โครงการสันติอาสา สักขีพยาน เกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายสันติวิธี ที่ส่งอาสาสมัครลงพื้นที่รวบรวมและนำเสนอข้อมูลความขัดแย้งที่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อนำไปสู่การระงับหรือบรรเทาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ โครงการสันติอาสาฯ โดยการนำของ นารี เจริญผลพิริยะ หัวหน้าโครงการสันติอาสาสักขีพยาน มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ ระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค.
มีข้อมูลจากประสบการณ์ตรงมาบอกต่อ รวมถึงการประเมินสถานการณ์ว่าความขัดแย้งจะเดินไปสู่แนวทางสันติวิธี ได้หรือไม่
เข้าร่วมสังเกตการณ์ในที่ชุมนุม
เราเข้าไปสังเกตการณ์ตั้งแต่ 13 มี.ค. แต่เต็มรูปแบบวันที่ 14 มี.ค. ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไปราบ 11 เราเข้าไปเป็นฝ่ายที่สาม เวลามีการเผชิญหน้า ความหวาดระแวงจะสูง เมื่อเกิดความหวาดระแวงหากเจอหน้ากันจะตีความเกินจริง นำไปสู่ความรุนแรงได้ ถ้ามีเสียงประทัดก็จะอ่อนไหว ทหารยิงประชาชนหรือเปล่า? ถ้าคำว่า “หรือเปล่า” หายไปก็เป็นเรื่องวันที่เราไปมีความพยายามควบคุมกันเองพอสมควร พอมีเสียงประทัดก็มีคนตะโกนอย่างนี้ หัวหน้าการ์ดจึงตะโกนกลับไปทันทีว่าตรวจสอบหรือยัง มีการเตือนกันว่าอย่าพูดสุ่มสี่สุ่มห้า ข่าวยิงเอ็ม 79 ที่ ร.1 รอ ผู้ชุมนุมดูทีวีแล้วนำมาพูดผ่านโทรโข่ง ประกาศว่ามีการยิงเอ็ม 79 เข้าค่ายทหารแต่ไม่ใช่เราทำ ข้อความออกมาในลักษณะว่ามีการกล่าวหาผู้ชุมนุม การ์ดก็เรียกเข้าไปคุยให้หยุดพูดลักษณะนี้ หรือเมื่อไปถึงหน้าราบ 11 แล้ว มีการแจ้งข่าวมาว่ามีคนมาซุ่มยิงจากตึกกรมทางหลวงชนบท ฝั่งตรงกันข้าม การ์ดปีนรั้วจะเข้าไปตรวจสอบ เจ้าของอาคารพยายามชี้แจงว่าบนอาคารไม่มีคนอยู่ กลับบ้านกันหมดแล้ว แต่ผู้ชุมนุมไม่เชื่อต้องอาศัยฝ่ายที่สามคืออาสาและกลุ่มนักข่าว จึงห้ามการ์ดอยู่ หน้าที่ในสถานการณ์เฉพาะหน้าของอาสาอย่างนี้ ก็มีความจำเป็นนอกเหนือจากการเป็นพยานความจริง
เท่าที่สัมผัสมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงได้ตลอดหรือไม่
ผู้ชุมนุมไม่ว่ากลุ่มไหน พื้นฐานไม่อยากเป็นทั้งผู้ใช้ความรุนแรงและถูกกระทำรุนแรง ไม่มีใครอยากเจ็บตัว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ แม้จะถืออาวุธ เป็นหน่วยที่ฝึกมาเพื่อใช้กำลังแต่ถามทุกคนไม่อยากเผชิญหน้ากับความรุนแรงเพราะมีโอกาสเลือดตกยางออก แต่การชุมนุมอาจเกิดอารมณ์ร่วม เกิดจากการปลุกเร้า การใช้ความรุนแรงของแต่ละฝ่ายถูกกำหนดโดยผู้นำแต่ละฝ่าย ที่พูดแบบนี้หมายถึงผู้นำทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบ หากเกิดอะไรขึ้นคุณต้องรับผิดชอบ ทั้งผู้นำรัฐบาลที่ดูแลเจ้าหน้าที่ ผู้นำการชุมนุมก็เช่นกัน จะมาโทษฝูงชนเกิดอารมณ์บ้าคลั่ง ไม่เห็นว่าเป็นอย่างนั้น 2-3 วันมานี้เห็นแล้วฝูงชนอัดอั้นตันใจ อุณหภูมิสูง แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้น อย่ามาบอกมือที่สาม เพราะผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย ต้องระวังและจัดการให้ดี และการชุมนุมโดยสันติ ไม่ใช่เราจะไม่เริ่มใช้ความรุนแรงก่อนเท่านั้น ต้องถึงขั้นหากคู่กรณีใช้ความรุนแรงต้องสามารถทำให้เกิดความสันติได้ด้วย
