โลกมุสลิมจะช่วยให้กลุ่มBRICSมีพลังมากขึ้น
โดยเบ๊นซ์
สุดตา
กลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมตัวของประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนายักษ์ใหญ่ 5 ประเทศอันได้แก่
บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน
และล่าสุดกับสมาชิกน้องใหม่อย่างแอฟริกาใต้ได้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนานั้นมีพลังและส่งเสียงดังในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
และถือเป็นก้าวสำคัญอีกเช่นกันสำหรับการก้าวเข้ามาของแอฟริกาใต้เพราะนั่นทำให้กลุ่มBRICS มีตัวแทนที่มาจากทุกทวีปในโลกอย่างครบครันไม่ว่าจะเป็น
บราซิลจากละตินอเมริกา แอฟริกาใต้ในฐานะเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกา
รัสเซียจากยุโรป และจีนและอินเดียในฐานะตัวแทนยักษ์ใหญ่ในฝั่งเอเชีย
เดิมทีนั้นกลุ่ม BRICS จริงๆมีต้นตอมาจาก BRIC ซึ่งเป็นศัพท์เทคนิคการเงินการลงทุนที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อก้องโลกคือ
นายจิม โอนีล ซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งโกลด์แมน แซคส์
วาณิชธนกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้ตั้งขึ้นมาในปี 2001
เพื่อระบุถึงทิศทางการลงทุนและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ในอนาคตจะถูกขับเคลื่อนโดย 4
ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งล้วนมีฐานประชากรที่ใหญ่โตและอุดมไปด้วยฐานทรัพยากรมากมาย
ซึ่งประเทศเหล่านี้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลตอบแทนการลงทุนที่สูงอันเนื่องมาจากมีฐานการบริโภคภายในที่ใหญ่โตมารองรับ
ล่าสุดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICSณ เมืองซานหย่า (Sanya) มณฑลไหหน่าน
(หรือเกาะไหหลำ) ประเทศจีนนั้นได้มีแถลงการณ์แสดงถึงจุดยืนที่สำคัญใน 3 เรื่องคือ
การปฏิรูประบบการเงินโลก การควบคุมตลาดโภคภัณฑ์
และสถานการณ์ร้อนในโลกอาหรับโดยเฉพาะลิเบีย
สำหรับข้อเสนอในเรื่องการปฏิรูประบบการเงินโลกนั้นหลักใหญ่ใจความสำคัญนั้นอยู่ที่การพยายามขยายพื้นที่ทางอำนาจในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกของกลุ่มเองในฐานะตัวแทนประเทศกำลังพัฒนาและเกิดใหม่โดยเฉพาะสิทธิในองค์กรโลกบาลสำคัญอย่างไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก
รวมถึงการจำกัดบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกทั้งนี้ก็เพื่อเป็นอีกช่องทางในการปรับสมดุลในการบริหารเศรษฐกิจโลกให้มายังประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นรวมถึงการลดความเสี่ยงโดยรวมที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและของโลกเองอันเนื่องมาจากความสุ่มเสี่ยงของการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐฯที่มีแต่จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าและไร้เสถียรภาพมากขึ้น
และปัญหาของเงินดอลลาร์ที่ไร้เสถียรภาพนั้นก็นำมาสู่ปัญหาของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนานำโดยกลุ่มBRICSเองต้องเผชิญความเสี่ยงของความผันผวนในตลาดการเงินของตัวเองทั้งค่าเงิน
ราคาหุ้น และราคาพันธบัตร ไปจนถึงราคาโภคภัณฑ์โดยเฉพาะอาหารและพลังงาน
ซึ่งกลับกลายเป็นตัวจุดชนวนวิกฤตอาหารในโลกอาหรับจนบานปลายกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศจากกรณีที่นาโต้ฉวยโอกาสบุกถล่มลิเบียตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม
2011 และนั่นก็นำมาสู่จุดยืนของกลุ่ม BRICS อีก 2
ข้อที่เรียกร้องให้มีการกำกับดูแลตลาดโภคภัณฑ์อย่างเข้มงวดและการไม่เห็นด้วยต่อการใช้กำลังทหารเข้าแก้ปัญหาแทนที่แนวทางที่เป็นไปโดยสันติ
ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดว่า
ในแถลงการณ์ของกลุ่ม BRICS ทั้ง 3
ข้อนั้นล้วนมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันผ่านปัญหาในระบบการเงินซึ่งเกิดจาก
“ความไม่สมดุลในการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจโลก” หรือ Global Economic
Governance Imbalance ซึ่งประเทศร่ำรวยไม่กี่ประเทศนำโดยสหรัฐฯและชาติพันธมิตรควบคุมโครงสร้างหลักในการควบคุมระบบเศรษฐกิจโลกเอาไว้ทั้งองค์กรใหญ่ๆไล่ตั้งแต่ไอเอ็มเอฟ
ธนาคารโลก
หรือธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศซึ่งทำหน้าที่ออกกฎและกำหนดมาตรฐานธนาคารทั้งโลก
และส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ
การเป็นเจ้าของเงินตราสกุลหลักของโลกมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะสหรัฐฯที่เป็นเจ้าของเงินดอลลาร์
ทำให้ประเทศร่ำรวยเหล่านี้ยังคงสามารถกุมชะตากรรมของระบบเศรษฐกิจโลกและสามารถกอบโกยความมั่งคั่งได้ง่ายๆผ่านการหาประโยชน์ในกิจกรรมค้าเงินค้าทุนค้าตราสารต่างๆได้อย่างง่ายดาย
ซึ่งนั่นเป็นประเด็นหลักที่กลุ่ม BRICS ได้สื่อออกมาชัดเจนว่าเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจโลก
แม้ว่ากลุ่ม BRICSในตอนนี้จะมีเคื่อข่ายสถิตอยู่ในทุกทวีปทั่วโลก
และมีขนาดของส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจโลกที่ใหญ่โตในทุกๆด้าน
แต่ความใหญ่โตในเชิงปริมาณนี้ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันถึงความสำเร็จในเวทีโลกของกลุ่มนี้
เพราะแท้จริงแล้วกลุ่ม BRICS เองยังไม่มีความครอบคลุมที่เพียงพอในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายได้ในแง่ของทั้งขั้วอำนาจใหม่และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ซึ่งจากจุดยืน 3 ข้อของทางกลุ่มนี้เห็นได้ชัดว่ามีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับประเทศอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งนั่นก็คือ
“โลกมุสลิม” ซึ่งมีทั้งพลังเศรษฐกิจ การเงิน ประชากร
และทรัพยากรที่สำคัญต่อโลกทั้งสิ้น
หากมองในแง่ของการแก้ปัญหาระบบการเงินโลกแล้ว
ประเทศจากโลกมุสลิมนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของสมการระบบการเงินโลกเพราะเงินจากการส่งออกน้ำมันหรือ
“เปโตรดอลลาร์”
ถือเป็นเส้นเลือดสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯและยุโรปเอาไว้
ขณะเดียวกันประเทศจากโลกมุสลิมก็เป็นผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ของโลกด้วยซึ่งถือเป็นเหยื่อโดยตรงของวิกฤตอาหารที่ผ่านมาจนลามไปสู่วิกฤตการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
แต่ในแง่ของโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมต่างๆทั้งโลหะและอโลหะนั้นก็ล้วนอุดมในประเทศมุสลิมทั้งสิ้น
หาก BRICS สามารถจับมือกับโลกอิสลามได้จริงๆ BRICS ก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ของการเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างแท้จริง
กลุ่ม BRICS ทีมีชาติมหาอำนาจจากฝั่งอิสลามรวมเข้าไปด้วยนั้นสามารถดำเนินกระบวนการลดการพึ่งพาและอิทธิพลเงินดอลลาร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศอย่างจีนและอินเดียนั้นล้วนเป็นผู้บริโภคโภคภัณฑ์และพลังงานรายใหญ่ของโลกทั้งสิ้น
ซึ่งในส่วนของน้ำมันนั้นอาจทำได้ค่อนข้างยากหากจะยกเลิกระบบการค้าแบบดอลลาร์ในทันทีทันใด
แต่ด้วยข้อริเริ่มด้านความร่วมมือในระบบธนาคารหรือInter-Bank
Union ภายในกลุ่มเองก็ย่อมเป็นการกรุยทางไปสู่การสร้างความสะดวกในการชำระและเงินเคลื่อนย้ายเงินผ่านแดนในกลุ่มเองให้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้หากระบบการค้าและธนาคารภายในกลุ่มเองมีปริมาณธุรกรรมที่สูงขึ้นและมีแนวทางที่ชัดเจน
กลุ่ม BRICS ที่พ่วงอิสลามนี้ก็จะสามารถค่อยๆขยายกรอบไปถึงเรื่องระบบอัตราแลกเปลี่ยน
(ซึ่งตอนนี้จีนและรัสเซียเปิดให้หยวนและรูเบิ้ลซื้อขายโดยตรงแล้ว)
และอาศัยข้อได้เปรียบในแง่ภูมิศาสตร์และประชากรขยายโครงสร้างทางการค้าและการเงินภายในกลุ่มเองให้ประเทศอื่นๆเข้ามาสู่กรอบนี้ได้มากขึ้นและนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่กลุ่มจำต้องมีชาติอิสลามเป็นสมาชิกด้วย
