จับตาก้าวใหญ่ตุรกี
โดยเบ๊นซ์ สุดตา
ประเทศในกลุ่มมุสลิมทั่วโลกต่างเผชิญภาวะสับสนวุ่นวายมานานจากการที่ต้องตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ความมั่นคง
และเป็นเป้าหมายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจชิ้นโตของบรรดามหาอำนาจและกลุ่มทุนใหญ่ชาติตะวันตกมานมนาน
ซึ่งการที่ชาติมุสลิมทั้งหลายถูกเอารัดเอาเปรียบและเริ่มเกิดความปั่นป่วนภายในนั้น
เหตุผลสำคัญก็เนื่องมาจากการล่มสลายอย่างสมบูรณ์ของอาณาจักรออตโตมานช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่
1 ส่งผลให้เกิดการแตกสลายของเอกภาพในโลกมุสลิมและอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศที่ลดลงของประชาคมมุสลิมเอง
แม้ว่าราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์สำคัญๆบางชนิดที่สูงขึ้นนั้นจะทำให้ประเทศโลกมุสลิมจำนวนมากมีเสียงดังขึ้นในเวทีโลกอย่างน้อยในทางเศรษฐกิจ
แต่การที่ยังหาเอกภาพไม่ได้ผนวกกับการผสมโรงของชาติมหาอำนาจที่ใช้ยุทธศาสตร์ในการสร้างความแตกแยกและความขัดแย้ง
เกิดการเลือกข้างและแบ่งฝ่ายกันในหมู่ประเทศมุสลิมเองยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกมุสลิมเองไม่สามารถกลับคืนสู่สถานะทางอำนาจที่มีความสำคัญเหมือนในยุคอาณาจักรออตโตมาน
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่สับสนวุ่นวายในโลกอาหรับและเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงและไร้เสถียรภาพหลังวิกฤตการเงินใหญ่ช่วง
2007-2008 ต่อเนื่องมาถึงวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปนับแต่ต้นปี 2010 เป็นต้นมา
กลับมีประเทศหนึ่งในโลกมุสลิมที่เริ่มตั้งตัวขึ้นมาได้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกรากและรุมล้อมด้วยสารพัดวิกฤตในช่วงที่ผ่านมานั่นคือ
ประเทศตุรกี โดยบทบาทของตุรกีเริ่มโดดเด่นขึ้นมานับแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่พรรคการเมืองในสายโลกวิสัยหรือ“Secularist”อย่างพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาหรือพรรค AKP ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีเออร์โดแกนของตุรกีชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2002
ภายใต้การนำของพรรค AKP ระบบการเมืองตุรกีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวอย่างน่าสนใจระหว่างการมีประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตกภายใต้ระบบพรรคการเมืองและรัฐสภากับการคงไว้ซึ่งอิสลามซึ่งไม่สุดโต่ง
ประเทศตุรกีภายใต้การนำของนายเออร์โดแกนได้ดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ
ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม
ผลักดันบทบาทของตุรกีในเวทีโลกผ่านองค์กรระหว่างประเทศอย่างนาโต้และสหภาพยุโรป
นอกจากนั้นแล้วด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบของตุรกีทำให้ตุรกีสามารถเล่นบทบาททางการเมืองได้ในหลายเวทีพร้อมๆกันได้
โดยนอกจากระบบการเมืองและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์จะช่วยให้ตุรกีสามารถดำเนินนโยบายอิงชาติตะวันตกได้สะดวกแล้ว
ตุรกียังมีบทบาทสำคัญในกิจการต่างๆของโลกมุสลิมด้วยไม่ว่าจะทั้งวิกฤตการเมืองและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
หรือวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน
ในทางเศรษฐกิจนั้นประเทศตุรกีถือว่าทำคะแนนได้เยี่ยมมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีความมั่งคั่งทางทรัพยากรอย่าง
ซาอุดิอาระเบีย หรือชาติมีฐานประชากรใหญ่โตอย่าง อินโดนีเซีย
เศรษฐกิจตุรกีเติบโตต่อเนื่องในระดับเฉลี่ย 6-7% ต่อปี ในช่วง 5
ปีแรกของรัฐบาลของนายเออร์โดแกน และเมื่อพ้นจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ GDPตุรกีติดลบต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดนับแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2008
จนถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2009
เศรษฐกิจตุรกีก็ดีดตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วอีกครั้งและสามารถโตในระดับสูงถึง 9-10%อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ทำให้ประเทศตุรกีที่มีประชากรในระดับ 70
กว่าล้านคนซึ่งน้อยกว่าอินโดนีเซียมากกว่า 3 เท่าตัวและไม่มีน้ำมันเหมือนชาติสมาชิกโอเปกมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมุสลิม
เป็น 1 ใน 20 ชาติสมาชิกกลุ่ม G20 ซึ่งถือเป็นกลุ่มก้อนทางเศรษฐกิจที่ทรงอิทธิพลในเวทีโลกแทนที่กลุ่มG7 และ G8 นับแต่หลังวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ในปี
2007-2008 เป็นต้นมา ดังนั้นแล้วสถานะความแข็งแกร่งทางการเติบโตของตุรกีถือได้ว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศกำลังพัฒนาชั้นนำในกลุ่ม“BRICS” เลย
บทบาทในอีกด้านที่น่าสนใจของตุรกีในช่วงที่ผ่านมาและจะมีการเดินหน้ายุทธศาสตร์นี้อย่างต่อเนื่องก็คือ
บทบาทด้านพลังงาน ประเทศตุรกีนับว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในด้านกิจการพลังงานโลกโดยช่องแคบบอสฟอรัสของตุรกีนั้นถือเป็น
1 ใน “จุดคอหอย” หรือ “Choke Point” ที่สำคัญจุดหนึ่งของโลกในแง่ของการขนส่งพลังงานระหว่างประเทศไม่ต่างจากช่องแคบเฮอร์มุสในตะวันออกกลางหรือช่องแคบมะละกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เนื่องจากน้ำมันที่ผลิตในรัสเซียและเอเชียกลางต้องผ่านช่องแคบนี้เพื่อออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
นอกจากนั้นแล้วตุรกียังอยู่ในจุดที่ได้เปรียบสำหรับการวางท่อก๊าซทั้งก๊าซที่มาจากรัสเซียเองและที่มาจากอิหร่าน
เส้นทางท่อก๊าซที่ผ่านตุรกีอำนวยความสะดวกในแง่ของการเป็นทางผ่านที่สะดวกและมั่นคงในการส่งออกก๊าซไปยังสหภาพยุโรป
นอกจากนั้นแล้วด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ตุรกีเองยังมีการขยายความร่วมมือทางพลังงานกับอิหร่านครอบคลุมไปถึงระบบสายส่งไฟฟ้าด้วย
เพื่อประโยชน์ในการบริหารกำลังไฟฟ้าที่อาจมีการขาดหรือเหลือในอิหร่าน ตุรกี
และเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง
ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ
การเมืองที่มีเสถียรภาพ
และการอยู่ในที่ตั้งที่มีความพร้อมทางยุทธศาสตร์ทำให้ตุรกีมีความพร้อมสูงในการเล่นบทบาทนำในโลกมุสลิมและในเวทีโลกได้มากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับถือว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่มาในจังหวะที่น่าสนใจ
ตุรกีสามารถเข้าไปมีส่วนในการกำหนดพลวัตในโลกอาหรับได้หลังเกิดวิกฤตการเมืองในโลกอาหรับไล่ตั้งแต่ตูนีเซีย
แอลจีเรีย อิยิปต์ ลิเบีย และในตะวันออกกลาง
นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใกล้ๆบ้านตุรกีแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงที่มีพลวัตที่รวดเร็วกว่าในเพื่อนบ้านตุรกีนั่นคือ
พลวัตจากทิศตะวันออกคือ จีน ก็กำลังรุกเข้ามาใกล้ตุรกีมากขึ้น
การเดินยุทธศาสตร์ของจีนทั้งในด้านความมั่นคง พลังงาน เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในปี
2010
ถือว่าเป็นปีที่สำคัญเพราะจีนได้มีการริเริ่มและยกระดับความร่วมมือกับตุรกีมากมายทั้งด้านเศรษฐกิจ
การเงิน และวัฒนธรรม
ตุรกีเองถือว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการดันเงินหยวนขึ้นสู่เวทีโลก (Yuan
Internationalization) ของจีนเองโดยจีนกับตุรกีตกลงกันว่าจะใช้เงินหยวนจีนและเงินลีร่าตุรกีทำการค้าระหว่างกัน
ซึ่งนี่ถือเป็นแนวโน้มใหญ่ของโลกแนวโน้มหนึ่ง การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปเงินหยวนเองจะช่วยสร้างความรุ่งเรืองและแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับตุรกียิ่งขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกันจีนก็กำลังเดินยุทธศาสตร์เชื่อมต่อและขยายอิทธิพลในเอเชียกลางผ่านเงินหยวนโดยใช้ซินเจียงเป็นฐานด้วย
การที่ตุรกีมีสัมพันธ์ด้านเงินหยวนกับจีนย่อมทำให้ตุรกีเข้าถึงชนชาติเติร์กในเอเชียกลางและภาคตะวันตกของจีนได้ง่ายขึ้น
แต่บทบาททางด้านวัฒนธรรมนั้นก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กันการเลือกขยายความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมของจีนกับตุรกีเองถือเป็นการตอกย้ำความสำคัญของตุรกีที่มีต่อจีนในอนาคตข้างหน้า
และตุรกีถือเป็นประเทศหนึ่งที่จีนลงทุนทำสื่อสิ่งพิมพ์เป็นภาษาท้องถิ่นโดยเฉพาะคือ
ภาษาเติร์ก
นอกจากนั้นแล้วยังมีการขยายความร่วมมือกันในด้านของการศึกษาและนักวิชาการ วรรณกรรม
สื่อวิทยุโทรทัศน์ด้วย
ฉะนั้นแล้วในอนาคตตุรกีเองย่อมมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับจีนมากขึ้นนอกเหนือจากการเดินเกมในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์รอบบ้านตัวเอง
เนื่องจากบทบาทของจีนที่เพิ่มขึ้นในแถบยูเรเชียและเอเชียใต้รวมถึงบทบาทในทุกๆด้านของจีนในระบบเศรษฐกิจโลก
ปัจจัยที่ 3
ที่จะเป็นตัวกำหนดย่างก้าวสำคัญในอนาคตของตุรกีในเวทีโลกก็คือ
บทบาทด้านพลังงานซึ่งในปัจจุบันก็นับว่ามีความสำคัญมากอยู่แล้ว
แต่ตุรกีกำลังเล่นบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างพลังงานโลกนั่นก็คือ
การประกาศอภิมหาโครงการขุดคลองขนาดใหญ่ตัดผ่านนครอิสตันบูลเพื่อเชื่อทะเลมาร์มาร่าและทะเลดำที่ชื่อ
“คลองอิสตันบูล” ซึ่งจะมีความยาวทั้งสิ้น 50 กิโลเมตร กว้าง 150 เมตร ลึก 25 เมตร
ซึ่งจะช่วยให้เรือขนส่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่มากหรือ VLCC (Very Large Crude Carrier) สามารถแล่นผ่านได้ โครงการที่มีมูลค่ากว่า 12,000
ล้านดอลลาร์นี้จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจครั้งใหญ่เกิดขึ้นในตุรกีในแง่ของการจ้างงาน
การลงทุนจากต่างประเทศ เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆมากมาย
นอกจากจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในด้านพลังงานและการขนส่งทางน้ำที่ต้องในระวางน้ำหนักขนาดใหญ่แล้ว
โครงการคลองอิสตันบูลนี้จะสามารถช่วยยกระดับบทบาทของตุรกีในการเป็นประตูการค้าเข้าสู่แถบเมดิเตอร์เรเนียนให้กับจีนได้ด้วย
โดยระบบคลองและท่าเรือที่จะมีการพัฒนาตามมาจะสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟและโครงข่ายการขนส่งอื่นๆที่จีนวางไว้ในเอเชียกลาง
โดยโครงการนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2023 เพื่อให้ทันการฉลอง 100
ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี
การตัดสินใจสำคัญอีกอย่างที่น่าจับตามองที่นับว่าเป็นการก้าวใหญ่ของตุรกีนั่นคือ
การประกาศแผนการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกของตุรกีภายในปี 2023 เช่นกัน
แต่ยุทธศาสตร์นี้นับว่าค่อนข้างลำบากเพราะตุรกีเองยังไม่มีฐานด้านการบริการที่ใหญ่พอ
ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน และตลาดการเงินตุรกีเองแม้จะมีการเติบโตและเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลกเป็นอันดับต้นๆ
แต่ก็ยังนับว่าไม่ใหญ่มาก ขาดความหลากหลาย
แต่อย่างน้อยตุรกีก็มีความเป็นไปได้ในการเล่นบทบาทเชื่อมโยงโลกการเงินทั้งเอเชีย
อาหรับ แอฟริกา และยุโรปได้ผ่านความได้เปรียบในด้านที่ตั้ง
เมื่อประมวลรวมกับภาพทั้งหมดจะเห็นว่าตุรกีเองพยายามเล่นบทบาทในด้านต่างๆเพื่อทำการเชื่อมโยงแกนอำนาจหลักๆของโลกที่สถิตในภูมิภาคต่างๆ
ที่ทั้งกระแสความเจริญทางเศรษฐกิจและสมดุลในด้านความมั่นคงจะต้องมีการเชื่อมโยงผ่านตุรกี
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในอดีตตุรกีเองให้ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกมากทั้งสหรัฐฯ
นาโต้ และสหภาพยุโรปโดยเฉพาะในด้านความมั่นคง
ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาและในปัจจุบันตุรกีเองกำลังขยับขยายบทบาทในโลกมุสลิมโดยเฉพาะในตะวันออกกลางมากขึ้นผ่านทางการมีบทบาทในวิกฤตต่างๆทั้งประเด็นปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์
อิรัก วิกฤตการเมืองโลกอาหรับ และวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน
ซึ่งในปัญหาเหล่านี้ต้องมีตุรกีเข้าไปมีบทบาททั้งสิ้น
แต่ในอนาคตนั้นตุรกีกำลังขยับเข้าหาทิศตะวันออกมากขึ้นโดยความเคลื่อนไหวของตุรกีนั้นจะสอดคล้องกับพลวัตทางเศรษฐกิจของจีนบนเส้นทางสายไหมและกลไกความมั่นคงในแถบเอเชียกลางโดยยุทธศาสตร์ทั้งหมดจีนจะเดินผ่านทางองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้หรือSCO
(Shanghai Cooperation Council) และมีฐานการเดิมสำคัญอยู่ที่มณฑลซินเจียงซึ่งตุรกีเองมีความได้เปรียบในการเข้ามาซินเจียงผ่านความเชื่อมโยงด้านเชื้อชาติวัฒนธรรมได้
โดยโครงข่ายขนาดใหญ่ด้านการขนส่งสินค้าและพลังงาน การค้า การเงิน
และวัฒนธรรมจะเป็นตัวนำพาให้ตุรกีเข้ามาใกล้ชิดจีนและเพื่อนบ้านทางทิศตะวันออกมาขึ้น
และช่วยให้ตุรกีสามารถเล่นบทบาทเดิมในสมัยออตโตมานที่เชื่อมโยงแหล่งอารยธรรมสำคัญๆของโลกเข้าด้วยกันได้
ดังนั้นยุทธศาสตร์ในลักษณะ “Look East” ของตุรกีจึงถือเป็นแนวโน้มสำคัญในอนาคตที่มีความเป็นไปได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้และก็ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ตุรกีต้องเดินหน้าเพื่อเติมเต็มและสร้างสมดุลให้กับบทบาทตามยุทธศาสตร์“Look West” และ “Look South” ในปัจจุบัน
และด้วยการประสาน 3 ยุทธศาสตร์และบทบาทในด้านต่างๆเข้าด้วยกันย่อมทำให้ตุรกีกลับมาผงาดอีกครั้งได้เหมือนครั้งที่เคยยิ่งใหญ่ในสมัยออตโตมาน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 3913 ครั้ง