โอกาสในการเจรจา
ในแง่ประชาชนอยากให้โต๊ะเปิด เพราะถ้าโต๊ะเปิดเมื่อไหร่ความรุนแรงจะหยุดชั่วคราวแน่ๆ ทฤษฎีเป็นอย่างนั้น จึงอยากให้มีการเปิดโต๊ะเจรจาเพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันแล้วว่าจะเลือกใช้วิธีการเจรจา หมายความว่าทั้งคู่เลือกสันติวิธี แต่ระหว่างที่โต๊ะยังไม่เปิดมันมีความอ่อนไหว ต่างฝ่ายต่างต้องดูความได้เปรียบ เพราะเมื่อขึ้นโต๊ะต้องมีอำนาจต่อรอง ดังนั้น ขณะที่มีการเจรจา การชุมนุมยังคงอยู่ เพียงแต่ตกลงกันว่าผู้ชุมนุมต้องไม่เคลื่อน ปกติก็เป็นแบบนี้ แต่ถ้าคู่กรณีจะยื่นข้อเสนอเมื่อเริ่มคุยต้องหยุดชุมนุม คงเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ชุมนุมก็ต้องการหลักประกัน รัฐบาลก็น่าจะรับได้ เพราะฝ่ายรัฐบาลมีกลไกของรัฐเป็นอำนาจอยู่แล้ว จะใช้อำนาจเมื่อไหร่ก็ได้ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุม การรวมตัวต้องใช้เวลา การบอกให้หยุดแล้วค่อยมาคุยคงเป็นไปไม่ได้ ระหว่างการเจรจาม็อบอาจไม่เคลื่อนแต่ยังชุมนุมอยู่เพื่อเป็นกำลังในการต่อรอง รัฐก็ต้องเปิดใจกว้าง ในเวลาเดียวกันไม่อยากให้ผู้ชุมนุมตั้งแง่เมื่อรัฐบาลเปิดช่องทาง เพราะการชุมนุมยืดเยื้อ ในส่วนของผู้ชุมนุมที่มาจากต่างจังหวัด ต่างถิ่น การชุมนุมยิ่งนานชาวบ้านก็ยิ่งเดือดร้อน เมื่อเห็นแล้วว่าหลายฝ่ายเปิดทางก็น่าจะคุยไม่ควรยืดเยื้อต่อไป ความขัดแย้งที่เนิ่นนานมาขนาดนี้แต่ละฝ่ายมีความพร้อมเรื่องข้อเรียกร้อง รู้ว่าจะทำอะไร อย่างไร เพราะคิดมาจุดหนึ่งแล้วรู้ว่าคุยอย่างไรถึงจะกระชับ มีประสิทธิภาพไม่ให้ประเด็นแตก น่าจะตกลงกันได้เร็ว
การเทเลือดหรือบุกไปยังสถานที่ส่วนบุคคล ยังอยู่ในกรอบสันติวิธีหรือไม่
เรื่องนี้เป็นปัญหาทางการเมืองแต่ผู้ชุมนุมกลับไปที่บ้าน ทำเนียบเป้าหมายคือรัฐบาล แต่ที่บ้านเป็นเรื่องส่วนบุคคล คนที่บ้านเขาไม่เกี่ยวข้อง เป็นประชาชนก็ต้องได้รับการคุ้มครอง นายกฯ จะฟ้องร้องก็สามารถดำเนินการได้ ถามว่าเป็นแนวทางสันติวิธีหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง มีปัญหาเรื่องความเชื่อด้วย เพราะเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์และมีพิธีกรรม หากทั้งผู้ทำและผู้ถูกกระทำมีความเชื่อ เมื่อ 2 ฝ่ายเชื่อก็เป็นความรุนแรงได้ แต่ถ้าไม่เชื่อก็ไม่มีผล เป็นความรุนแรงในระดับที่เป็นกายภาพหรือไม่ ในทางกายภาพบางคนถือเป็นสัญลักษณ์ ไม่มีเลือดตกยางออก แต่ในเวลาเดียวกันคนที่ถูกกระทำอาจรู้สึกว่ารุนแรง จึงฟันธงเลยไม่ได้ อยู่ที่ฐานะแต่ละคน ท่านนายกฯ บอกว่าไม่เป็นคนที่โดนเองไม่รู้สึก ก็เห็นใจ ท่านเป็นนายกฯ เวลาเดียวกันเป็นประชาชนคนหนึ่งด้วย แต่หากฝ่ายกระทำมีความเชื่อ เขาน่าจะรู้สึกล้มเหลวเหมือนกัน เพราะวันที่นำเลือดไปเทที่อื่นไม่มีเหตุการณ์อะไร แต่วันที่นำไปเทหน้าบ้านนายกฯ มีฝนตกหนัก อธิบายแบบคนที่มีความเชื่อว่าเทวดาเป็นคนล้างเลือด นายกฯ มีเทวดาคุ้มครอง มีบุญญาบารมี ขณะที่บางกลุ่มบางพวกคิดแค่เชิงสัญลักษณ์ เพราะต้องการให้เห็นว่าที่มาเรียกร้องเป็นเรื่องจริงจัง บางคนที่บริจาคเขาอาจคิดแค่นั้นแต่ไม่นึกว่าจะมีการเอาไปเท การเทเป็นอีกแอ๊กชั่น อดีตส.ส.ไทยรักไทย ยังพูดว่าเขาไปบริจาคแต่ไม่นึกว่าจะเอาไปเท หรือมีพราหมณ์มาทำพิธี คนที่บริจาคเลือดเขาคิดกันหลายระดับ การบริจาคเลือดพัฒนามาจาก มีโกนหัว กรีดเลือด เผาโลง ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ประท้วงสมัย 20-30 ปีก่อน เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์แต่สังคมไทยไม่ค่อยรับว่าเป็นสันติวิธี เพราะเห็นว่าการเผา การใช้ไฟ เป็นความรุนแรง แต่สังคมอื่น เช่น เผาธง เขาถือว่าเป็นสันติวิธี เป็นเรื่องวัฒนธรรมแต่ละที่ซึ่งมีการอธิบายขอบเขตความรุนแรงต่างกัน
ช่วงที่ผ่านมาผู้ชุมนุมและรัฐบาลมาถูกทางแล้วหรือไม่
ทั้งสองฝ่ายมาถูกทาง ปัญหาคือผู้ชุมนุมไม่มีความเป็นเอกภาพ แกนนำนปช. ที่ยืนอยู่บนเวทีไปถูกแล้ว แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พูดอีกอย่าง และเขามีเพาเวอร์ ความจริงไม่อยากใช้คำว่าไม่มีเอกภาพ แต่อยากใช้คำว่า “ทฤษฎีผีถ้วยแก้ว” ทิศทางผู้ชุมนุมจะไปทางไหนเหมือนผีถ้วยแก้ว ที่มีคนผลักหลายคนแต่จะไปทางไหนขึ้นกับนิ้วใครจะมีพลังมากกว่ากัน มันมีอำนาจหลายฝ่ายในกลุ่มเสื้อแดง
จะนำข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้ไปต่อยอดอย่างไร
นอกจากเป็นพยานในเมื่อเกิดเหตุ อีกหน้าที่คือการรายงานข้อเท็จจริงไปยังเซ็นเตอร์ที่ PEACE ROOM ที่จะกระจายข้อมูลจากทุกฝ่ายผ่านเว็บ ข้อมูลที่อยู่ต่างมุมอาจเห็นไม่ชัด แต่เมื่อเอาข้อมูลทุกฝ่ายมารวมแล้วจะเห็นภาพรวมที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายสามารถเข้าไปดูได้
เมื่อมีการเผชิญหน้า ไม่ว่าฝ่ายไหนมักมีการกล่าวร้ายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง การที่เราเป็นฝ่ายที่สามนำข้อเท็จจริงมาเสนอจะช่วยลบการกล่าวร้าย การกล่าวร้ายจะมีฝ่ายที่สามเป็นคนยืนยันว่าจริงหรือไม่จริง เมื่อลบการกล่าวหา ก็จะช่วยลดการใช้ความรุนแรง
ประเมินจุดจบการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่
ไม่อยากทำนายเพราะเราไม่รู้กำลังแต่ละฝ่าย และเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยได้ตลอดเวลา เราไม่ได้สนใจแต่กรณีไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่อยากให้ความทุกข์แต่ละฝ่ายได้รับการจัดการด้วย
ที่มา:ข่าวสดรายวัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1248 ครั้ง