ศอฉ.ตอบกลับข้อหารือกกต.ไฟเขียวจัดเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 6กทม. จับตาปราศรัยหาเสียงต้องไม่ปลุกการระดม กองเชียร์ต้องสลายตัวทันทีหลังทราบผล กกม.ส่ง เสธ.อู๊ดลงสมัคร ส.ส.เขตบึงกุ่ม
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือตอบกลับจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือศอฉ. ถึงข้อหารือเกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องการจัดเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต6กทม. และนำเรื่องดังกล่าวแจ้งให้กกต.ทุกคนรับทราบแล้ว ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมในสัปดาห์หน้า โดยด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งจะนำไป ศึกษาก่อน ทั้งนี้ ศอฉ.ตอบกลับข้อหารือของกกต.ชี้แจงเป็นข้อๆ ระบุว่า
1.การเลือกตั้งเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ หากบุคคลใดได้ดำเนินกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอยู่ในกรอบของรัฐ ธรรมนูญ และกฎหมาย ย่อมได้รับการรับรองให้ดำเนินการได้ โดยประกาศหรือข้อกำหนดของ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใน บ้านเมือง และไม่มีผลเป็นการขัดขวางต่อกระบวนการเลือกตั้งที่กระทำโดยชอบแต่อย่างใด
2.การที่ ศอฉ.ออกประกาศห้ามชุมนุม หรือมั่วสุมเกิน 5 คนนั้น มิใช่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและยังมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมหรือดำเนินชีวิตโดยปกติภายใต้กรอบกฎหมาย การจะถือว่ามีความผิดจะต้องปรากฏว่าเป็นการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ห้าคน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง โดยมีลักษณะการกระทำ อาทิ กีดขวางการจราจร กีดขวางทางเข้าออกของอาคาร หรือสถานที่อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงาน หรือประกอบกิจการ หรือการใช้ชีวิตโดยปกติ มีการประทุษร้าย หรือใช้กำลังทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหาย และเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน การขัดขืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งการเกี่ยวกับการชุมนุมเพื่อให้ เป็นไปโดยสงบ และไม่เกิดความเดือดร้อน
ส่วนประเด็นที่ กกต.สอบถามถึงกรณีต่างๆ โดยประเด็นเรื่องวันรับสมัครจะมีประชาชนไปชุมนุมเกิน 5 คน เพื่อเป็นกองเชียร์ หรือสนับสนุนให้กำลังใจแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงการสังเกตการณ์ และเป็นสักขีพยานในการนับคะแนนนั้น ศอฉ.ระบุว่า ประชาชนมีสิทธิในการแสดงออกเพื่อสนับสนุนผู้สมัครรรับเลือกตั้ง หรือติดตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การเดินทางไปให้กำลังใจแก่ผู้สมัครในวันรับสมัครหรือสังเกตการณ์ และเป็นสักขีพยานในการนับคะแนน จึงเป็นสิทธิที่กระทำได้โดยไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของ ศอฉ.แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายและยุติในเวลาอันควร เมื่อกระบวนการเกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จสิ้น โดยมิกระทำการอื่น ที่เป็นการก่อความไม่สงบ ซึ่งหากมีการกระทำที่นอกเหนือจากขอบเขตย่อมอยู่ในเงื่อนไขการห้ามชุมนุม
ประเด็นเรื่องการจัดเวทีปราศรัยหาเสียงหรือขบวนรถหาเสียงซึ่งอาจมี ประชาชนเข้าร่วมรับฟังหรือมาร่วมชุมนุมเกิน 5 คน ศอฉ.ชี้แจงว่า การปราศรัยหาเสียงเป็นกระบวนการที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงหาเสียงได้ตามปกติ แต่การปราศรัยต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแถลงนโยบายให้ทราบประกอบการ ตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย และต้องไม่ยุยงให้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง หรือกระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
ส่วนประชาชนก็มีสิทธิที่จะเข้าร่วมรับฟังการปราศรัยได้ แต่ต้องเป็นการรับฟังโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง มิได้มีการกระทำที่มีเจตนาล่วงละเมิดต่อกฎหมายเพื่อให้เกิดความไม่สงบ ซึ่งหากมีการชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์เช่นนั้นก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
สำหรับประเด็นเรื่องประกาศกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาท หากผู้สมัครรายใดถูกสั่งห้ามทำธุรกรรมจะดำเนินการอย่างไร ศอฉ.ชี้แจงว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถยื่นคำขอต่อหัวหน้าผู้รับผิดชอบคือพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อจ่ายเงินในการเลือกตั้งได้
