รูปภาพ : ผู้ประท้วงขับไล่รัฐบาลประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารักของอิยิปต์กำลังปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล ณ เมืองท่าซูเอส หลายฝ่ายวิตกว่าวิกฤตอาหารอาจเรื้อรังจนบานปลายเป็นวิกฤตการเมืองทั่วโลกหากราคาอาหารยังคงอยู่ในระดับสูง
มูลค่าการนำเข้าอาหารทั่วโลกอาจสูงขึ้น 21% มาอยู่ที่จุดสูงสุดใหม่กว่า 1.29 ล้านล้านดอลลาร์หรือกว่า 39 ล้านล้านบาทในปี 2011 นี้ โดยประเทศยากจนต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 30% เทียบกับปีที่แล้ว องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาขาติหรือเอฟเอโอแถลงวานนี้ (อังคารที่ 7 มิถุนายน 2011)
ต้นทุนของโภคภัณฑ์เมล็ดพืชและน้ำมันพืชต่างๆจะคิดเป็น 40% ของต้นทุนอาหารที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น FAO กล่าวในรายงานในเว็บไซต์วานนี้ ต้นทุนค่าปศุสัตว์อาจเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 17% น้ำตาลและเครื่องดื่มเพิ่ม 26% และผักและผลไม้เพิ่ม 13% เอฟเอโอกล่าว
“นี่จะเป็นการเพิ่มขึ้นที่มากจริงๆสำหรับประเทศต่างๆซึ่งในขณะนี้มีความอ่อนไหวต่อราคาอาหารมาก และประเทศที่ขณะนี้กำลังเจอกับภาวะเงินเฟ้ออาหารที่รุนแรง” นายอับดอลเรซ่า อับบาสเซียน (Abdolreza Abbassian) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเอฟเอโอในกรุงโรมกล่าวในเว็บแคสต์ที่ถ่ายทอดในเว็บไซต์ของเอฟเอโอ
ต้นทุนค่าอาหารในเดือนพฤษภาคมใกล้จุดที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงต้นปี 2011 โดยได้รับแรงหนุนจากราคาเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่สูงขึ้น เอฟเอโอกล่าวในรายงานอีกฉบับวานนี้ บรรดาอาหารจำเป็นต่างๆซึ่งรวมถึงข้าวโพดจะพุ่งขึ้นมากกว่าเท่าตัวในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้าหากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ บริษัทอ็อกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล (Oxfam International) กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“สถานการณ์ด้านอุปทานที่อยู่ในสภาพปริ่มๆจนเกือบไม่พอกับความต้องการ ดังนั้นแล้วราคาจะยังอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่ต่อไป” นายอับบาสเซียนกล่าว “สถานการณ์อยู่ในลักษณะนี้มาร่วมๆเกือบ 6 เดือนแล้วและแนวโน้มในฤดูกาลใหม่นี้ก้ดูเหมือนจะบอกว่า สถานการณ์เช่นเดียวกันนี้จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง”
ที่มา Bloomberg
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday