รูปภาพ : นักค้าพลังงานในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์คกำลังวุ่นอยู่กับการรับคำสั่งซื้อขายทางโทรศัพท์
ที่มา : Reuters
ไคลฟ์ แคปิตอล (Clive Capital) กองทุนเฮดจ์ฟีนด์ตลาดโภคภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดนผลขาดทุนก้อนโตมูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 12,000 ล้านบาทภายในสัปดาห์เดียวอันเป็นผลมาจากการพังทะลายลงมาของตลาดน้ำมันโลกช่วงสัปดาห์ที่แล้วหรือสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2011
กองทุนไคลฟ์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในมหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งบริหารเงินลงทุนของลูกค้ามูลค่ากว่า 5,000 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 150,000 ล้านบาท ถือเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์กองใหญ่ที่สุเดในบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่ทั้งหลายซึ่งคนในวงการต่างเชื่อว่าเกิดอาการเซไปตามๆกันหลังเกิดการเทขายขนาดใหญ่แบบไม่คาดคิดจนส่งผลให้ตลาดน้ำมันล่วงหน้าพังลงมาอย่างรวดเร็วในสัปดาห์ที่แล้ว
กองทุนอื่นๆซึ่งรวมถึงแอสเตนเบ็ค แคปิตอล (Astenbeck Capital) กองทุนที่บริษัทไฟโบร (Phibro LLC) เป็นเจ้าของและบริหารโดยนายแอนดรูว์ ฮอลล์ (Andrew Hall) นั้นคาดว่าจะมีผลการขาดทุนเป็นเลข 2 หลักหรือมากกว่า 10% แหล่งข้อมูลจากนักลงทุนระบุ
ขนาดของผลขาดทุนแสดงให้เห็นว่า แม้แต่สุดยอดนักลงทุนมือฉมังในตลาดโภคภัณฑ์นั้นก็ยังเดินพลาดได้เมื่อต้องเจอกับการปรับฐานของตลาด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ราคามีการลดฮวบลงอย่างมหาศาลในวันเดียว
ในจดหมายที่มีถึงนักลงทุนเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมาและหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ได้เห็นด้วยนั้น กองทุนไคลฟ์กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่แล้วกองทุนประสบผลขาดทุนกว่า 8.9% หลังจากเหตุการณ์ที่กองทุนเรียกว่าเป็น การเคลื่อนไหวของราคาที่ “ผิดปกติเกินธรรมดา” เกิดขึ้นเมื่อวันพฤสบดีที่ 5 พฤาษภาคมที่ผ่านมา ทีมผู้บริหารของไคลฟ์กล่าวอีกว่า ทางฝ่ายผู้บริหารถึงกับ “จนปัญญา” ในการหาเหตุผลมาอธิบายว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เกิด “การทำลายล้าง” ครั้งใหญ่ในตลาดน้ำมัน
“การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดเบรนท์นั้นคิดเป็น 5 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดเวสต์เท็กซัสอินเตอร์มิเดียต หรือ WTI (West Texas Intermediate) มีการเคลื่อนไหวคิดเป็น 4 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานทางสถิติ” กองทุนไคลฟ์กล่าว โดยกรณีที่ราคามีการเคลื่อนไหวในระดับ 5 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในวันเดียวนั้นถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งในทางสถิติ
ขณะที่ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์รายอื่นๆกำลังค่อยๆสร้างสถานะในตลาดอย่างช้าๆเพื่อให้สอดรับกับการปรับฐานของตลาด ความเร็วและขนาดของกาปรับฐานของตลาดทำให้กองทุนส่วนมากแม้แต่ไคลฟ์ตั้งการ์ดรับมือไม่อยู่ ณ จุดต่ำสุดของตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่ 105.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็ร่วงไปมากกว่า 16 ดอลลาร์ภายใน 2 วัน
การเทขายครั้งใหญ่เมื่อวันพฤสบดีที่ผ่านมาเริ่มจากการเทขายทำกำไรของนักลงทุนรายย่อยและกองทุนบางกลุ่ม และความเคลื่อนไหวนี้ได้จุดชนวนให้เกิดการขายอัตโนมัติโดยโปรแกรมที่ตั้งไว้โดยกองทุนที่ใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ต่างๆและส่งผลให้ตลาดร่วงหนักแบบทันทีทันใด การปรับฐานของตลาดหมายความว่า ผลประกอบการของไคลฟ์ในปีนี้ติดลบเล็กน้อย หลังจากที่กองทุนมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในช่วง 4 เดือนแรกของปีจนถึงเดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองแบบกระทิงและคาดการณ์ถึงราคาโภคภัณฑ์ที่จะยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ตลาดกายภาพ (ซึ่งมีการซื้อขายตัวโภคภัณฑ์จริงๆ) ยังคงแกร่งอยู่” ไคลฟ์กล่าวในจดหมาย “เรายังคงสถานะของกองทุนไว้ในตลาดต่างๆมากมาย”
โดยปกติแล้วกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ลงทุนในตลาดโภคภัณฑ์นั้นจะคุ้นเคยกับความผันผวนของกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนของตัวเองอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีการปรับตัวลงของผลตอบแทนในอดีตบ้าง ไคลฟ์มีประวัติการให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละกว่า 27% ให้กับนักลงทุน
กองทุนนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 โดยนายคริส เลเว็ตต์ (Chris Levett) อดีตนักค้าตราสารจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ชื่อก้องโลกนาม มัวร์ แคปิตอล (Moore Capital) ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นการเก็งทิศทางเศรษฐกิจมหภาคของโลก (เป็น Global-Macro Hedge Fund) โดยมัวร์บริหารโดยนายหลุยส์ เบคอน (Louis Bacon)
ไคลฟ์และแอสเต็นแบ็คไม่ได้ตอบคำถามที่ไฟแนนเชียล์ไทม์ส่งไป
ที่มา Financial Times
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday