ผลลัพธ์ของประชาธิปไตย : วิกฤตการเงินและหนี้สาธารณะ
วิกฤตการเงินที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายต่อโลกในขนาดที่ใหญ่โตที่สุดนับตั้งแต่ช่วง The Great Depression ปี 1929 หลายคนพุ่งเป้าไปที่ความผิดพลาดและความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจต่างๆนานาในระบบการเงินไม่ว่าจะเป็นการหละหลวมของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการให้เครดิตเรตติ้งตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อนอย่าง CDO ในระดับที่สูง น่าลงทุนจนถึงระดับ AAA ซึ่งทำให้บรรดานักลงทุนเกิดการประเมินความเสี่ยงที่ผิดพลาด หลายฝ่ายโทษการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯในยุคของนายอลัน กรีนสแปน ที่ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปคือ 1% เป็นเวลาที่นานเกินไป นานพอที่จะให้สถาบันการเงินกู้เงินราคาถูกไปปล่อยกู้บ้านราคาถูกๆให้ผู้กู้ที่ด้อยคุณภาพมากู้แบบสบายมือ นอกดจากนั้นหลายคนก็โทษระบบกฎระเบียบในภาคการเงินทั้งในยุโรปและสหรัฐฯที่แทบจะไม่ควบคุมการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่หลุดไปถึงขั้นกู้เงินมาเก็งกำไรแบบไร้ขอบเขต ธนาคารแตกสาขาธุรกิจไปซื้อขายตราสารการเงินและเฮดจ์ฟันด์ และค้าอนุพันธ์กันแบบสนุกมือ บางคนถึงขั้นโทษประเทศในเอเชียที่เกินดุลการค้าประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯมากเกินไปจนเศรษฐกิจโลกไร้ความสมดุลจนไปถึงขั้นเกิดวิกฤตการเงิน
จริงๆแล้วมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในโลก และเหมือนจะเกิดขึ้นในหลายๆที่พร้อมๆกัน นั่นคือ วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นกับระบบการเมืองในปัจจุบัน หากมาดูความเห็นของผู้คนทั่วโลกตามอินเตอร์เน็ตจะพบว่าหลายๆคนเริ่มเกิดอาการหมดศรัทธากับนักการเมืองในประเทศตัวเองมากขึ้น วิกฤตการเมืองกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกหลังจากวิกฤตการเงินดำเนินมากว่า 3 ปีแล้ว จากการที่ผู้คนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงินครั้งนี้ผู้คนตกงานกันมากมาย ขณะที่รัฐบาลมุ่งทุ่มทรัพยากรทั้งหมดในการแก้ปัญหาไปที่ระบบการเงิน ไปที่สถาบันการเงินซึ่งคือ ผู้สร้างปัญหา ทำให้ผู้คนเริ่มไม่พอใจรัฐบาลต่างๆมากขึ้น วิกฤตการเงินในยุโรปที่ระเบิดขึ้นที่กรีซเริ่มลุกลามไปสู่วิกฤตการเมืองที่คนเริ่มลุกฮือก่อหวอดประท้วงรัฐบาลที่จำการตัดสวัสดิการเพื่อลดหนี้สินของภาครัฐ กรีซ สเปน มีการเดินขบวนกันอย่างหนาตา ฝรั่งเศสดูจะหนักเป็นพิเศษ คนงานกว่า 1 ล้านคนขู่รวมตัวนัดหยุดงานใหญ่ ขณะที่พรรคซ้ายจัดในฝรั่งเศสถึงกับประกาศรื้อฟื้นการปฏิวัติครั้งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง เยอรมันก็อาจหลีกหนีภาวะนี้ไม่พ้นในอนาคต
ความจริงวิกฤตการเมืองที่ตามหลังวิกฤตการเงินนั้นเริ่มต้นมากว่า 20 ปีแล้ว ในประเทศที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกมากอย่างญี่ปุ่น ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีนั้น ญี่ปุ่นนับแต่หลังฟองสบู่แตกในปี 1990 รัฐบาลญี่ปุ่นก็ไร้เสถียรภาพมาตลอดมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสำคัญๆอย่างรัฐมนตรีคลังถี่มาก ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็อยู่ไม่ยืนมาก มีการผลัดเปลี่ยนกันไม่ซ้ำหน้าเป็นเวลานาน แสดงให้เห็นถึงศรัทธาของประชาชนที่เสื่อมถอยอย่างแรงต่อนักการเมืองในระบอบรัฐสภา
ความจริงแล้วตัวระบบการเมืองที่ใช้ในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่มีความบกพร่องในเชิงโครงสร้างอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าในสังคมหนึ่งๆนั้นจะประกอบไปด้วยชุดของกฎระเบียบ ค่านิยม และสถาบันต่างๆที่ก่อร่างสร้างระบบสังคมขึ้นมาและก็จะเลือกสรรเอาระบบการเมือง เศรษฐกิจ และคุณค่าบางอย่างที่เหมาะสมกับการทำงานและเคลื่อนตัวไปของสังคมนั้นๆในแต่ละยุคสมัย ระบบการเมืองนั้นถือเป็นโครงสร้างสถาบันที่ใช้เวลาเปลี่ยนแปลงค่อนข้างนานและยากกว่าระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจอยู่ใกล้ตัวมนุษย์เพราะเป็นเรื่องการทำมาหากินในชีวิตประจำวัน แต่ระบบการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่กำหนดกรอบการทำงานของระบบเศรษฐกิจอีกที รัฐมีหน้าที่ออกและบังคับใช้กฎหมาย ตั้งระบบภาษี นโยบายการเงิน และข้อตกลงการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระบบการเมืองจึงอยู่เหนือระบบเศรษฐกิจ ทุกวันนี้เรามีประชาธิปไตยอยู่บนโลกใบนี้มากว่า 200 ปี และกระแสของประชาธิปไตยและเสรีภาพและทุนนิยมก็ถูกขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องนับแต่สงครามเย็นเริ่มขึ้นและหนักมากขึ้นในยุค 1980 และหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย
เมื่อระบบรัฐสภานั้นเลือกสรรเอานักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง และประชาชนนั้นใช้สิทธิ์ทางการเมืองผ่านตัวแทนในสภา นั่นย่อมหมายความว่าภายใต้ระบบนี้ นอกจากจะใช้ปริมาณเป็นที่ตั้งแล้ว ระบบนี้ยังอยู่บนพื้นฐานที่มีความสุดขั้วในตัวเอง นั่นคือ ไปได้ทั้งดีที่สุดจนถึงเลวที่สุด เพราะภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนั้นจะทำให้คนไม่จำกัดจำพวกเข้าสู่ระบบการเมืองได้ขอเพียงให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็พอซึ่งอาจเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่มีคุณธรรมและปัญญาสูงส่ง ไปจนกระทั่งคนชั่วและอาชญากรที่ใช้เงินอำนาจเพื่อหวังมาตักตวงผลประโยชน์ ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ามติมหาชนจะถูกเสมอไป เพราะผู้หย่อนบัตรเลือกตั้งจะคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของตัวเองเป็นสำคัญ ซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของมนุษย์นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องหมายถึงผลดีผลได้ในระยะยาวของสังคมด้วย เพราะระบบทุนนิยมและระบบการเงินนั้นจำกัดให้คนอยู่แต่ปัญหาการทำมาหากินเฉพาะหน้าเท่านั้น และยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับภาวะโลกาภิวัตน์ที่ทั้งทุนการเงินและทุนการผลิตมีการเคลื่อนตัวอ่างรวดเร็วแล้ว ย่อมทำให้ความมั่นคงของงานและรายได้ลดน้อยถอยลงไปด้วย
ขณะเดียวกันภายใต้แนวคิดของเสรีภาพและสิทธิทำให้มนุษย์คิดจะทำอะไรก็ได้ ตราบใดที่ไม่ละเมิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการกระทำนี้จะเป็นผลดีต่อสังคมโดยรวมในระยะยาว มนุษย์มีแนวโน้มใช้เวทีการเมืองเพื่อมุ่งหาประโยชน์ส่วนตัว ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจึงเต็มไปด้วยมนุษย์ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งตั้งแต่ตาสีตาสา คนชั้นกลาง ไปจนถึงเศรษฐีพันล้านที่มองประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้งโดยไม่ได้ใส่ใจผลประทบที่จะมีต่อผู้อื่นในปัจจุบันและในอนาคตและรวมถึงสิ่งมีชีวิตร่วมโลกและระบบนิเวศน์ด้วย ระบอบประชาธิปไตยใช่ว่าว่าไม่ได้พูดถึงความรับปิดชอบและหน้าที่ของพลเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นแค่แนวคิดและคนก็แทบไม่พูดถึงเรื่องนี้กันเลย
เมื่อผู้ออกเสียงเลือกตั้งนึกถึงประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวเป็นที่ตั้ง ก็ย่อมเลือกนักการเมืองที่เสนอชุดนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของตัวเองเป็นธรรมดา ขณะเดียวกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หากรัฐบาลทำให้ประชาชนไม่พอใจก็อาจอยู่ได้ไม่นานไม่ว่าจะเป็นการพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งหรือแม้แต่โดนขับไล่จากการเดินขบวนประท้วงใหญ่ นักการเมืองจึงต้องเอาใจประชาชนเต็มที่ผลก็คือ การออกนโยบายเอาใจกันแบบสุดๆที่เห็นผลทันตาในเวลาไม่นาน ทั้งนี้ในแต่ละสมัยนั้นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็รับใช้คนหลากจำพวกตามดุลอำนาจทางการเมืองของคนในสังคมในแต่ละยุคด้วย บางช่วงก็เป็นช่วงของนายทุน บางช่วงก็เป็นช่วงของมวลชนผู้ยากไร้ หรือชนชั้นกลาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของแต่ละประเทศในแต่ละช่วงด้วย
