รูปภาพ : ธนบัตร 100 ดอลลาร์และ 100 หยวน
ที่มา : Zuma Press ในเว็บไซต์ Wall Street Journal
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างออกมาเตือนนักลงทุนซาอุดิอาระเบียว่า หนี้สินที่พอกพูนขึ้นของสหรัฐฯและเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าต่อเนื่องกำลังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ถือว่ามาปลอดภัยมาโดยตลอด : พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นกว่า 70% ของการลงทุนของซาอุดิอาระเบียในสหรัฐฯ
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารอัลเอคติซะดิอะห์ (Al-Eqtisadiah) ซึ่งเป็นนิตยสารในเครือเดียวกับอาหรับนิวส์โดยกล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่า อำนาจในการครอบงำเศรษฐกิจโลกของเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะไม่คงอยู่ไปตลอดท่ามกลางหนี้สินกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์
นายราจา อัลมาร์ซูกี (Raja Al-Marzouki) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกล่าวว่า เงินดอลลาร์ที่ร่วงลงต่อเนื่องจะส่งผลกระทบทางลบต่อการลงทุนต่างประเทศของซาอุดิอาระเบีย
“ดังนั้นแล้วการลงทุนทั้งหมดและเงินฝากจะเสื่อมค่าลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ อำนาจซื้อ และผลกำไรของการลงทุนในต่างประเทศของซาอุดิอาระเบีย” เขากล่าว โดยทำนายว่า เงินดอลลาร์จะยังคงอ่อนค่าลงต่อไป “นักลงทุนซาอุดิอาระเบียต้องตระหนักถึงอันตรายจากการลงทุนในเงินเพียงสกุลเดียว”
จากความเห็นของเขา ขณะนี้ไม่มีเงินสกุลใดสกุลหนึ่งที่สามารถแทนที่เงินดอลลาร์ได้และคาดว่าระบบตะกร้าเงินหลายสกุลจะควบคุมระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคต เขาแนะนำว่านักลงทุนชาวซาอุฯต้องมีการกระจายการลงทุนไปในเงินสกุลต่างๆเพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงหนัก
ในยามที่ตะกร้าเงินเข้าแทนที่เงินดอลลาร์ ระบบตะกร้าเงินนี้ควรจะมีการรวมเอาเงินสกุลต่างๆจากประเทศกำลังพัฒนาด้วย โดยพิจารณาถึงส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น นายอัลมาร์ซูกีกล่าว
ด้านนายอับดุล ระห์มัน อัลซานี่ (Abdul Rahman Al-Sanie) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศษสตร์จากวิทยาลัยการบริหารธุรกิจ (College of Business Administration) ให้คำแนะนำกับนักลงทุนซาอุฯว่า ควรถอนการลงทุนออกจากสหรัฐฯเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนที่มันจะสายเกินไป
“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอยู่ในสภาพที่ร่วงลงต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศเช่น สงครามอ่าว สงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก และวิกฤตระบบธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึเนเป็นกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์”
อัลซานี่เชื่อว่า การครอบงำของเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจโลกจะอยู่ไม่เกิน 5 ปี “เราต้องทบทวนการลงทุนของเราในดอลลาร์” เขากล่าว “ประมาณ 30% การลงทุนต่างประเทศของเราอยู่ในสหรัฐฯ นี่เป็นปริมาณที่ใหญ่โตมากเมื่อคำนึงถึงเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบีย”
เขาคาดว่า กลุ่ม G20 จะถอนเงินดอลลาร์สหรัฐฯออกจากสถานะของการเป็นเงินตราพื้นฐานของธนาคารโลกและเสนอระบบตะกร้าเงินและทองคำเพื่อเพิ่มความแกร่งให้กับธนาคาร
“เราคาดว่า จะมีประเทศอุตสาหกรรมที่กลับเข้าสู่นโยบายดั้งเดิมที่อิงกับมาตรฐานทองคำเพิ่มขึ้น” เขากล่าวเสริม
ธนาคารกล่งหรือประเทศเก็บรักษาทองคำสำรองเพื่อเป็นเครื่องมือในการกักเก็บมูลค่าและเป็นหลักประกันเพื่อการไถ่ถอนตามสัญญาที่ให้ไว้กับผู้ฝาก ผู้ถือตั๋ว (เช่น เงินกระดาษหรือธนบัตร) หรือกับคู่ค้า หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราสกุลนั้นๆ
เขากล่าวอีกว่า ตอนนี้ไม่มีเงินสกุลใดที่แข็งแกร่งพอที่จะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์ เงินยูโรได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาของความปั่นป่วนและภาวะล้มละลายของประเทศสมาชิกสหภาพบุโรปเช่น โปรตุเกสและกรีซ ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่นร่วงลงหนักในช่วงที่เกิดสึนามิและวิกฤตนิวเคลียร์ และเงินปอนด์อังกฤษก็ได้รับผลกระทบหนักจากภาวะเงินเฟ้อ
ด้านนายอิห์ชาน บูฮูไลกา (Ihshan Bu-Hulaiga) นักเศรษฐศาสตร์และอดีตสมาชิกสภาชูระ (Shoura Council) กล่าวว่า การร่วงลงของค่าเงินดอลลาร์ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนของบริษัทข้ามชาติอีกด้วย
“สถานการณ์โดยทั่วไปของเศรษฐกิจโลกยังคงไม่แน่นอนในยามที่เงินดอลลาร์ยังคงร่วงต่อเนื่องและเงินสกุลอื่นแข็งค่า และผมเชื่อว่า เงินดอลลาร์ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุน แม้จะไม่ดีที่สุดก็ตาม”
เขายังคงเชื่อว่า การลงทุนในโภคภัณฑ์ในสหรัฐฯจะไม่ได้รับผลกระทบจากเงินดอลลาร์ที่ร่วงลง
ที่มา Arab News
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday