บินลาเดนตาย แต่ก่อการร้ายการเงินกลับเหิมหนัก
โดย
เบ๊นซ์ สุดตา
การตายของโอซาม่า บินลาเดนในเช้าวันที่ 2
พฤษภาคม 2011 ตามเวลาประเทศไทย หรือคืนวันอาทิตย์ที่ 1
พฤษภาคมตามเวลาในสหรัฐฯนั้นกลายเป็นข่าวใหญ่รับทศวรรษใหม่ไปทั่วโลก
ซึ่งถือเป็นการปิดตำนานลงของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหมายเลข 1
ของโลกที่สร้างความหวาดผวาและความกลัวให้กับคนทั้งโลกตลอดช่วง 10
ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2011
ที่กลุ่มก่อการร้ายของเขาคือ อัลเกด้าได้ปฏิบัติการจี้เครื่องบิน 4
ลำและพุ่งเข้าชนตึกแฝดเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ในมหานครนิวยอร์ก และอาคารเพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯในกรุงวอชิงตัน
ดีซี
แม้ประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯจะออกมากล่าวรายงานสถานการณ์และชื่นชมเหล่าผู้กล้าที่เข้าต่อกรกับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นภัยความมั่นคงของชาติและของโลก
และออกมากล่าวว่าภารกิจในการต่อต้านการก่อร้ายยังไม่จบก็ตาม
แต่สิ่งหนึ่งที่กลับไม่ได้จางหายไปตามคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “หมายเลข 1”
ของขบวนการก่อการร้ายสากลได้จบชีวิตลงนั้นก็คือ
อภิมหาอาชญากรรมที่เป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจโลกที่ชื่อว่า “การก่อการร้ายทางการเงิน”
ซึ่งหากพูดกันตามตำราเศรษฐศาสตร์และการเงินตะวันตกแล้วนั้นก็จะเรียกมันอย่างดูมีระดับว่า
“กลไกตลาด”
ซึ่งแท้จริงแล้วกลไกตลาดไม่เคยมีอยู่จริงเลยแม้แต่น้อยในโลกความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ
หนำซ้ำสิ่งที่ตรงกันข้ามกลับเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนั่นก็คือ การก่อการร้ายทางการเงิน
ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำซากทุกวันและสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโลกหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
และแก๊งก่อการร้ายการเงินนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากนายทุนการเงินรายใหญ่ในWall Street และในลอนดอนและบรรดาผู้ดำเนินนโยบายของสหรัฐฯที่ต่างออกมาบรรเลงบทเพลงแห่งการทำลายล้างระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกได้อย่างสอดประสานกับบรรดาโจรการเงินในWall Street ผ่านเครื่องมือต่างๆทั้งเครื่องมือในตลาดการเงิน
การรวมหัวกันสร้างราคาอย่างเป็นกระบวนการ
และเครื่องมือทางนโยบายโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ความมั่งคั่งทั่วโลก
ทรัพยากรที่สำคัญต่างๆ และทำลายความมั่นคงแห่งรัฐ
และสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในการใช้เครื่องมือทางนโยบายเพื่อทำการก่อการร้ายทางการเงินก็กลับเกิดขึ้นหลังบินลาเดนตายได้ไม่ถึง
1 สัปดาห์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2011
รัฐบาลสหรัฐฯประกาศชัดเจนถึงการอนุญาตให้กลุ่มกบฏลิเบียที่กำลังต่อสู้อย่างดุเดือดกับกองกำลังของรัฐบาลกัดดาฟี่นั้นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนบางส่วนผ่านทรัพย์ที่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯอายัดไว้ได้
โดยก่อนหน้านี้ชาติพันธมิตรนาโต้และกลุ่ม GCC ได้พยายามช่วยกลุ่มกบฏด้วยสารพัดวิธีทั้งการโจมตีทางอากาศ
มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ การเปิดทางให้กลุ่มกบฏขายน้ำมันได้
หรือการบริจาคเงินหรือส่งอาวุธยุทโธปกรณ์
แต่สิ่งที่สหรัฐฯทำนั้นไม่ต่างจากการ
“ปล้นกลางแดด” อย่างไม่ละอายต่อประชาคมโลก เพราะต้องไม่ลืมว่าเงินกว่า 33,000
ล้านดอลลาร์หรือกว่า 990,000 ล้านบาทนั้นใช่ว่าทั้งหมดจะเป็นทรัพย์สินของกลุ่มครอบครัวกัดดาฟี่และเครือข่ายอำนาจของเขาจริงๆ
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ
เงินส่วนใหญ่ที่ยึดมาได้นั้นกลับเป็นทรัพย์สาธารณะในนามของรัฐบาลลิเบีย
ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเงินส่วนมากนั้นแท้จริงแล้วก็คือ “เงินเปโตรดอลลาร์”
ที่ได้จากการส่งออกน้ำมันของรัฐบาลลิเบียและเก็บไว้ในรูปทุนสำรองของธนาคารกลางลิเบียและเงินลงทุนของ
“กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” หรือ Sovereign
Wealth Funds (SWFs) ของลิเบียที่ชื่อกองทุน LIA (Libyan
Investment Authority) ซึ่งมีอยู่ทั่วโลกเป็นเงินกว่า 70,000
ล้านดอลลาร์
เงินเหล่านี้เป็นสมบัติของชาติ เป็นทุนสำรองเพื่อความมั่นคงของเงินตราในประเทศลิเบีย
เป็นทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการคลัง การเงิน
และการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งแน่นอนความจริงที่ว่ากัดดาฟี่และพรรคพวกที่การโกงกินและหาประโยชน์โดยมิชอบจากเงินเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ชัดเจนอยู่พอสมควร
แต่การเหมารวมเงินเหล่านี้และแอบฉวยโอกาสเอาเงินเหล่านี้ไปให้กลุ่มต่อต้านที่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นใครกันบ้างจนถึงทุกวันนี้
และมีเป้าหมายต่อสู้เพื่อการชิงอำนาจทางการเมืองอย่างชัดเจนนั้น
ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควร แม้นางฮิลลารี่ คลินตันจะกล่าวว่า
เราใช้เงินเหล่านี้สนับสนุนกลุ่มต่อต้านก็เพื่อประโยชน์ของ “ประชาชนชาวลิเบีย”
แต่การที่ต่อลมหายใจให้กลุ่มต่อต้านสามารถหายุทธปัจจัยมาต่อสู้ยืดเยื้อกับกัดดาฟี่ได้นั้น
ก็เท่ากับว่าในอนาคตก็ต้องมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อสงครามกลางเมืองที่หาที่สิ้นสุดไม่ได้เช่นเดียวกัน
อีกทั้งกบฏลิเบียที่ยังหาสังกัดไม่ได้อย่างแน่ชัดจำนวนหลายกลุ่มนั้นก็ขาดกลไกในการตรวจสอบที่โปร่งใสพอว่า
เงินนั้นเอาไปทำอะไรกันแน่ ซึ่งจะอ้างว่าเอาเงินทุนสำรองซึ่งเป็นเงินของประชาชนชัดเจนโดยตัวเองอยู่แล้วไปให้กลุ่มการเมืองบางกลุ่มแล้วบอกว่าทำเพื่อ
“ประชาชน” นั้นดูจะเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นเลย
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า
ประเทศที่ประกาศว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางระบบการเงินโลก
เป็นเจ้าของเงินตราสกุลหลักของโลก
และมีระบบการเงินที่แข็งแกร่งและใหญ่โตพอที่จะเป็นหลักประกันให้รัฐบาลทั่วโลกวางใจในการทำธุรกรรมต่างๆทางการเงินได้นั้น
เอาเข้าจริงก็อาจไม่ได้เป็นอย่างที่พูด
เพราะสิ่งที่สหรัฐฯทำกับลิเบียนั้นแสดงให้เห็นว่า
สหรัฐฯสามารถใช้เครื่องมือในเชิงของ “ความมั่นคงทางการเงิน”
ในการเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศได้
และขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า สหรัฐฯมีเครื่องมือทางกฎหมายอย่างหนึ่งที่ยังไมได้ใช้นั่นคือกฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ
หรือ IEEPA
(International Emergency Economic Powers Act)ที่ประธานาธิบดีมีอำนาจเต็มในการประกาศภาวะฉุกเฉินและสั่งยึดทรัพย์ของรัฐบาลต่างประเทศได้ทันทีหากเห็นว่า
ประเทศนั้นมีท่าทีคุกคามความมั่นคงของชาติไม่ว่าจะทางทหารหรือทาง “เศรษฐกิจ” ก็ตาม
เหตุการณ์นี้หากมองกันในเชิงของพัฒนาการที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้จะพบว่า
ประเทศอิหร่านนั้นดูจะตระหนักกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลิเบียในตอนนี้อยู่ก่อนแล้ว
โดยมีข่าวลือหลุดมาจากทางวิกกิลีกส์โดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงจากธนาคารอังกฤษที่ให้ข่าวกับรัฐบาลสหรัฐฯว่า
อิหร่านมีพฤติกรรมการไล่ซื้อทองต่อเนื่องอยู่หลายปีแล้ว
ซึ่งสะท้อนความกังวลของอิหร่านต่อมาตรการหรือท่าทีใดๆของสหรัฐฯในอนาคตที่อาจใช้บีบอิหร่าน
ซึ่งย่อมรวมถึงการใช้เครื่องมือทางกฎหมายต่างๆเพื่อเล่นงานทางเศรษฐกิจ
แหล่งข่าวในต่างประเทศยังมีการระบุอีกว่า
แม้แต่ตัวกัดดาฟี่เองนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีการสร้างหลักประกันให้ตนเอง เพราะทองคำสำรองทั้งหมดของประเทศลิเบียนั้นถูกเก็บไว้ในกรุงทริโปลีทั้งหมด
ซึ่งนั่นจะช่วยเป็นหลักประกันให้เข้าสามารถทำสงครามยืดเยื้อต่อสู้กับกลุ่มกบฏที่มีรัฐบาลตะวันตกหนุหลังได้
ดังนั้นนั่นหมายความว่า เมื่อสหรัฐฯยังทำตัวเป็นอันธพาลหรือผู้ก่อการร้ายทางการเงินเช่นนี้หรือแบบอื่นๆไม่ว่าจะกับประเทศในอาหรับบางกลุ่ม
กับศัตรูทางการเมืองอย่างอิหร่าน หรือโดยเฉพาะกับมหาอำนาจอย่างจีนนั้น แน่นอนว่าความน่าเชื่อถือทางการเงินและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ของเงินดอลลาร์ และของศูนย์กลางการเงินในชาติตะวันตกที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯนั้นย่อมถูกตั้งคำถามและเกิดความหวาดระแวงในใจขึ้นในหมู่รัฐบาลประเทศต่างๆได้
เมื่อผนวกกับการดำเนินโยบายการเงินและการคลังที่ขาดความรับผิดชอบและกลายเป็นช่องทางเก็งกำไรให้กองทุนกระหายเลือดต่างๆได้นั้น
ย่อมสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์และสถานะทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในระบบการเงินในระยะยาวได้
สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยอย่างทองคำจะมีความต้องการมากขึ้นไม่ใช่เพียงเพราะว่าเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าได้เท่านั้น
แต่มันยังเป็นหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจในยามที่เกิดเหตุไม่คาดฝันได้เช่น
การพังทลายทางเศรษฐกิจและการเงินของมหาอำนาจอย่างฉับพลัน
หรือในยามสงครามที่ทองคำสามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในยามที่ทุกคนไม่ไว้ใจเงินกระดาษได้
ดังนั้นแล้วในอนาคตการซื้อทองคำด้วยเหตุผลทางความมั่นคงและการโยกตัวของศูนย์กลางการค้าและจัดเก็บทองคำสำรองจึงเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจและจะทวีความเข้มข้นขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1317 ครั้ง