แต่รัฐบาลและนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อต้องการอยู่ในอำนาจนานๆแล้ว ย่อมต้องออกนโยบายที่เอาใจคนกลุ่มต่างๆและรั้งคะแนนเสียงของคนให้มากที่สุดภายใต้สภาพที่ประชาชนผู้ออกเสียงจะออกเสียงเพื่อตัวเองเป็นสำคัญ แนวโน้มของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในระบอบนี้ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการหมุนเวียนกันระหว่างการเปิดเสรีสุดขั้วไปจนถึงการใช้จ่ายแบบสุดขั้วเพื่อเอาใจทั้งนายทุนและกลุ่มพลังมวลชน การที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่ต้องรั้งฐานมวลชนหรือแท้แต่นายทุนบางพวกนั้น สิ่งที่จะติดตัวกับรัฐบาลมาก็คือ การเกิดขึ้นของหนี้สาธารณะ เพราะเครื่องมือที่จะเอาใจฐานเสียงได้ดีที่สุดก็ไม่พ้นการใช้จ่ายที่มุ่งไปที่ฐานเสียง ในกรณีของนายทุนหนี้อาจเกิดทางอ้อมจากการลดภาษีและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เพื่อไปเพิ่มกำไรให้นายทุน ขณะเดียวกันด้วยแนวคิดเรื่องเสรีภาพตามความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยและกลไกตลาด ขณะที่ระบบนี้คนทุกพวกเข้าถึงอำนาจได้ง่าย นายทุนการเงินซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนที่หาเงินได้ง่ายที่สุด มากที่สุด และเร็วที่สุดจึงเป็นผู้ได้เปรียบและมีอำนาจมากในยุคโลกาภิวัตน์
จริงๆตัวอย่างพวกนี้มีให้เห็นแล้วที่ละตินอเมริกาที่เกิดการใช้จ่ายเกินตัวจนประเทศล้มละลายจนเคยชินแล้ว ตอนนี้ปัญหาเริ่มลามมาที่ยุโรปเพราะรัฐบาลก็เป็นหนี้หนักจากการแบกภาระด้านสวัสดิการ ส่วนสหรัฐฯก็มีการก่อหนี้มากทั้งในภาครัฐและเอกชน รัฐบาลทั่วโลกก่อหนี้มากขึ้นหลังวิกฤตการเงิน ทำให้ทั่วโลกมีหนี้สูงขึ้น แต่เมื่อรัฐบาลต้องการรัดเข็มขัดหรือขึ้นภาษีนโยบายเหล่านี้จะได้รับการต่อต้าน การขึ้นภาษีย่อมทำให้ชีวิตที่สุขสบายของคนต้องถูกลิดรอนไปและคนย่อมไม่เห็นด้วย แต่ด้วยธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยนั้น เนื่องด้วยคนจะตัดสินใจด้วยประโยชน์ส่วนตัวในระยะสั้นๆ ทำให้โครงการหรือนโยบายบางประเภทที่เป็นผลดีระยะยาวมักจะถูกตีกลับและละเลยเพราะจะก่อให้เกิดความไม่สะดวกสบายในระยะสั้นและที่สำคัญต้องมีการเก็บภาษีหนักๆ มนุษย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพอย่างเคยชินคงรับไม่ได้หากรัฐบาลเก็บภาษีเพื่อควบคุมการก่อมลพิษของคนทุกคนทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อปรับพฤติกรรมการผลาญทรัพยากรและมีเงินลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อมและใช้งบประมาณไปลงทุนในนโยบายอื่นๆที่เป็นประโยชน์ ถ้านโยบายนี้ออกในช่วง 40-50 ปีที่แล้ว หรือแค่ 10-20 ปีที่แล้ว คงไม่ค่อยมีคนรับฟัง เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ ทั้งๆที่เป็นเรื่องใหญ่ นี่คือ ปัญหาสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่มีแนวโน้มขวางกั้นนโยบายที่สร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนในระยะยาวแต่ก่อให้เกิดความลำบากในช่วงสั้นๆ
ดังนั้นประชาชนก็ไม่ควรที่จะโทษแต่นักการเมืองและนักการเงินในเรื่องวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้น นั่นเพราะนักการเมืองก็คือ ผลผลิตที่เกิดจากประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งอีกทีหนึ่ง ดังนั้นประชาชนทั่วไปควรจะมีสำนึกรับผิดชอบกับการตัดสินใจทางการเมืองที่ผิดพลาดในระบอบนี้ด้วย แต่มนุษย์มีธรรมชาติที่ไม่เคยโทษตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้หากจะแก้กันจริงๆจังๆได้ มนุษย์ต้องปรับกระบวนทัศน์ทางการเมืองเสียใหม่ ต้องรู้จักรับผิดขอบทางการเมืองมากขึ้น เมื่อกล้าที่จะขออำนาจทางการเมืองมาใช้เองหลังจากที่ระบอบศักดินาพังทลายไปแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบการใช้อำนาจทางการเมืองด้วย ขณะที่สำนึกทางการเมืองนั้นต้องลดความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า และมองในระยะยาวและมีความเสียสละมากขึ้น การเมืองภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ที่ไม่ใช่ระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบเดิมจะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ป้องกันหายนะทางการเงิน และเกิดขอบเขตที่เหมาะสมระหว่างสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบและการเสียสละมากขึ้น
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1634 ครั้ง