นรอนเองได้สร้างความเสียหายต่อมูลค่าและความน่าเชื่อถือของระบบตลาดทุนสหรัฐฯมากมายมหาศาลกว่ามูลค่าของตัวบริษัทเองเสียอีก
วิกฤตการเงินที่ผ่านมาตั้งแต่ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯแล้วลามไปทั่วโลกช่วงปี
2007-2008 ไปจนถึงวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปนับแต่ปี 2009 เป็นต้นมาถือเป็นการตอกย้ำถึงด้านมือที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทางเศรษฐกิจ
ธุรกิจ และการเงินที่มีแต่ความฉ้อฉลและมีราคาไม่ต่างกับอาชญากรทางเศรษฐกิจเลย ความเสียหายที่เกิดกับสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐฯและยุโรปนั้นจนนำมาสู่สภาพที่เศรษฐกิจโลกแทบล้มละลายหลังLehman
Brothers ล้มละลายนั้นก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความฉ้อฉลที่มีความซับซ้อนมากขึ้นของอาชญากรรมทางการเงินที่มีตั้งแต่การปกปิดและซ่อนเร้นความเสี่ยงของตราสารการเงินที่ซับซ้อนและอันตรายมากอย่างCDO และ CDS ไปจนถึงการใช้เงินจ่ายไม่อั้นให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพื่อให้ได้มาซึ่งเครดิตเรตติ้งชั้นเลิศให้กับตราสารขยะต่างๆที่จะนำไปหลอกขายผู้ออมเงินทั้งโลกว่า
ตราสารนี้ให้ผลตอบแทนที่ทั้งสูงและความเสี่ยงก็ต่ำด้วย
และสุดท้ายแม้โจรการเงินเหล่านี้จะเป็นผู้ก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงินที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
แต่กลับไม่ได้ถูกลงทัณฑ์เลยแต่อย่างใด หนำซ้ำประชาชนผู้เสียภาษีทั่วโลก
(ในประเทศตะวันตกรวมถึงประเทศเอเชียผ่านภาระการอุ้มขยะการเงินในรูปพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในทุนสำรอง)
กลับต้องรับภาระหนี้สาธารณะมหาศาลจากการที่ต้องอุ้มสถาบันการเงินและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายให้เดินหน้าต่อไปรวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่กลับมาสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากโจรการเงินใช้วิธีปั่นราคาสินทรัพย์ทั้งโลกรวมถึงราคาพลังงานและสินค้าเกษตรเพื่อนำเงินมาใช้หนี้รัฐบาลและเอามาจ่ายโบนัสให้บรรดาผู้บริหารระดับสูงกันอย่างหนำใจ
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจของอาชญากรรมการเงินสมัยใหม่ก็คือ
เมื่อเวลาผ่านไปนั้นนอกจากกลโกงจะมีความสลับซับซ้อนและมีความแปลกใหม่มากขึ้นแล้ว
ระดับของความเสียหายยังสูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเนื่องมาจากว่าการขยายขอบเขตของตลาดการเงินผ่านกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางการเงินและการที่อาชญากรรมการเงินต่างๆทำกันเป็นขบวนการที่นับวันจะใหญ่โตมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่
บริษัทค้าเงินค้าทุนขนาดเล็กจำนวนมากที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีและความคล่องตัวสูง
กองทุนเฮ็ดจ์ฟันด์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
หรือแม้แต่ผู้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินด้วย
ไล่มาตั้งแต่กรณีของวิกฤตการเงินปี
1997-1998 ที่ทุนการเงินกระหายเลือดเข้าตีค่าเงินไปทั่วเอเชีย
