รัฐบาลลิเบียกำลังหนุนการตั้งเฮดจ์ฟันด์กองทุนใหม่ในลอนดอนเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของลิเบียในการกระจายเศรษฐกิจจากภาคน้ำมันและฝึกผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเลือดใหม่
เอฟเอ็ม แคปิตอล พาร์ตเนอร์ส (FM Capital Partners) ซึ่งกำลังสรรหาบุคลาการใหม่ทำงานในสำนักงานที่ไนท์สบริดจ์ (Knightsbridge) ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนกับหน่วยงานคุมภาคการเงินอังกฤษ FSA (Financial Services Authority) แล้ว และวางแผนที่จะออกกองทุนภายในฤดูร้อนปีนี้
กองทุนเฮดจ์ฟันด์จะบริหารโดยนายเฟรดเดอริก มาริโน่ อดีตนักค้าตราสารหรือเทรดเดอร์จากเมอร์ริล ลินช์ และ แบร์ สเติร์นส โดยกองทุนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทูตและจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาลลิเบียมานั่งเป็นกรรมการด้วย
นอกจากจะบริหารเงินในนามของกองทุนที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลลิเบียแล้ว กองทุนนี้จะนำเสนอโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนให้แก่บุคลากรจากอุตสาหกรรมการเงินที่เพิ่งตั้งไข่ของประเทศและกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของลิเบีย วันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา นายมาริโน่อยู่ในกรุงปารีสเพื่อทำการคัดเลือกนักคณิตศาสตร์เพื่อเข้าอบรมตามโครงการ โดยโครงการนี้จะผสมผสานการสอนภาคทฤษฎีในห้องเรียนและการปฏิบัติจริงจากการซื้อขาย
“สิ่งที่เรากำลังพัฒนาอยู่ไม่ใช่แค่กองทุนลงทุน” นายมาริโน่กล่าวกับหนังสือพิมพ์ดิ อินดีเพนเดนต์ของอังกฤษ “สิ่งที่เราจะตอบแทนคืนลูกค้าไม่ใช่เพียงผลตอบแทนการลงทุนซึ่งเราสร้างขึ้น นี่ยังเกี่ยวกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีการลงทุนและสร้างคนรุ่นใหม่ซึ่งในอีก 4-5 ปีีข้างหน้าจะมีพื้นฐานความรู้ทางเทคนิคด้านการเงินในระดับนานาชาติ”
เอฟเอ็ม แคปิตอลตั้งขึ้นอย่างเงียบๆเมื่อปีที่แล้ว ข้อมูลจากเอกสารที่ Companies House ระบุ และ พยายามหนีออกจากการตกเป็นข่าวเนื่องจากกองทุนทำการสร้างทีมของเทรดเดอร์และนักวิเคราะห์ ยายมาริโน่ยังกล่าวอีกว่า กองทุนหวังจะมีทีมงานมากกว่า 40 คนภายในฤดูใบไม้ร่วงนี้ กรรมการของกองทุนนั้นรวมถึงนายโมฮัมเหม็ด ตาเฮอร์ เซียลา ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายคาเล็ด คากีกี ซึ่งทำหน้าที่บริหารกองทุนรัฐบาลลิเบียซึ่งลงทุนในแอฟริกา
ข้อมูลจาก FSA ระบุว่านายมาริโน่ อายุ 43 ปี ถูกโอนตัวมาจากแบร์ สเติร์นสมาที่เจพี มอร์แกนหลังจากแบร์ สเติร์นสล้มละลายในปี 2008 ก่อนหน้านี้เขาเป็นหัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับกองทุนที่เมอร์ริล ลินช์ นอกจากนั้นในคณะกรรมการของกองทุนยังมีนายออเรเลียน เบสซอตซึ่งเคยทำงานกับธนาคารราโบแยงก์ของเนเธอร์แลนด์ช่วงทศวรรษที่ 1990
ขนาดของเฮดจ์ฟันด์จะถูกกำหนดภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ โดยขึ้นกับเงินทุนที่กองทุนย่อยของรัฐบาลลิเบียที่จะใส่ลงมา แต่คาดว่าเงินลงทุนน่าจะอยู่ในระดับหลายร้อยล้านดอลลาร์ นายมาริโน่กล่าวอีกว่า กองทุนของเขาจะเสาะหาเงินทุนมาบริหารจากรัฐบาลอาหรับอื่นๆด้วย
ธุรกิจต่่างๆของเอฟเอ็ม แคปิตอลจะถูกแยกออกภายใต้เฮดจ์ฟันด์ที่กลยุทธ์การลงทุนที่แตกต่างกัน และเอฟเอ็ม แคปิตอลกำลังจัดตั้งทีมวิจัยเพื่อมองหาลู่ทางการลงทุนและการทำ due diligence ในทวีปแอฟริกา
“ผู้คนจำนวนมากกำลังแสดงความสนใจในแอฟริกาและเศรษฐกิจที่นั่นกำลังแสดงการเติบโตในระดับเลข 2 หลัก” นายมาริโน่กล่าว “แต่ีขณะที่วาณิชธนกิจต่างๆพัฒนาธุรกิจในแอฟริกา ที่นั่นยังคงมีที่ว่างสำหรับเราในการทำงานกับกลุ่มการลงทุนในแอฟริกาของลิเบีย (Libyan Africa Portfolio) เพื่อสนับสนุนแนวคิดการลงทุน
การสนับสนุนเอฟเอ็ม แคปิตอลของรัฐบาลลิเบียใช้เงินจากกองทุนที่เป็นอิสระจากกองทุน LIA (Libyan Investment Authority) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแก่งชาติที่ใหญ่ที่สุดและมีการลงทุนที่กล้าเสี่ยงที่สุด โดยสัปดาห์ที่แล้ว กองทุน LIA ได้เปิดเผยว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของบริษัทเพียร์สัน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นลอนดอน โดยเพียร์สันเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ชื่อดังอย่างไฟแนนเชียล ไทม์ (Financial Times)
4 ทศวรรษหลังการรัฐประหารซึ่งได้ส่งให้มุมมาร์ กัดดาฟี่ ขึ้นสู่อำนาจ ลิเบียได้เริ่มสร้างเครือข่ายธุรกิจกับทั่วโลกหลังจากมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิกในปี 2003 อย่างไรก็ตามเครือข่ายความสัมพันธ์ทางธุรกิจยังคงเป็นไปแบบไม่ค่อยคืบหน้ามากเนื่องจากภาพเก่าๆของลิเบียที่สนับสนุนการก่อการร้าย
นายมาริโน่กล่าวอีกว่า “เราไม่ได้กำลังทำเรื่องการเมืองใดๆทั้งสิ้น มีการทำธุรกิจมากมายกับลิเบีย บริษัทขนาดใหญ่จากทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลีกำลังทำธุรกิจที่นี่ วาณิชธนกิจในอังกฤษและสหรัฐฯทำธุรกิจที่นี่มานานกว่า 3-4 ปีแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ได้สะท้อนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้”
ที่มา The Independent