รูปภาพ : นายโจว เสี่ยวชวนผู้ว่การธนาคารกลางของจีน
ที่มา : Bloomberg
จีนจำเป็นต้องลดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเนื่องจากทุนสำรองที่มีอยู่นั้นมากเกินระดับที่ประเทศต้องการ นายโจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารประชาชนแห่งจีนหรือ People’s Bank of China (PBOC) ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศ
การบริหารจัดการและการกระจายการถือครองทุนสำรองซึ่งขณะนี้่ทะลุ 3 ล้านล้านดอลลาร์ไปแล้ว ณ สิ้นเดือนมีนาคมควรมีการปรับปรุง นายโจวกล่าวหลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยซิงหัวในนครปักกิ่งวานนี้ (จันทร์ที่ 18 เมษายน 2011) การพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของทุนสำรองกำลังสร้างแรงกดดันต่อมาตรการดูดสภาพคล่องออกจากระบบ (Sterilization Operation) ของธนาคารกลางจีน นายโจวระบุ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนพุ่งขึ้นกว่า 197,000 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปี 2011 สะท้อนถึงความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกซึ่งรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G20 ได้ตกลงกันในสัปดาห์ที่แล้วว่าจะแก้ปัญหานี้ผ่านการตรวจสอบนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในเชิงลึก การพุ่งพรวดของทุนสำรองจีนกำลังเร่งการก่อตัวของเงินเฟ้อซึ่งพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 32 เดือนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องสั่งให้ธนาคารต่างๆเพิ่มการกันสำรองเงินสดตามกฎหมายเป็นครั้งที่ 4 ของปี 2011 ในสัปดาห์นี้
“ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศยังคงล้นเกินระดับที่เราต้องการจริงๆอยู่” นายโจวกล่าว “การพ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของทุนสำรองอาจนำไปสู่สภาพคล่องที่ล้นเกินและสร้างความกดดันอย่างมีนัยสำคัญต่อมาตรการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ หากรัฐบาลไม่วางสมดุลในทุนสำรองกับนโยบายของภาครัฐให้ดี การเร่งสร้างทุนสำรองอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงใหญ่หลวงได้” นายโจวกล่าวโดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
เศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกเติบโต 9.7% ในไตรมาสแรกของปี 2011 ซึ่งมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ และดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นตัววัดอัตราเงินเฟ้อทะยานไปอยู่ที่ระดับ 5.4% ในเดือนมีนาคม รัฐบาลจีนแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
การปล่อยกู้ยังร้อนแรง
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนพุ่งขึ้นในปริมาณที่มากเป็นอันดับที่ 2 นับแต่ที่เคยเก็บสถิติมาในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แม้ว่าจีนจะมีการขาดดดุลการค้าในไตรมาสแรกของปีนี้ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่จีนมีการขาดดุลการค้าทั้งไตรมาส บรรดานักเศรษฐศาสตร์มองว่าการพุ่งขึ้นโดยมากของทุนสำรองมาจากเงินทุนไหลเข้าซึ่งเก็งกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวน
เงินทุนเหล่านี้ได้เพิ่มสภาพคล่องเข้าท่วมระบบเศรษฐกิจจีนในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากทางการจีนได้กระตุ้นการบูมครั้งใหญ่ของการปล่อยสินเชื่อเพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตการเงินโลก
นายโจวกล่าวว่า การไหลเข้าของเงินทุนเก็งกำไรเหล่านี้ไม่มช่ความกังวลหลักของจีนโดยให้เหตุผลว่า จีนเป็นเศรษฐกิจขนาใหญ่ซึ่งยังดำรงมาตรการการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุนเพื่อจุดประสงค์ในการลงทุนอยู่ อย่างไรก็ตามสภาพคล่องที่มีอยู่นั้นก็ยังคงล้นเกินและรัฐบาลจำเป็นต้อง “เฝ้าระวัง” ตลาดอสังหาริมทรัพย์และดำเนินมาตรการในลักษณะ “สวนวัฏจักร” (Counter-cyclical) เศรษฐกิจเพื่อควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งขึ้นอย่างมากมาย นายโจวระบุ
การกระจายทุนสำรองของประเทศผ่านหน่วยงานการลงทุนเช่น China Investment Corporation (CIC) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีนถือเป็นสิ่งที่สมควรพิจารณา นายโจวกล่าว โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า CIC จะได้รับเงินทุนเพิ่มเติมจากทุนสำรองของจีนหรือไม่
มุมมองที่เป็น “ลบ”
ด้านนาย Lou Jiwei ประธานกรรมการของกองทุน CIC กล่าวว่า กองทุน CIC อาจได้รับเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อลงทุนในตลาดต่างประเทศ วิทยุแห่งชาติจีน (China National Radio) รายงานเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา
“ทางเลือกหนึ่งก็คือ การพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานลงทุนชนิดใหม่ขึ้นใหม่จำนวนหนึ่งซึ่งจะมุ่งเน้นไปยังพื้นที่การลงทุนใหม่ๆ” นายโจวกล่าว “มันไม่เหมาะสมสำหรับผมที่จะออกมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นต่อไปของแผน แต่ทิศทางนั้นชัดเจน”
ด้านฟิทช์ เรตติ้งส์ ได้ปรับลดมุมมองต่อตราสารหนี้ที่ออกเป็นสกุลเงินในประเทศของจีนซึ่งอยู่ที่ระดับ AA มาอยู่ที่ลบจากระดับมีเสถียรภาพในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่อันดับความน่าเชื่อถือของจีนถูกปรับลด ฟิทช์กล่าวว่า ตอนนี้มี “ความเป็นไปได้สูงของการถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ” ของคุณภาพของสินทรัพย์ในระบบธนาคารของจีนหลังจากการพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ของการปล่อยสินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ด้านมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ก็ได้ปรับลดมุมมองของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จีนมาเป็นลบจากระดับมีเสถียรภาพด้วยภายใต้ความกังวลเรื่องยอดขายที่อยู่อาศัยซึ่งอาจหดตัวลงถึง 30% หากว่ารัฐบาลท้องถิ่นบังคับใช้มาตรการควบคุมการสร้างบ้าน
พันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น
“อันดับความน่าเชื่อถือที่ให้โดยบริษัทจัดอันดับระหว่างประเทศไม่ควรนำมาใส่ใจจนเกินไป” นายโจวกล่าว “พวกเขาอาจมีข้อมูลภายในเกี่ยวกับโครงการและบริษัทต่างๆแต่มันยากสำหรับผมที่จะวิจารณ์ถึงเรตติ้งของประเทศที่พวกเขาให้” นายโจวกล่าวตอบคำถามเกี่ยวกับการทบทวนเรตติ้งที่เกิดขึ้น
สินเชื่อที่ปล่อยให้กับบริษัทต่างๆและภาคครัวเรือนในจีนพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ราว 140% ของ GDP ของประเทศในปีที่แล้วจากระดับ 118% ของจีดีพีในปี 2008 ฟิทช์กล่าว โดยการพุ่งขึ้นส่วนมากนั้นเชื่อมโยงกับการปล่อยกู้ให้ภาคอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อของหน่วยงานปล่อยกู้ (Financing Vehicles) ของรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ออกพันธบัตร
นายโจวกล่าวอีกว่า การอนญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรซึ่งการชำระคืนเงินส่วนหนึ่งจะมาจากภาษีอสังหาริมิทรัพย์นั้น เป็นหัวข้อซึ่ง “สมควรได้รับการถกเถียง” แม้ว่าการดำเนินการเช่นนั้นจะต้องมีการแก้กฎหมายก็ตาม
เขายังเสริมอีกว่า ความสามารถของตลาดการเงินในประเทศที่เพียงพอในกระบวนการกำหนดราคาก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษาด้วย
ที่มา Bloomberg
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday