มุคตาร์ มาอี (คนขวา) ร่วมกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนประท้วงคำสั่งศาล
วันที่ 25 เม.ย.ว่า ศาลสูงปากีสถานได้ปฎิเสธที่พลิกคำตัดสินการขออุทธรณ์คดีมุคตรัน มัย หญิงสาวผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งเผชิญชะตากรรมถูกรุมข่มขืนตามคำสั่งของสภาหมู่บ้าน เพื่อเป็นการลงโทษแก้แค้นความผิดของน้องชายเธอที่ก่อคดีข่มขืนหญิงอื่น โดยศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกตลอดชีวิต คนร้ายคนหนุ่ง แต่ให้ปล่อยตัวคนร้าย 5 รายที่ร่วมกันข่มขืนนางมัย ด้วยข้ออ้างกันกับศาลอุทธรณ์
นางมัย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินของศาลสูง และระบุว่า เธอจะไม่เชื่อศาลใด ๆ ในปากีสถานอีกต่อไปแล้ว แต่จะปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปตามความเมตตาของพระอัลเลาะห์
คดีนางมัย ถูกจับตามองอย่างมากจากตะวันตกในฐานะตัวอย่างของการกดขี่ต่อหญิงปากีสถาน โดยมีกลุ่มพิทักษ์สิทธิสตรีปากีสถานซึ่งเป็นชายและหญิงกว่า 100 คน จัดการชุมนุมประท้วงในเมืองมุลตัน ภายหลังศาลมีคำตัดสินปฎิเสธการพลิกคำตัดสิน
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า มีผู้หญิงปากีสถานนับพันชีวิตเผชิญชะตากรรมถูกข่มขืนในช่วงปี 2010 และมีผู้หญิงกว่า 2,000 คน ถูกลักพาตัวและเกือบ 1,500 คน ถูกฆาตกรรม โดยจำนวนนี้ 500 รายยังเป็นเหยื่อการถูกข่มขืนแทนความผิดผู้อื่นเช่น สามีและญาติสนิทด้วย
คดีของนางมุคตรัน มัย ได้รับโทษแทนน้องชายชายวัย 12 ที่ถูกกล่าวหาไปสัมพันธ์กับหญิงสูงศักดิ์ โดยสภาหมู่บ้านแห่งหนึ่งตัดสินให้ ผู้ชายในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งไปรุมข่มขืน เป็นคดีที่ส่งผลสะเทือนและสร้างความเสื่อมเสียให้กับปากีสถานในระดับนานาชาติในความโหดร้ายที่เกิดกับผู้หญิง การไร้ความเป็นธรรมและการละเมิดสิทธิ์สตรีอย่างร้ายแรง แม้ศาลชั้นต้นได้สั่งตัดสินประหารชีวิตผู้ร่วมก่อคดีในตอนแรก แต่ศาลอุทธรณ์ก็ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยเหล่านั้น
คดีเกิดขึ้นในหมู่บ้านเมียร์วาลา ในแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2545 มุคตรัน มัย ปัจจุบันอายุ 30 ปี ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้ถูกคำสั่งของสภาหมู่บ้านให้ไปรับโทษแทนน้อยชายวัย 12 ที่ถูกกล่าวหาว่าไปมีสัมพันธ์กับหญิงที่สูงศักดิ์และร่ำรวยกว่าและเป็นลูกของผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง โดยให้ผู้ชายกลุ่มหนึ่งเข้าไปข่มขืนเธอเป็นการลงโทษ ทั้งนี้คนในครอบครัวของมัย กล่าวว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้เป็นการสร้างเรื่องเพื่อกลบเกลื่อนเรื่องน้องชายของเธอไปเห็นการคุกคามทางเพศเด็กชายโดยผู้ชายจำนวนหนึ่ง
คดีข่มขืนในปากีสถาน ส่วนใหญ่ผู้หญิงไม่กล้าออกมาต่อสู้ แต่นางมัย กล้าเผชิญหน้ากับสาธารณะจึงได้ดึงดูดความสนใจให้สื่อนานาชาติได้กระจายข่าวเรื่องอาชญากรรมในผู้หญิงในประเทศปากีสถาน ดังนั้นในการขึ้นศาลครั้งแรกของเธอนั้น ศาลชั้นต้นได้ตัดสินประหารชีวิตผู้ชาย 6 คนที่มีส่วนร่วมในการข่มขืนมัยและปล่อยตัวไป 8 คน
กระนั้นต่อมาทางศาลอุทธรณ์ ที่ลาฮอร์ ก็ได้ตัดสินเป็นตรงกันข้ามโดยปล่อยตัวชาย 5 คนออกมาโดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นลดโทษเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งล่าสุด เธอต้องผิดหวังอีกครั้งจากคำตัดสินของศาลฎีกา
ในรัฐบาลเพอเวซ มูชาราฟ ประธานาธิบดีปากีสถานในเวลานั้น ได้สั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศเมื่อเธอต้องการจะเดินทางไปที่อเมริกา เนื่องจากหวั่นเกรงว่า เรื่องของเธอจะแพร่ขยายออกไปมากขึ้นและจะทำให้ปากีสถานเสื่อมเสียชื่อเสียงมากขึ้น แต่ในที่สุดทางปากีสถานก็ยอมยกเลิกคำสั่งนั้นเมื่อสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รู้สึกหมดหวังกับปากีสถานและ คอนโดลิซ่า ไรซ์ ก็ได้ขอร้องกับรัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถานเป็นการส่วนตัว ในที่สุดมัยก็ได้หนังสือเดินทางที่ถูกรัฐบาลยึดไว้กลับคืนม
อย่างไรก็ตาม แม้ชาวปากีสถาน ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่บางแห่งยังมีกฎระเบียบของชนเผ่าครอบคลุมอยู่ ทำให้หลักการอิสลาม ไม่ถูกนำมาใช้
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2769 ครั้ง