ที่พรรคการเมืองใหม่ นายสำราญ รอดเพชร รักษาการโฆษกพรรค กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคมีมติส่งพล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ เพราะมีความพร้อมมากที่สุดทั้งกายและใจ เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด พรรคมีความมั่นใจว่า เรามีความพร้อม และสามารถสู้กับพรรคอื่นๆได้ เพราะผู้สมัครเลือกตั้งหลายคนที่มีชื่อก่อนหน้านั้นยังไม่พร้อมไม่ว่าจะเป็น นายสุริยะใส กตะศิลา นายประพันธ์ คูณมี นายศรัญยู วงศ์กระจ่าง ที่ยังติดการถ่ายทำภาพยนตร์กับทางราชการ โดยทางพรรคจะให้นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมเขต 6 โดยจะมีการประชุมเรื่องการหาเสียง และเรื่องนโยบายในช่วงค่ำวันที่ 24มิ.ย.และในวันที่ 26 มิ.ย.ทางพรรคจะมีการประชุมระดมสมองแกนนำจากกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อออกแบบการรณรงค์การเลือกตั้งซ่อมและการเลือกตั้ง สก. สข.ในวันที่ 9 ส.ค. และในวันที่ 3 ก.ค.ทางพรรคจะมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคที่ อาคารมินิบุตร
พล.อ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตนเองมีความพร้อมเต็มที่ เรื่องชนะหรือไม่ชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ทางพรรคจะเน้นเรื่องการปักธงการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยจะเน้นเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นเป็นหลัก เราไม่เน้นเรื่องตัวบุคคล แต่ขอให้เป็นเรื่องแนวทางพรรค เพราะนี่คือการเมืองใหม่ อย่างแท้จริง
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข รักษาการหัวหน้าพรรค กล่าวว่า การทำพรรคการเมืองแม้มีสส.แค่คนเดียวก็สามารถทำหน้าที่เพื่อประชาชนได้ เพราะพรรคการเมืองการใหม่ทำงานเป็นทีม ดังนั้น จึงไม่ใช่ปัญหาและพรรคไม่เน้นขายตัวบุคคลแต่เน้นขายความเป็นมาตรฐานการเมืองใหม่เพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ให้การเมืองไทยมากกว่า
สำหรับ พล.อ.กิตติศักดิ์ หรือเสธ.อู๊ด เกิดเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2489 จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่7 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่18 ถือเป็นแกนนำคนสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2549
อีกด้านหนึ่ง นายคารม พลทะกลาง ทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เปิดเผยว่า หลังยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. ผู้ต้องหาในคดีก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135 / 1-3 ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำคลองเปรม ออกไปใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 กทม.ในนามพรรคเพื่อไทย (พท.) วันที่ 28 มิ.ย.นี้ ซึ่งศาลอนุญาตโดยไม่ต้องไต่สวนคำร้อง
นายคารม กล่าวว่า ตามคำร้องระบุว่า นายก่อแก้ว ผู้ร้อง ได้รับการเสนอชื่อจากกรรมการบริหาร พท.ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 38, 39 รวมทั้งมีสิทธิตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550 ทุกประการ ขณะที่ผู้ร้องยังไม่ได้ตกเป็นจำเลยและยังไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา ศาลพิเคราะห์คำร้องแล้วเห็นว่าผู้ต้องหามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และ พท.มีมติให้ส่งผู้ต้องหาลงสมัครรับเลือกตั้ง ศาลจึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 28 อนุญาตให้ผู้ต้องหาเดินทางไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้
ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำคลองเปรม ควบคุมตัวไปยังสถานที่รับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 08.30 น. และเมื่อเสร็จการรับสมัครเลือกตั้งแล้วให้ควบคุมตัวเดินทางกลับมายังเรือนจำคลองเปรมตามเดิม โดยให้ทำหนังสือแจ้งไปยัง นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บัญชาการเรือนจำคลองเปรมทราบ และดำเนินการตามคำสั่งศาลต่อไป
นายคารม กล่าวด้วยว่า ส่วนวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. นายก่อแก้ว จะต้องสวมใส่ชุดนักโทษหรือไม่ ศาลให้เป็นดุลพินิจของกรมราชทัณฑ์ว่า จะให้ผู้ต้องขังสวมใส่เสื้อผ้าหรือแต่งตัวไปลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างไร แต่คาดว่าคงเป็นไปตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ วันที่ 25 มิ.ย. จะเดินทางมายื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวแกนนำ นปช. ทั้ง 11 คนอีกครั้ง รวมทั้งนายก่อแก้ว ด้วย ซึ่งทังหมดยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยยังคงใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 1 ล้านบาท เพราะที่ผ่านมาในการที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัววินิจฉัยถึงเหตุที่อาจจะหลบหนี ซึ่งจะระบุยืนยันในคำร้องให้ชัดเจนว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ดังกล่าว และยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม เมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว หากไม่ได้รับการปล่อยตัวออกไปหาเสียงต้องหารือกับทีมทนายความอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมเรื่องของการขอประกันตัวในวันที่จะครบกำหนดฝากขัง ครั้งที่ 2 วันที่ 25 มิ.ย. หากไม่ได้รับการประกันตัวก็ต้องดูข้อกฎหมายว่าจะสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้นายก่อแก้วออกมาหาเสียงได้หรือไม่ หรือจะเลือกช่องทางอื่นในการหาเสียง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1383 ครั้ง