ข้อมูลใหม่ เผย สมัยทักษิณ “ฆ่าตัดตอน” 8,000 ศพ รุมจวกนโยบาย “แม้ว” ประกาศสงครามกับยาเสพติด ฟันธง ฆ่าตัดตอนหนักกว่า “กรือเซะ-พันธมิตรฯ 7 ตุลาฯ-กระชับพื้นที่นปช. 19 พ.ค.” เสนอฟ้องศาลโลกคู่ขนาน เหตุ เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ “วสิษฐ”แนะให้ดีเอสไอดูและทั้งระบบ
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานอภิปรายเรื่อง “คดีฆ่าตัดตอน…คดีที่ต้องสานต่อให้จบ” จัดโดย สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย โดยมีพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด คณะกรรมการคตน. และพ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักงานคดีพิเศษ เป็นวิทยากรรับเชิญ
โดยพล.ต.อ.วันชัย กล่าวว่า สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการประกาศสงครามกับยาเสพติดในช่วงปี 2546-2550 ซึ่งทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 8 พันคน ซึ่งพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ อดีตนายกฯ ตั้งคณะกรรมการคตน.ขึ้นมาควบคู่กับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิด ความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งพบว่าในปี 46 ตัวเลขคดีฆาตกรรมสูงขึ้นกว่า 2 เท่ากว่าปีปกติ ซึ่งก็ต้องหาคำตอบว่าเพราะอะไร เราก็พยายามศึกษาก่อนหน้าปี 46 ไป 2 ปี และหลังจากปี 46 ที่ประกาศนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ซึ่งพบว่าคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดค่อนข้างสูงจนผิดสังเกต โดยรวมคดีฆาตกรรม 2,559 คดี คดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,187 คดี และเป็นคดีที่ไม่ทราบสาเหตุการตายกว่า 538 คดี
พล.ต.อ. วันชัย กล่าวว่า การทำบัญชีดำรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมันขาดหลักการทำ ความหละหลวมของการทำบัญชี และเจ้าของนโยบายคือ นายกฯ ถือเป็นความร้ายแรงของชาติ ใช้คำปลุกเร้า โน้มน้าว ทำให้ผู้ปฏิบัติคิดว่าทำได้โดยไม่ต้องใส่ใจกับกระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมาย และระบบนิติรัฐ จึงทำให้เห็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เท่า และวิธีการเร่งรัดบัญชีดำ ก็มีการกำหนดห้วงระยะเวลา เพราะถึงแม้นายกฯ จะไม่ได้เป็นการสั่งการโดยตรงแต่ก็มีความหมายของมัน ผู้ฟังสามารถเข้าใจเอาเองได้ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าการกำหนดยุทธศาสตร์มันทำให้เกิดปัญหาหรือไม่
เขาบอกว่าคดีต่างๆ ในขณะนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็มีการตรวจสอบทำคดีกันไปตามหลักการ แต่อาจจะมีความหละหลวมบ้างในคดีฆาตกรรมธรรมดา แต่คดีวิสามัญฆาตกรรมขบวนการทำสำนวนมีมากกว่าคดีสามัญธรรมดา ต้องมีการชัญสูตรพลิกศพ เราก็สงสัยว่ามีการทำทุกคดีหรือไม่ ซึ่งเราอาจจะต้องไปสานต่อในจุดนี้ โดยเราได้ทำเป็นข้อเสนอทิ้งไว้ในรายงานเนื่องจากขณะนั้นเรามีเวลาเพียงสั้นๆ