มูลค่าความเสียหายในครั้งนั้นหากนับรวมการติดลบทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งในตลาดหุ้นที่เสียหายไปเข้ากับเงินกู้ไอเอ็มเอฟแล้วก็มีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์อยู่
แต่นั่นยังเทียบไม่ได้กับความเสียหายของตลาดทุนสหรัฐฯหลังการล้มละลายของเอ็นรอน
แต่หลังจากนั้นไม่นานการฉ้อฉลทางการเงินครั้งใหญ่ในช่วงปี 2007-2008
ก็นำมาซึ่งความเสียหายมูลค่ามหาศาลมากกว่าอีกซึ่งหากดูเฉพาะภาระหนี้สินต่างๆที่รัฐบาลทั้งโลกต้องแบกรับนั้นก็ไม่ต่ำกว่า
5-10 ล้านล้านดอลลาร์
สังเกตได้ว่าหากพูดในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วการฉ้อฉลทางการเงินในปัจจุบันนั้นได้ยกระดับจากการโกงในระดับ
“จุลภาค” ไปสู่ระดับ “มหาภาค” แล้วในปัจจุบันสังเกตได้จากเครือข่ายทำการและเครื่องมือที่ใช้ในการก่ออาชญากรรม
ในสมัยก่อนเราอาจเคยได้ยินกรณีปั่นหุ้นที่ลือชื่อซึ่งมีกันทุกประเทศ แต่นั่นก็เป็นเพียงการสร้างความเสียหายในระยะสั้นต่อตลาด
ขณะที่ความเสียหายส่วนใหญ่ตกอยู่กับบริษัทหรือผู้ถือหุ้น
อีกทั้งผู้ก่อการก็เป็นเพียงขาใหญ่ในตลาด
ซึ่งหากเป็นกรณีของอเมริกาแล้วการก่ออาชญากรรมทางการเงินนั้นยังมีการขยายวงไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดโภคภัณฑ์มาแล้วด้วยซึ่งก็มีกรณีดังๆมาแล้วมากมายในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาในหน้าสื่อสหรัฐฯ
และในยุคที่โลกาภิวัตน์ทางการเงินและเทคโนโลยีทางการลงทุนต่างๆขยายตัวไปมากรวมถึงภาคการเงินมีการผูกขาดทรัพยากรในสถาบันการเงินใหญ่ๆไม่กี่แห่งแล้วทำให้กล่าวได้ว่า
อาชญากรรมการเงินในศตวรรษที่ 21
ได้ก้าวสู่ความเป็นอาชญากรรมในลักษณะที่เป็นมหภาคอย่างเต็มตัว
ทั้งนี้เป้าหมายของการใช้กลยุทธ์ฉ้อฉลในการทำกำไรและปั่นราคาสินทรัพย์นั้นได้เบนเป้าหมายไปสู่ตลาดที่มีขนาดและสภาพคล่องสูงขึ้นจากตลาดหุ้นได้เข้าสู่ตลาดเงินตราต่างประเทศ
ตลาดพันธบัตรรัฐบาล (เช่นกรณีของวิกฤตหนี้สาธารณะเขตเงินยูโร)
ตลาดอนุพันธ์ไปจนถึงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้นก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยจากผู้ถือหุ้นไม่กี่กลุ่มกลับกลายเป็นประชาชนนับร้อยล้านคนไปจนถึงระบบเศรษฐกิจทั้งโลก
และหากใครติดตามข่าวสารเศรษฐกิจและการเงินรอบโลกแล้วจะพบว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตการเงินครั้งล่าสุดเป็นต้นมานั้นกลับเลวร้ายและสร้างความเสียหายมากกว่าเก่า
โดยกรณีที่ถือว่าอื้อฉาวที่สุดและกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินทั้งโลกอีกครั้งก็คือ
กรณีที่มีการปั่นหรือจงใจกำหนดเป้าหมายการทำราคา (Manipulate) ของอัตราดอกเบี้ยเสนอขายในตลาดระหว่างธนาคารกรุงลอนดอนหรือLibor (London Interbank Offer Rate) ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของโลกก็ว่าได้เพราะ
ดอกเบี้ย Libor โดยเฉพาะ Libor ที่เป็นสกุลดอลลาร์นั้นเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงของตราสารการเงินมูลค่ามากกว่า
350 ล้านล้านดอลลาร์หรือมากกว่า 10,000 ล้านล้านบาท
เกี่ยวพันถึงการกู้เงินในตลาดพันธบัตรและโครงสร้างของการบริหารความเสี่ยงกว่าค่อนโลก
ซึ่งการกำหนดดอกเบี้ย Libor นั้นก็มีกระบวนการสุ่มเสี่ยงอยู่แล้วโดยแทนที่จะเป็นการซื้อขายอย่างเปิดเผยในตลาด
แต่กลับใช้วิธีให้ธนาคารสมาชิกส่งตัวเลขดอกเบี้ยที่คิดว่า “ตัวเองจะกู้ได้”
