วันที่ 2 พ.ค.สถานการณ์ไทยกัมพูชาคืนที่ผ่านมามียิงกันประปรายจากหน่วยสอดแนมกัมพูชา โฆษกทัพภาค 2 แจงมนุษย์ลิงลม แค่ทหารตัวเล็ก หลบสายตาเร็ว ไม่มีไสยศาสตร์ โวยคนปล่อยข่าวขาดแคลนเสบียงหวังดิสเครดิต ส่งผลทหารอาจหมดกำลังใจ
พ.อ.ประวิทย์ หูแก้ว โฆษกกองทัพภาคที่สองได้ให้สัมภาษณ์รายการเรื่องเล่าเช้านี้ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ถึงสถานการณ์ไทย – กัมพูชา ในคืนที่ผ่านมาว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ใช่การปะทะกัน เหตุการณ์เกิดขึ้นเนื่องจากมีหน่วยสอดแนมกัมพูชาเข้ามาเมื่อเวลาประมาณ 22.00-23.00 น.ของวันที่ 1 พ.ค. และ 03.00-.4.00น.ของวันที่ 2 พ.ค. ทำให้มีการใช้ปืนเล็กยิงกันประประปราย แต่โดยรวมสถานการณ์ถือว่าเบาบางลงมากเป็นที่น่าพอใจ
วานนี้มีการเจรจาหารือในระดับพื้นที่โดยฝั่งไทยมีเสนาธิการของกองกำลังสุรนารี ได้นำ ผบ.กองพัน ผู้บ.กองร้อย ไปพบปะกับทหารกัมพูชาในระดับพื้นที่ เพื่อทำให้การเจรจาของผู้บังคับบัญชาทั้งสองประกาศเป็นจริงร้อยเปอร์เซนต์ และเมื่อดูท่าทีแล้วทุกหน่วยของกัมพูชาก็มีแนวโน้มว่าต้องการที่จะยุติปัญหา โดยมีข้อตกลงว่าจะจัดชุดประสานงานว่าหากเกิดเหตุอะไรจุดใดก็จะพากันไปดูว่าไม่มีการวางกำลังในพื้นที่ที่ตกลง
พ.อ.ประวิทย์กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่ระบุว่าทางกัมพูชาขอเข้ามาเก็บศพเนื่องจากมีทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้กระทบต่อขวัญกำลังใจว่า ยอมรับว่าจากการข่าวพบว่าการปะทะตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.เป็นต้นมาทางโน้นก็สูญเสียเยอะ แต่การหารือระดับพื้นที่วานนี้ยังไม่ได้พูดคุยเรื่องทางกัมพูชาขอนำศพออกไป เราพูดแค่ว่าทำอย่างไรให้การเลิกปะทะสัมฤทธิ์ผล 100%
ต่อข่าวลือเรื่องกัมพูชาใช้ไสยศาสตร์ มนุษย์ลิง ที่มีความรวดเร็วฆ่าไม่ตาย ลมมารบนั้น พ.อ.ประวิทย์กล่าวว่า ตนก็ได้ข่าวเช่นกัน แต่ตามที่มีประสบการณ์พบว่าทหารกัมพูชามีร่างกายเล็กกว่าคนไทย อาจจะคล่องแคล่ว พอเจอหลบได้เร็วก็มี ตนเคยออกยุทธการช่องบกก็เคยพบ เขาตัวเล็กหลบสายตาพวกเราได้อย่างรวดเร็ว จึงเปรียบเทียบเหมือนลิงลม
“ยืนยันว่าเราไม่ได้ขาดแคลนเสบียง เรามีอาหารสำรอง 5-10 วัน และยังแจกอาหารที่สามารถทานได้โดยไม่ต้องประกอบ ส่วน คนที่มาปล่อยข่าวนั้นอาจจะประสงค์ดี หรืออาจจะต้องการดิสเครดิตผู้บังคับบัญชา แต่หากเป็นอย่างนี้ทหารก็อาจจะหมดกำลังใจ”พ.อ.ประวิทย์กล่าว
สุเทพชี้เขมรไร้ระบบสั่งการ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ยังคงมีการยิงปะทะกันประปราย ขณะเดียวกันกัมพูชาก็ขอเจรจา มองว่าเป็นแผนอะไรหรือไม่ว่า เราก็ติดตามดูว่าเขาตั้งใจจะทำอะไร ซึ่งวันที่ 7 พ.ค.นายกรัฐมนตรีของไทยและกัมพูชาก็จะได้พบกันในการประชุมอาเซียนอยู่แล้ว ถึงวันนั้นก็จะได้ดูและประเมินให้ชัด ไม่ว่ากัมพูชาจะดำเนินการอย่างไรเราก็มีความพร้อมสำหรับการควบคุมสถานการณ์ที่ชายแดน ปกป้องประชาชนและอธิปไตยของเรา ยืนยันว่าที่ผ่านมาเราทำได้ดี กองทัพไทยมีความพร้อมมาก