“คดีฆ่าตัดตอน หรือคดีทุกคดีที่จะถึงศาลได้ในระบบของไทย คือต้องผ่านอัยการ และผู้เสียหายฟ้องด้วยตนเอง โดยผ่านทนาย ซึ่งหากอัยการฟ้องต้องผ่านกระบวนการสอบสวนของตำรวจหรือดีเอสไอ ซึ่งวิธีการนี้ตำรวจสามารถหาพยานหลักฐานมีอำนาจกลไกกฎหมายรองรับ แต่หากให้ผู้เสียหายฟ้องเอง อำนาจตรงนี้จะไม่มี ทนายต้องใช้ความสามารถส่วนตัว ไม่มีอำนาจ และกฎหมายรองรับ ซึ่งค่อนข้างยาก ทั้งนี้ หากจะให้คณะกรรมการสิทธิฯ หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาฟ้องร้องเองก็สามารถทำได้ หากผู้เสียหายร้องขอ แต่ต้องเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิฯ ต่อส่วนร่วม ซึ่งคดีก็สามารถไปช่องทางนี้ได้ แต่ติดที่การฟ้องคดีเพราะคณะกรรมการสิทธิฯ จะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติ ซึ่งขณะนี้กฎหมายยังรอเข้าสภาฯ จึงยังไม่รองรับตรงนี้ แต่เราก็ประสานงานกับสภาทนายความให้ช่วยฟ้องได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเร่งรัดกฎหมายนี้ออกมาจะมีอานิสงค์ต่อคดีอื่นๆ ด้วย”
พล.ต.อ.วันชัย กล่าวอีกว่า อยากให้ถ้าไม่ทำต่อก็ไม่เกิดประโยชน์ เหตุการณ์นโยบายนี้เกิดผลเสีย 2 อย่าง คือ มีผู้เสียหายเยอะ และประเทศไทยถูกวิจารณ์จากสังคมโลก ถือเป็นผลเสีย เมื่อมีผลเสียเราคงต้องดำเนินการต่อ ตนเสนอหาคนที่ทำผิดเอามาดำเนินการทางกฎหมายให้ได้ มีผู้รอรับการเยียวยาอยู่ เราต้องเข้าไปรักษาแผลใจให้ได้ และจะทำอย่างไรไม่ให้มีพฤติกรรมทำนองนี้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ตนคิดว่ามีหน่วยที่ทำหน้าสอบสวนอยู่แล้ว นายกฯ คงไม่ต้องไปตั้งหน่วยใหม่
พล.ต.อ.วันชัยชี้เหตุการณ์และคดีต่างๆ ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณทั้งเหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์สลายกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ตุลาฯ และแผนการกระชับพื้นที่เมื่อพ.ค.ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ที่อยากให้การชุมนุมจบเร็วนั้น ตนถือว่าแต่ละคดีเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ โดยกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งนั้น แต่ที่สุดก็ต้องมีการแจกแจงว่าใครมีส่วนรับผิดชอบ ตอบลำบากว่าใครเลวร้ายกว่าใคร แต่ผลที่เกิดขึ้นคือไม่ว่าเหตุการณ์ไหนก็มีทั้งคนเจ็บ และคนตายทั้งนั้น
“ปิยะวัฒก์” เสนอฟ้องศาลโลกคู่ขนาน เหตุ เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ด้านพ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวว่า ในปี 46 พบว่าคดีฆาตกรรมสูงขึ้นเฉลี่ยเดือนละกว่า 853 คดี คิดเป็นร้อยละ 87.98 ต่อเดือน ทั้งนี้ การมอบนโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณแต่ละครั้งมีส่งข้อความที่ส่อว่าจะใช้ความ รุนแรง