นอกจากนั้นแล้วการมีโลกอิสลามอยู่ในกลุ่มนั้นยังช่วยให้กลุ่มBRICSจัดการกับปัญหาในตลาดทรัพยากรได้ง่ายขึ้นเพราะประเทศโลกมุสลิมทั่วโลกนั้นล้วนเป็นผู้ผลิตโภคภัณฑ์สำคัญๆทั้งสิ้น
และยิ่งภายในกลุ่มเองมีประเทศอย่างบราซิล แอฟริกาใต้
และรัสเซียอยู่ในกลุ่มอยู่แล้วก็ยิ่งทำให้กลุ่มเองมีอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
ลดผลกระทบจากการเก็งกำไร และสร้างความคล่องตัวในระบบการค้า
แต่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ต้องตระหนักก็คือ
ประเทศใดที่สมควรเป็นตัวแทนของโลกมุสลิมในกลุ่ม BRICS นี้ เพราะในโลกมุสลิมเองก็มีความแตกต่างกันและยังขาดเอกภาพในหลายๆเรื่อง
ซึ่งหากกลุ่ม BRICS ต้องการมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาระบบการเงินโลก
ประเทศอย่างซาอุดิอาระเบียก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดเพราะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกซึ่งนั่นหมายถึงซาอุดิอาระเบียอยู่ในฐานะของแกนกลางในระบบเปโตรดอลลาร์
อีกทั้งยังได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากวิกฤตอาหาร แต่ปัญหาสำคัญก็คือ
การเข้ามาของซาอุดิอาระเบียอาจสร้างความแตกแยกในกลุ่มได้เพราะซาอุดิอาระเบียเองนั้นมีจุดยืนด้านความมั่นคงและการต่างประเทศที่อิงสหรัฐฯอย่างชัดเจน
ซาอุดิอาระเบียและชาติอาหรับในกลุ่ม GCC เองก็ระบุชัดเจนถึงจุดยืนในการอิงเงินดอลลาร์ต่อไป
ทำให้ในที่สุดแล้วซาอุดิอาระเบียไม่มีแรงจูงใจที่จะช่วยผลักดันการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างที่ทางกลุ่มคาดหมายเอาไว้
หากมองในแง่ของเศรษฐกิจและการขยายอิทธิพลทางด้านการเมืองและความมั่นคงแล้วประเทศที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ
ตุรกี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมุสลิมและมีฐานประชากรไม่เล็กเกินไปแบบแอฟริกาใต้
ตุรกีพยายามแสดงบทบาททางสำคัญการเมืองในกิจการของโลกอิสลามและยุโรปอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจตุรกีเองถือว่าเติบโตได้มาตรฐานกลถ่ม BRICS เลยคือ
ในระดับไม่ต่ำกว่า 7-8% ต่อปี แต่อย่างไรก็ตามประเทศตุรกีเองก็ไม่มีฐานด้านทรัพยากรที่ใหญ่โตมากนัก
อีกทั้งหากเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่ม BRICS แล้วสุขภาพทางการเงินของตุรกีในแง่ของทุนสำรองและดุลการค้านั้นยังอยึ่ในเกณฑ์ที่ไม่ดีนัก
แม้ว่าจะปลดหนี้จากไอเอ็มเอฟไปแล้วก็ตาม อีกทั้งตุรกีเองไม่มีความสนใจในการปฏิรูประบบการเงิน
ตัวเลือกสุดท้ายที่อาจมีความสมดุลที่สุดในหลายๆด้านก็คือ
อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน
เป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุด เป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ในโลกอิสลาม
และเมื่อเทียบกับซาอุดิอาระเบียและตุรกีแล้ว อินโดนีเซียไม่มีความขัดแย้งกับประเทศในขั้วของอิสลามเองรวมถึงจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อประเด็นที่อ่อนไหวในโลกอาหรับ
อีกทั้งอินโดนีเซียเองมีระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับความเชื่อถือและคำชมจากนานาชาติไม่น้อยไปกว่าตุรกี
อินโดนีเซียเองมีฐานทรัพยากรที่มากมายและเศรษฐกิจที่เติบโตสูงเช่นกัน
ประเทศอินโดนีเซียเองยังได้รับผลกระทบจากปัญหาในตลาดโภคภัณฑ์และกังวลต่อความผันผวนในระบบการเงินด้วยเช่นเดียวกับBRICSดังนั้นหากเทียบกับตุรกีหรือซาอุดิอาระเบียแล้ว
อินโดนีเซียจะมีความกระตือรือร้นในการปฏิรูประบบการเงินและร่วมมือกับกลุ่ม BRICSในเรื่องอื่นๆมากกว่า
ดังนั้นแล้วอินโดนีเซียจึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุดในการเติมเต็มกลุ่ม BRICSในฐานะตัวแทนโลกมุสลิมให้มีความครบเครื่องมากขึ้น
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1957 ครั้ง