ผู้สื่อข่าวถามว่ากองทัพมีอุปกรณ์ใหม่ ๆ มากมาย ไม่เห็นเอามาใช้ เช่นรถถัง รถหุ้มเกราะยูเครน ไม่นำมาโชว์สมรรถนะเลย รองนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ได้ลงไปดูว่าเขาใช้อะไรบ้าง ไม่ได้ใช้อะไรบ้าง เรียกไม่ค่อยถูก ไม่มีความรู้เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์หรือยุทธวิธีในการรบ แต่เท่าที่ติดตามมา ดูสถานการณ์และพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาทางฝ่ายทหารทุกระดับตั้งแต่รมว.กลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก เชื่อมั่นว่ากองกำลังของเรามีขีดความสามารถเหลือเฟือ เพียงพอที่จะปกป้องอธิปไตยของประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่าสามารถผลักดันทหารกัมพูชาออกจาก 2 ปราสาทได้หมดหรือยัง รองนายกฯ กล่าวว่า เอาเป็นว่าไม่ให้ทหารกัมพูชามาอยู่ในที่ที่เราถือว่าเป็นของเรา เมื่อถามย้ำว่ารวมถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรด้วยหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ในพื้นที่ 4.6 นั้นยังมีเรื่องของประชาชน เรื่องของทหารกัมพูชาที่เดินเข้าออก หรือผ่านไปมาอยู่ ยังไม่ชัดเจน แต่ไม่ให้ทหารเขามาตั้งเป็นฐานที่มั่น เท่าที่ทราบกัมพูชา มีความระส่ำระสายนิดหน่อย ไม่ค่อยแน่ใจว่าระบบเขาเป็นอย่างไรในขณะนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าล่าสุดมีข่าวว่ทางกัมพูชาชาถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทตาควายแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงต้องให้โฆษกกองทัพบกเป็นผู้แถลงจะได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตามในส่วนของการทำบังเกอร์ให้ทหาร หรือหลุมหลบภัยให้ประชาชนในพื้นที่นั้นกำลังลงมือทำอย่างเร่งรีบและคิดว่าจะเสร็จในเร็ว ๆ นี้ ส่วนบังเกอร์ของทหารเขาดำเนินการเอง
สั่งเตรียมพร้อมหลังพบเขมรเคลื่อนกำลัง
ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายหลังเดินทางกลับจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อกลางดึกของวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา วันนี้ พล.อ.ประวิตร ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ยังมีการปะทะกันของไทยและกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง และได้ให้ฝ่ายยุทธการของกองทัพบกสรุปสถานการณ์เหตุการณ์ที่ผ่านมาให้รับทราบ นอกจากนี้ยังได้กำชับให้ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ติดตามสถานการณ์ และเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพราะยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ในพื้นที่ แม้ว่าการการปะทะจะเบาบางลงก็ตาม
ทั้งนี้แหล่งข่าวด้านความมั่นคงในพื้นที่เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กำชับให้แม่ทัพภาคที่ 2 ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานแนวหน้าเฝ้าติดตาม พร้อมกับให้ประสานงานกับผู้บังคับบัญชาของกัมพูชาในเรื่องการหยุดยิง ซึ่งขณะนี้รมว.กลาโหมของไทยก็ได้พยายามติดต่อประสานงานกับ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหมของกัมพูชา ที่จะนัดพูดคุยตกลงการหยุดยิง และเดินหน้าในการจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือ จีบีซี เพราะ พล.อ.ประวิตร ไม่อยากให้สถานการณ์การสู้รบยืดเยื้อ เพราะจะส่งผลกระทบกับประชาชนทั้งสองประเทศ
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงระบุว่า ขณะนี้กัมพูชาได้เคลื่อนกำลังพลตลอดเวลา โดยเฉพาะการเคลื่อนกำลังพลมาสนับสนุนกำลังพลเดิมที่เป็นอดีตเขมรแดงซึ่งประจำการที่บริเวณปราสาทตาควาย และ ปราสาทตาเมือนธม เพื่อหวังที่จะโจมตีกำลังทหารไทยที่ขณะนี้ยังสามารถควบคุมพื้นที่ทั้งสองแห่งได้อยู่ จึงทำให้กองกำลังทหารกัมพูชา พยายามที่จะโจมตีเพื่อยึดฐานทหารไทยตรงนั้นได้ ที่สำคัญการที่กองทัพกัมพูชานำกำลังเข้ามาเสริมในพื้นที่เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์โดยเฉพาะหวั่นว่ากำลังพลซึ่งเป็นอดีตทหารเขมรแดงจะไม่สู้รบกับกำลังทหารไทย หลังจากมีข่าวว่ากองทัพกัมพูชาได้จับตัวลูกเมียไว้เป็นตัวประกัน
รายงานข่าวจากกองทัพบก เปิดเผยว่า หลังจากที่กองทัพกัมพูชามีการเคลื่อนย้ายกำลังมาอยู่บริเวณปราสาทตาควาย และ ปราสาทตาเมือนธม อีกหลายกองพัน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการให้ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 เฝ้าระวังเหตุการณ์ในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้มีการสั่งเตรียมกำลังเสริมจากกองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 3 เพื่อมาเสริมกำลังทหารหลักในพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 2 สำหรับกำลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งเตรียมพร้อมไว้ ประกอบด้วย กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร. 31 รอ.) หรือ อาร์ดีเอฟ จากกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วที่มีศักยภาพสูง รวมถึงอาวุธที่มีความทันสมัยมีความคล่องตัวในการทำงาน นอกจากนี้ยังได้เตรียมกำลังจากจากกองทัพภาคที่ 3 โดยมีการสนธิกำลังจาก กองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร. 4 ) จำนวน 1 กองพัน ทั้งนี้หาก พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้ปฏิบัติการ ทางกองทัพภาคที่ 1 และ กองทัพภาคที่ 3 ก็พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจในการเข้าไปเสริมกำลังของกองทัพภาคที่ 2 ทันที
ปิดศัยภาพทางทหารเขมรแดง
แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงของไทย ยืนยันว่า อาวุธของกัมพูชามีจำนวนน้อย และประสิทธิภาพไม่รุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับอาวุธของทหารไทย ทั้งนี้ เขี้ยวเล็บหลักๆ ประจำกายของทหารกัมพูชา จะเป็นพวกปืนเล็กยาวและอาวุธเบาประเภทอาร์พีจี ทั้งนี้เนื่องจากอาวุธเบาประเภทนี้เหมาะกับการใช้ในภูมิประเภทแบบกัมพูชาที่เป็นพื้นที่ป่า
ด้าน “ขุมกำลังทหาร” ของเหล่าทัพทั้ง 3 เหล่าทัพของกัมพูชานั้น “กองทัพบก” กัมพูชาจะมีบทบาทสำคัญที่สุด จะประกอบด้วย กรมทหารราบ 9 กรม กองพันยานเกราะ 3 กองพัน กรมทหารช่าง 4 กรม และ กองพลน้อยต่อต้านการก่อการร้าย 3 กองพล รวมกำลังทหาร 1.24 แสนนาย ใช้งบประมาณกลาโหม 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ส่วน “อาวุธ-ยุทโธปกรณ์” ของกองทัพกัมพูชาส่วนใหญ่ เดิมจะเป็นอาวุธจากค่ายสังคมนิยมเดิมอย่างรัสเซียและจีน ที่ใช้ในยุคสงครามเย็น และสงครามกลางเมือง ปัจจุบันก็มีอาวุธใหม่ๆ หลายรายการที่ได้รับความช่วยเหลือมาจากจีน สหหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ทั้งนี้ อาวุธหลักของกองทัพบกกัมพูชาประกอบไปด้วยรถถังประมาณ 400 คัน ได้แก่ “รถถังหลัก T-55” จากรัสเซียประมาณ 100 คัน “รถถังหลัก Type-59” จากจีนประมาณ 200 คัน “รถถังเบา PT-76” จากรัสเซีย “รถถังเบา Type-62/63” จากจีน และ “รถถังเบา AMX-13” จากฝรั่งเศสประมาณ 50 คัน