ไปเพื่อคำนวณซึ่งความโปร่งใสย่อมต่ำอย่างไม่ต้องสงสัย
ดังนั้นแล้วธนาคารเพียงหยิบมือเดียวคือ ประมาณ 16-20
แห่งก็จะมีอำนาจคุมระบบการเงินและเศรษฐกิจได้ทั้งโลกแล้ว
อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจและแสงดให้เห็นถึงพลังทำลายล้างของ
“เทคโนโลยีทางการเงิน”
นั้นเห็นจะไม่พ้นการตกเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งของนักเก็งกำไรสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า
“นักเก็งกำไรความเร็วสูง” หรือ “High-Frequency Trader” ซึ่งใช้การเขียนAlgorithm Trading System เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำการซื้อขายเองโดยอัตโนมัติในเวลาเพียงเศษเสี้ยวของวินาที
ซึ่งย่อมส่งผลให้ตลาดขับเคลื่อนตัวเองได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องคำนึงถึงข่าวหรือปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเลย
และด้วยความเร็วขนาดนี้ย่อมทำให้สถาบันการเงินที่มีความได้เปรียบทรัพยากรนั้นอยู่เหนือนักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีวันส่งคำสั่งได้ทันคอมพิวเตอร์แน่ๆ
และลักษณะการทำกำไรนั้นก็จะใช้การซื้อขายที่มีรอบคำสั่งที่เร็วมากๆทำกำไรจากส่วนต่างเล็กๆแต่ด้วยรอบที่เร็วและมหาศาล
ซึ่งผลที่สุดย่อมก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดมหาศาลชนิดที่ว่า
ราคาโภคภัณฑ์สำคัญเช่นน้ำตาลนั้น ถูกกระชากไปเกือบ 7% ภายในเวลาเพียง
1 วินาทีเท่านั้น
ซึ่งผิดวิสัยที่ผลผลิตเกษตรต้องใช้เวลานานมากในการที่จะเกิดการตอบสนองของราคาอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการรับรู้สภาพผลผลิต
ดังนั้นแล้วจากความจริงที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้เห็นชัดว่าระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกนั้นมีลักษณะของการช่วงชิงและเอาเปรียบมากกว่าที่ตำราเสรีนิยมทางตะวันตกพร่ำสอนถึงกลไกตลาดที่สมบูรณ์และการแข่งขันที่ใช้ฝีมือล้วนๆตามที่บรรดานักวิชาการหรือบุคคลชั้นนำเล่าเรียนและนำมาสั่งสอนคนในสังคมกันในปัจจุบัน
สงครามการเงินที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมและมุ่งทำกำไรจากการสร้างความเสียหายและบิดเบือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก
(เช่นผ่านดอกเบี้ย ค่าความเสี่ยง หรือ ราคาโภคภัณฑ์ดังที่ยกตัวอย่างมา)
จึงต้องการการรับมือที่รู้เท่าทันภัยอันตรายเหล่านี้ด้วย
ซึ่งการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ไปจนถึงการเตรียมทรัพยากรต่างๆเพื่อรับมือไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบและระบบการตรวจสอบและควบคุมทางเศรษฐกิจที่เข้มข้น
การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อมุ่งจำกัดการพึ่งพาและผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ทางการเงินหรือแม้แต่การคิดสร้างทีมหรือหน่วยงานพิเศษที่มีกำลังด้านข้อมูล
เทคโนโลยี และกลยุทธ์เพื่อตอบโต้การก่อการการร้ายทางการเงินเหล่านี้
(เช่นที่การอ้างถึงบรรดา Hackerมืออาชีพหรือกองทุนการเงินของรัฐบาลมหาอำนาจเช่น จีนและรัสเซีย)
จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่ผู้ดำเนินนโยบายในประเทศควรให้ความใส่ใจมากยิ่งขึ้น
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1677 ครั้ง