หรือข้อความที่ทำให้ผู้ปฏิบัติหึกเฮิม และมีการพูดว่าหากทำได้ตามเป้าก็จะมีรางวัลหรือถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะถูกย้าย รวมทั้งให้ผู้ปฏิบัติงานทำบัญชีดำส่งเป็นรายงานโดยให้เวลา 3 วัน ซึ่งเราก็ต้องมาหาหลักฐานตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่ง ก็พบว่าบัญชีดำในแต่ละพื้นที่ถูกทำลายทิ้งหมดแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากมีความขัดแย้งเรื่องธุรกิจส่วนตัวก็อาจจะมีการนำรายชื่อ เข้ามาใส่ได้ จากการที่ตนทำคดีละเมิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ว่ามีคดีที่เกี่ยวกับคดียาเสพติดแต่เมื่อไปตรวจสอบบุคคลนั้นๆ กลับไม่มีประวัติที่เกี่ยวกับยาเสพติดเลย
เขากล่าวว่า ศาลโลกที่มีกฎหมายอาญาระหว่างประเทศระบุไว้ว่าความผิดกรณีอาชญากรรมต่อ มนุษยชาติ มีองค์ประกอบ ดังนี้ มีการประทุษร้ายเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ประทุษร้าย ต่อประชาชนพลเรือน มีการประทุษร้ายซึ่งเป็นการฆาตกรรม และผู้ที่รับนโยบายรู้ถึงการกระทำนั้นๆ ซึ่งการฆ่าตัดตอนก็เข้าข่ายตามองค์ประกอบนี้ มีการมอบนโยบายที่กระทำทั่วประเทศ มีเป้าหมาย กระทำกันอย่างเป็นระบบ มีการรายงานผลของคดีอยู่ตลอด ดังนั้น เราจึงสรุปว่าการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณที่มีนโยบายเข้าข่ายเป็นความผิดต่อ มนุษยชาติ ซึ่งเราได้ไปลงนามในกฎหมายศาลอาญาระหว่างประเทศไว้แล้วในสมัยนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ แต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ให้ความเห็นชอบให้ไปลงสัตยาบัณร่วม ซึ่งหากตอนนี้เราไปแก้กฎหมายแล้วไปลงสัตยาบัณตามกฎหมายก็ไม่มีผลย้อนหลังของ คดี
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวว่า ถ้าไม่ทำคดีนี้ต่อก็ไม่เกิดประโยชน์ นโยบายนี้ทำให้เกิดผลเสีย 2 อย่าง คือ มีผู้เสียหายเยอะ และประเทศไทยถูกวิจารณ์จากสังคมโลก ถือเป็นผลเสีย เมื่อมีผลเสียเราคงต้องดำเนินการต่อ ตนเสนอหาคนที่ทำผิดเอามาดำเนินการทางกฎหมายให้ได้ นอกจากนี้ มีผู้รอรับการเยียวยาอยู่ เราต้องเข้าไปรักษาแผลใจให้ได้ และจะทำอย่างไรไม่ให้มีพฤติกรรมทำนองนี้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ตน คิดว่ามีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สอบสวนอยู่แล้ว นายกฯ คงไม่ต้องไปตั้งหน่วยใหม่ นอกจากนี้ ตนมองว่าการฆ่าตัดตอนเป็นอาชญากรรมร้ายแรง แต่เรื่องอื่นทั้งเหตุกาณ์ที่กรือเซะ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. และแผนการกระชับพื้นที่เมื่อเดือนพ.ค.ก็ต้องมีการตรวจสอบ ตนมองว่าการประกาศสงครามกับยาเสพติดค่อนข้างรุนแรงกว่ามาก
“วสิษฐ” ชี้ สตช.ถูกปู้ยี่ปู้ยำ แนะ กากี ยึดกม.มากกว่าคำสั่งผู้บังคับบัญชา ระบุ ให้ดีเอสไอสานต่อจะคืบมากกว่าตำรวจทำเอง
