การต่อสู้ทางการเมืองที่เขม็งเกลียว
หลังรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ปฏิเสธเงื่อนไข “ยุบสภา” ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง ส่งผลให้ม็อบเร่งเกมกดดันรัฐบาลด้วยรูปแบบวิธีที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่สถานการณ์ทำท่าจะดิ่งลงเหว หลายฝ่ายเสนอแนวทางสันติวิธีหาทางออกให้กับปัญหาบ้านเมือง แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญล้วนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือไม่ก็ระยะยาวเกินกว่าจะเป็นไปได้ในตอนนี้
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สะท้อนรากลึกถึงแก่นของปัญหา พร้อมระบุว่า การปรับเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดของรัฐบาลที่มีต่อม็อบ จะช่วยฝ่าทางตันได้
วิเคราะห์ท่าทีรัฐบาลต่อข้อเสนอของคนเสื้อแดง
ข้อเสนอของม็อบที่รัฐบาลแพ้ รัฐบาลย่อมไม่เอา ปัญหาใหญ่คือรัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอเสื้อแดงโดยที่ไม่ได้ตอบว่ารัฐบาลเกี่ยวพันกับประชาชน มวลชนเสื้อแดงเหล่านี้อย่างไร
รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ว่ามีที่มาจากประชาชนอย่างไร อ้างแต่ที่มาตามกฎหมาย มาตามระบบสภา แต่อธิบายไม่ได้ว่านายกฯ เกี่ยว ข้องกับประชาชนบนถนนอย่างไร พูดแต่ว่าเป็นกลุ่มที่ชอบใช้ความรุนแรง
นายกฯ ทุกคนเป็นตัวแทนจากระบบตัวแทน แต่กลับอธิบายประเด็นนี้ไม่ได้
รัฐบาลระบุไม่มีเหตุผลต้องยุบสภา
ต้องยอมรับว่ารัฐบาลประสบปัญหาความชอบธรรม ที่อ้างว่าทุกอย่างวางไว้ที่กฎหมาย แต่อธิบายความเป็นตัวแทนไม่ได้ ชอบอธิบายแต่เรื่องความรุนแรง
ข้อเสนอการยุบสภา ผมมองว่าเบาที่สุดแล้วที่ไม่เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เสื้อแดงต้องการยืนยันว่าเสียงตัวเองถูกนับ เชื่อว่าชนะแต่ไม่ได้สิทธิ์ ขณะที่รัฐบาลอ้างว่ามาจากรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่เสียงข้างมาก ทำให้เสื้อแดงรู้สึกว่าเสียงของตัวเองไม่ถูกนับ
ส่วนจะไปเถียงว่าเสียงข้างมากมาถูกต้องหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง
มองการชุมนุมของคนเสื้อแดงอย่างไร
วันนี้อย่าคิดแทนม็อบว่าจะหาทางลงอย่างไร หรือถอยแล้วจะแพ้ ม็อบคือประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ใช่ไม่มีสิทธิ์ถอยหลัง อาจถอยไปอย่างมีความหมาย เพราะไม่ได้มาพลีชีพ กลับไปเพื่อเตรียมกดดันรัฐบาลต่อไป
เพียงแต่ม็อบต้องมีสติ ต้องรู้อะไรยั่วยุ อะไรจงใจใช้คำพูด
เหมือนกีฬาก็เป็นศึกสงครามเหมือนกัน หากคิดว่าการพูดรุนแรงแล้วต้องเกิดความรุนแรงตาม ต่อไปคงไม่ต้องเชียร์กีฬา
การชุมนุมเป็นอารยธรรม มีลีลาภาษา แต่ต้องไม่ให้เกิดความรุนแรงจริง
บางคำอาจแค่แซวกัน ไม่ได้ตั้งใจจะทำจริง
ทางลงคนเสื้อแดงเมื่อรัฐบาลไม่รับข้อเสนอ
เมื่อเสนอเงื่อนไขมาแล้วแต่รัฐบาลไม่ทำตาม เสื้อแดงอาจอยู่จนครบ 7 วัน แล้วค่อยว่ากันใหม่ อย่าเพิ่งไปกดดันม็อบ ผมเห็นตอนนี้กดดันม็อบแต่ไม่กดดันรัฐบาล บอกแต่เมื่อไหร่ม็อบจะกลับบ้าน
ขณะที่คำตอบของรัฐบาลห่วยมาก บอกว่าเงื่อนไขไม่พอให้ยุบสภา เสร็จแล้วก็กลับเข้าไปอยู่ในกองทหารเหมือนเดิม แต่ตอบหรืออธิบายไม่ได้ถึงการเป็นตัวแทนประชาชน
ตอนนี้ไม่มีใครกดดันรัฐบาล กดดันแต่ม็อบ ทำให้ภาพม็อบยิ่งแย่
ผมไปเดินดูเห็นชาวบ้านได้แต่นอนหมดแรงลิ้นห้อย ม็อบมาก็ผ่านกลไกเลือกตั้ง หัวคะแนนอำนวยความสะดวกมา ต้องพากลับอย่างปลอดภัย การเลือกตั้งไม่ใช่การแย่งชิงอำนาจ ชิงอาวุธ บ้านเรามีกฎกติกา
อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าใครพ่ายแพ้หรือชนะ ชาวบ้านมีความอดทนเหมือนกัน
ตอนนี้ข่าวสารส่วนใหญ่เป็นการคาดคะเนว่าจะเกิดความรุนแรง เหมือนข่าวสึนามิ แต่ไม่ได้สนใจข้อเรียกร้อง มองแต่คนมาชุมนุม พูดเหมือนว่าเป็นคลื่น จะรุนแรงไหม ป้องกันอย่างไรเท่านั้น
ทั้งที่พวกที่มาล้วนแต่เป็นคนทั้งนั้น
เสื้อแดงแตกคอกันเองมีผลต่อการชุมนุมแค่ไหน
ความขัดแย้งของแกนนำเสื้อแดงเพื่อทำให้เกิดสันติที่สุดในการชุมนุม ส่งผลไม่ให้เกิดความรุนแรง ความขัดแย้งเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการชุมนุม การเลือกตั้งเป็นยุทธวิธีที่ต้องการให้เกิดขึ้น เป็นสิทธิ์ที่เรียกร้องได้
มองทางออกครั้งนี้อย่างไร
นายกฯอภิสิทธิ์บอกไม่ได้ว่าคนที่ชุมนุมเป็นคนของนายกฯ บอกแต่ว่าผู้ชุมนุมมีสิทธิ์ชุมนุมได้ แต่บอกความสัมพันธ์ของนายกฯ กับผู้ชุมนุมไม่ได้ ส่วนเงื่อนไขของม็อบมีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย ทำให้คนเมืองที่ไม่ชอบทักษิณ ไม่ชอบม็อบด้วย
แต่ตอนนี้คนเริ่มไม่ชอบอภิสิทธิ์ เพียงแต่ยังหวาดกลัวทักษิณอยู่
การเจรจาเป็นทางออกได้หรือไม่
ปัญหาคือรัฐบาลมองม็อบไม่ได้มองว่าเป็นประชาชน การเจรจาที่ง่ายที่สุดคือการไปถามผู้ชุมนุมว่ามีปัญหาอะไร รัฐบาลตอบไม่ได้เพราะมองว่าประชาชนเหล่านี้ไม่ใช่ของตัวเอง แต่มาจากฝ่ายค้าน แล้วรัฐบาลมีผลงานอะไรที่น่าพึงใจ
รัฐบาลเลือกแล้วที่จะเป็นศัตรูกับผู้ชุมนุม คนที่มาชุมนุมก็มองรัฐบาลเป็นศัตรู ถ้ารัฐบาลจะปกครองต่อไป ต้องไปเรียนรู้วิธีคิดเหล่านี้ใหม่ อย่ามองม็อบเป็นศัตรู
รัฐบาลมองว่าไม่ชอบธรรมที่ผู้ชุมนุมจะมากดดันรัฐบาล แต่ผู้ชุมนุมชอบธรรมที่จะประท้วงได้ การเรียกร้องไม่ใช่ทางตันของม็อบ แต่เป็นทางตันของรัฐบาล
นายกฯ อภิสิทธิ์อ้างว่ามาจากสภาชุดเดียวกับ 2 รัฐบาลที่แล้ว เป็นปัญหาของอภิสิทธิ์ รัฐบาลอธิบายอะไรไม่ได้ ได้แต่กอดกฎหมายไว้ ตรรกะเดียวกับสมัยพล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯ ที่ต้องย้อนกลับไปเหมือนพฤษภาทมิฬ
พล.อ.สุจินดาก็ขึ้นมาไม่ผิดรัฐธรรมนูญ นักการเมืองอุ้มมาด้วยซ้ำ คนที่ออกมาขณะนั้นไม่ได้สู้บนฐานรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญให้พล.อ.สุจินดาขึ้น แต่รู้ว่ารัฐธรรมนูญมาจากรัฐประหาร
เหมือนกับกรณีอภิสิทธิ์ หากยังยืนยันอย่างนี้ก็จะลงกันไม่ได้
สุดท้ายอาจจะหาข้อยุติไม่ได้
เรื่องใหญ่อีกกระแสสังคมคือ มีคนที่ไม่เอาพวกไม่นิยมความรุนแรง มองว่าสื่อให้พื้นที่มาก แต่ลืมถามคำถามว่าทำไมคนต้องออกมา ผมไม่เห็นด้วยกับพวกที่ไม่เอาความความรุนแรง
แต่ตอนนี้ทุกฝ่ายอ้างไม่ใช้ความรุนแรง อ้างสันติวิธี แต่ไม่ไปในทางสันติสุข ในทางตรงข้ามพยายามค้นหาความรุนแรงจากอีกฝ่าย หาว่าใครตายก่อนเพื่อจะใช้ความรุนแรงบ้าง
สังคมกำลังพูดเรื่องอื่น ไม่พูดเรื่องข้อเรียกร้อง ไม่เข้าใจเรื่องสันติวิธี กรอบอธิบายตั้งแต่ต้นผิดในการจัดการผู้ชุมนุม ไปมองที่สูตรสำเร็จในการจัดการเสื้อแดงด้วยการประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงที่เอื้อประโยชน์รัฐบาล
ใช้พื้นที่สื่อเพื่อให้คนมองการชุมนุมเป็นภัย แทนที่จะตั้งคณะกรรมการกลาง มีนักสิทธิ นักสันติวิธี กรรมการกลางที่เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย ไปนั่งประเมินสถาน การณ์ ตอบคำถามทุกฝ่ายได้
ไม่ใช่รัฐบาลประเมินความรุนแรงเอง เจอปืนเจออะไรก็เกิดปัญหาได้
สังคมไทยตอนนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนที่เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย อีกกลุ่มไม่เชื่อ เถียงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ
ขณะที่เสื้อแดงมาเพราะอย่างน้อยสิทธิ์ทางการเมืองถูกพรากไป 3 รอบ รอบแรกคือ การรัฐประหารฉีกรัฐ ธรรมนูญปี”40 ส่วนอีกสองรอบคือเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี”50 แล้วพรรคของคนเหล่านี้ก็มาในเกมทั้ง 2 รอบ สุดท้ายก็ถูกยุบ
เสื้อแดงเชื่อว่าการเลือกตั้งแล้วพรรคจะกลับมา ขณะที่รัฐบาลคิดว่าหากเลือกตั้งจะต้องแพ้
ที่มา:วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7049 ข่าวสดรายวัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1283 ครั้ง