วันที่ 30 พ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการหารือระหว่างคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยกับฝ่ายกัมพูชา ที่สำนักงานคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งกัมพูชาออกมาพูดในสิ่งที่ตรงข้ามกับผลการหารือ ว่า เราทราบว่าฝ่ายกัมพูชาไม่ยินยอม แต่จากการพูดคุยกัน และการที่คณะกรรมการเตรียมร่างข้อเสนอเพื่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในเดือน มิ.ย.นี้ ก็เป็นไปในทางที่ดี โดยทางสำนักงานยูเนสโกชี้ให้เห็นว่าการเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา ออกไปก่อนเป็นทางออกที่ดีสุด และเราจะเดินหน้าทำงานตรงนี้ต่อไป ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนั้น นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทย จะกลับมารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่ขณะนี้มีการชี้แจงต่อศาลโลกในการที่กัมพูชาร้องขอให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 และขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้ไทยถอนกำลังทั้งหมดออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งไทยจะต้องแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกในวันที่ 30-31 พ.ค.นี้ โดยจากการที่ตนได้สอบถามครั้งล่าสุด ก็พบว่ามีความพร้อมและได้มีการซักซ้อมในประเด็นต่างๆ
เมื่อถามว่าแนวทางที่ผู้อำนวยการยูเนสโกชี้ไว้จะมีผลต่อการตัดสินใจต่อคณะกรรมการมรดกโลกมากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเชื่อว่าแนวทางของผู้อำนวยการยูเนสโกมีน้ำหนัก แต่ทั้งหมดอำนาจอยู่ที่คณะกรรมการมรดกโลก ดังนั้น ฝ่ายไทยจึงต้องเดินสายทำความเข้าใจกันต่อ แต่ตนคิดว่าถ้าฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการมรดกโลกมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม คล้ายกับร่างข้อมติที่จะเป็นไปในทางที่ให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารฯ ก็เป็นแนวโน้มที่ดี
เมื่อถามต่อว่ากัมพูชากล่าวตำหนิผู้อำนวยยูเนสโกว่าทำเกินหน้าที่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าถ้ากัมพูชาเริ่มโวยวาย ก็แสดงให้เห็นว่าที่จริงแล้วมีความโน้มเอียงเห็นประเด็นที่ไทยเสนอมาตลอด ดังนั้น เราเดินหน้าทำงานในแง่ของการพูดคุยกับคณะกรรมการมรดกโลก
เมื่อถามว่านายสุวิทย์ ที่ต้องทำหน้าที่ไปพูดคุยสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ ก็จะต้องไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จะทำให้มีปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่มีปัญหา เพราะเรามีเครือข่ายและเจ้าหน้าที่ที่จะช่วยทำ นายสุวิทย์ก็ทำเต็มที่ และมีการรายงานถึงตนมาตลอด เมื่อถามว่าแนวทางที่ไทยจะต่อสู้ในศาลโลกมีอะไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องของการพิจารณากรณีที่กัมพูชาร้องขอมาตรการชั่วคราว ซึ่งหลักๆคือไม่มีความจำเป็นที่ออกมาตรการนี้ อีกทั้งเป็นคำขอก้าวล่วงไปเกินเลยจากคำพิพากษาเดิมและคำตีความที่กัมพูชาพยายามเสนออยู่ ดังนั้น เราจึงต่อสู้ทั้งในแง่ของความจำเป็น ขอบเขตอำนาจของศาล และตัวข้อเท็จจริงของการนำเสนอ โดยหลักของเราคือเมื่อกัมพูชาชนะคดีในรอบที่แล้ว รัฐบาลไทยได้กำหนดขอบเขตวิธีปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก และได้ทำมานานตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งกัมพูชาไม่ได้โต้แย้ง ดังนั้นตรงนี้ควรจบไปนานแล้ว
เมื่อถามว่ากัมพูชาอ้างบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 และยังอ้างว่าไทยยอมรับแผนที่ของกัมพูชา 1:200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ตรงกันข้าม กัมพูชามีเอกสารที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก โดยอ้างถึงเอ็มโอยูไทย-กัมพูชา ปี 2543 ว่าทำให้กัมพูชาไม่สามารถใช้แผนที่ 1:200,000 ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ ซึ่งเอกสารนี้น่าจะมัดกัมพูชา และไทยถือว่าเอ็มโอยูนี้บ่งบอกว่ากัมพูชายอมรับว่ากระบวนการการจัดทำหลักเขตแดนยังไม่จบ เพราะฉะนั้น การอ้างจากคำพิพากษาว่าเขตแดนอยู่ตรงนั้นตรงนี้จึงไม่เป็นความจริง เพราะกัมพูชาลงนามในเอ็มโอยูนี้เองว่าจำเป็นต้องจัดทำหลักเขตแดน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 886 ครั้ง