และรถเกราะเกือบ 300 คัน ได้แก่ “รถเกราะ รถรบทหารราบ BMP-1” จากรัสเซีย 10 คัน “รถเกราะสายพาน M 113A1/A3” จากสหรัฐ 20 คัน “รถเกราะล้อยาง BTR-60” จากรัสเซีย 120 คัน “รถเกราะล้อยาง BTR-152” จากรัสเซีย 100 คัน และ “รถเกราะล้อยาง OT-64” จากโปแลนด์ 26 คัน
สำหรับ “อาวุธ” ที่น่าสะพรึงกลัว มีศักยภาพทำลายล้างสูง สามารถสร้างความเสียหายให้ฝ่ายตรงข้ามคงเป็น “ปืนใหญ่” จาก กองทัพบกกัมพูชา มีปืนใหญ่ที่ประจำการอยู่หลายรายการ ได้แก่ ปืนใหญ่ขนาด 105 มม. แบบ M 101 ปืนใหญ่ขนาด 155 มม. แบบ M 114 จากสหรัฐ หรือปืนใหญ่สนามขนาด 130 มม. แบบ M 1954 และปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 152 มม. แบบ M 1955
ด้าน กองทัพเรือกัมพูชา จะมีกองเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง (Green Navy) เป็นเรือตรวจการณ์ลำน้ำชั้น Kaoh 2 ลำ และเรือเร็วโจมตี (ปืน) อีก 2 ลำ และในปี 2548 รัฐบาลจีนได้บริจาคเรือตรวจการณ์ขนาด 46 เมตร 4 ลำ เรือตรวจการณ์ขนาด 20 เมตร 3 ลำ และเรือลำเลียงสัมภาระอีก 1 ลำให้กองทัพเรือกัมพูชาเพื่อช่วยเหลือในการป้องกันการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล และลาดตระเวนปราบโจรสลัด
ส่วน กองทัพอากาศกัมพูชา มีฐานบินอยู่สองฐานคือ ฐานทัพอากาศพระตะบองและฐานทัพอากาศพนมเปญ แต่มีเครื่องบินประจำการที่ฐานทัพอากาศพนมเปญเพียงที่เดียว โดยมีเครื่องบินขับไล่ MiG-21 Bis และ MiG-21UM จากรัสเซียอย่างละ 1 ลำ ปัจจุบันบินไม่ได้ เครื่องบินขับไล่ฝึก L-39C จากสาธารณรัฐเช็ก 6 ลำ เครื่องบินลำเลียง Y-12 จากจีน 2 ลำ เครื่องบินลำเลียง An-24RV จากรัสเซีย 2 ลำ เครื่องบินลำเลียงเบา BN-2A Islander จากอังกฤษ 2 ลำ เครื่องบินรับส่งบุคคลสำคัญ Falcon 20E จากฝรั่งเศส 1 ลำ เฮลิคอปเตอร์ AS350 Ecureuil 2 ลำ เฮลิคอปเตอร์ SA365 Dauphin 1 ลำ เฮลิคอปเตอร์ Mi-8/Mi-17 อีก 6 ลำ เฮลิคอปเตอร์ Mi-26 รวม 2 ลำ
แม้จะดูเหมือนว่ากองทัพกัมพูชามีอาวุธ-ยุทโธปกรณ์มือสองที่ได้รับมรดกมาจากประเทศมหาสงครามเสียส่วนใหญ่ แต่เมื่อปลายปี 2553 กองพลน้อยที่ 70 กัมพูชา สวนสนาม มีโชว์อาวุธใหม่ๆ ณ ชานกรุงพนมเปญ อาทิ “Type 59” และ “T-54/55” ที่พัฒนามาจาก USSR ซึ่งเป็นรถถังของรัสเซีย จึงคาดว่ากองทัพบกกัมพูชา มี Type 59 และ T-54/55 มากกว่า 350 คัน นอกจากนี้กัมพูชายังพัฒนา BM 21 เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง ขนาด 122 มม. ติดตั้งบนรถบรรทุก Ural-375D รวมทุกขนาด ทั้ง BM-13, BM-14, Type 63 ซึ่งกองทัพกัมพูชาน่าจะมีในครอบครองกว่า 2 หมื่นลูก และล่าสุดได้นำ FN-6 หรือ FeiNu-6 ขีปนาวุธนำวิถี พื้นสู่อากาศ 80 มม. จากจีนติดตั้งแท่นคู่บนรถจี๊ปเล็ก เคลื่อนที่เร็วเอาไว้ยิงเครื่องบินไอพ่นและอากาศยานทุกลำที่ล่วงละเมิดน่านฟ้าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การสู้รบที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนครั้งล่าสุดนี้ กองทัพกัมพูชาใช้อาวุธหนักเพียง BM 21, RPG ปืนใหญ่ขนาด 105 มม. นอกจากนั้นจะใช้เป็นปืนประจำตัวและระเบิดขว้างเพียงเท่านั้น โดยแหล่งข่าวด้านความมั่นคง ประเมินถึงขุมกำลังของกองทัพกัมพูชาขณะนี้ ยังไม่สามารถทัดเทียมกับกองทัพไทย แต่กองทัพกัมพูชาเลือกใช้วิธีการสู้รบแบบก่อกวนยั่วยุให้กองทัพไทย ใช้อาวุธหนัก เพื่อต้องการดึงสถานการณ์ให้บานปลายไปสู่การเจรจาบนเวทีโลกนั่นเอง!!
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1493 ครั้ง