ด้าน พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า ตนห่วงจากการประกาศของพ.ต.ท.ทักษิณมันส่อให้เห็นว่าระบบกระบวนการยุติธรรม กำลังถูกละเมิดโดยฝ่ายบริหาร การประกาศแบบจะตัดสินล่วงหน้าว่าถ้าทำอย่างนี้จะต้องเป็นอย่างนั้น เห็นว่าก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาล การที่ประมุขฝ่ายบริหารเริ่มต้นแบบนี้ที่บอกว่าถ้าไม่เลิกก็ต้องไปอยู่ในคุก หรือไม่ก็สุสาน ข้อความพวกนี้มันเป็นสัญญาณให้เจ้าหน้าที่จะต้องทำ ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องทำ ยากที่จำไม่สนอง จึงเกิดมีบัญชีดำขึ้น ซึ่งก็แน่ใจว่าการกระทำความผิดจากเจ้าหน้าที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อตอนที่มีนายกฯ คนนี้ อำนาจในบ้านเมืองอยู่ในกำมือของนายกฯ โดยสมบูรณ์ การ ทำงานก็ขึ้นตรงกับนายกฯ ทั้งผู้ว่าฯ ผู้บังคับการจังหวัดก็จำเป็นต้องสนองนโยบาย จึงเป็นที่มาของบัญชีดำ และทุกคนก็ต้องตอบให้ได้ใครเป็นผู้กระทำผิด
พล.ต.อ. วสิษฐ กล่าวว่า ในช่วงที่มีการประกาศสงครามกับยาเสพติดสมัยพ.ต.ท.ทักษิณดูค่อนข้างจะดุเดือด มาก แต่ตำรวจถูกใช้ และบางทีก็เต็มใจจะให้ใช้ดำเนินการโดยเด็ดขาดนอกระบบศาลกับผู้ต้องหา ซึ่งสถานการณ์ขณะนั้นกับขณะนี้ต่างกันเพราะแม้วอำนาจเด็ดขาด พรรคการเมืองพรรคเดียวคุมทั้งสภา จะออกกฎหมายอะไรก็ได้ แต่สมัยนี้มีรัฐบาลเหมือนลูกผีลูกคน นายกฯ จะทำอะไรพรรคร่วมเขาจะเอาด้วยหรือไม่
“ตนเตือนตำรวจเสมอว่า ให้ยึดกฎหมายเป็นหลักหากคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผิดกฎหมาย ต้องปฏิเสธคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้วค่อยไปสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ขณะนี้หากพิจารณาให้ดีว่ารากของปัญหาไม่ได้มีแค่ตรงนี้แต่ยาวไปถึงผลการที่ สตช.ถูกทำลายปู้ยี่ปู้ยำ สะท้อนถึงภาพของปัญหา หากตำรวจได้รับการอบรม ขัดเกลา ปลูกฝังโดยถือเอาหน้าที่เป็นสำคัญ ไม่ใช่เอาคำสั่งผู้บังคับบัญชาเป็นสำคัญ เราจะไม่ต้องมานั่งพูดกันเรื่องนี้เลย หากปฏิเสธว่าท่านทำอย่างนี้มันผิด ผมทำไม่ได้ ถือว่าท่านกำลังจะละเมิดศาล แต่จะมีใครสักกี่คนที่กล้าพูดในตอนนั้น” พล.ต.อ.วสิษฐกล่าว
พล.ต.อ. วสิษฐ์ กล่าวว่า งานนนี้ถ้าจะทำจริงดีเอสไออาจจะต้องมาทำ โดยเป็นผู้ส่งฟ้องต่อศาล เพราะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาทำอาจจะไม่สำเร็จ คิดว่าต้องเดินหน้าต่อ คนตายตั้งเยอะแยะจะให้กลายเป็นเรื่องลึกลับในประวัติศาสตร์คงไม่ได้ เรื่องนี้ถึงแม้ว่าคนไทยอาจจะถูกบังคับให้ลืมแต่โลกเขาไม่ลืมด้วย โลกฟ้องเราได้ แม้จะไม่ห้องทางกฎมหาย ก็หฟ้องทางศีลธรรม เสียหายกับบ้านเมืองเหมือนกัน ทั้งนี้ หากจะให้เปรียบเทียบกันตนฟันธงว่าการฆ่าตัดตอนมีความรุนแรง และร้ายกาจมากทั้งจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้เสียหาย ซึ่งยังไม่สามารถเอาใครมารับผิดชอบได้เลย
ไทยโพสต์
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1313 ครั้ง