สุเทพ ยืนยัน เดินหน้าปราศรัยราชประสงค์ 23 มิ.ย. ขอแจงความจริง อภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชน เชื่อไม่เป็นเป็นชนวนปลุกความขัดแย้ง มั่นใจ เจ้าหน้าที่จับคนร้ายยิงนายกอบจ.ลพบุรี ได้
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การเตรียมปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ ที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 23 มิถุนายน นี้ โดยยืนยันว่า จะไปร่วมการปราศรัยด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งนายสุเทพ อ้างว่า ต้องการพูดความจริงที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ข้อกล่าวหา ที่พรรคเพื่อไทยและบริวารของพรรคเพื่อไทย ออกมาโจมตี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฆาตกร สั่งฆ่าประชาชน และแก้ข้อกล่าวหา ที่ว่า ทหาร หรือ กองทัพ ฆ่าประชาชน เพราะทำงานนี้มากับมือ และเห็นข้อเท็จจริงมาทั้งหมด ขณะที่หากเนื้อหาในการปราศรัย มีการพาดพิงถึงพรรคเพื่อไทย ก็สามารถร้องเรียน กกต. ได้ แต่เชื่อว่า ไม่น่ามีปัญหาเนื่องจากมั่นใจว่า สิ่งที่พูดเป็นความจริง และไม่รู้สึกกังวลใจอะไร โดยยืนยันว่า การปราศรัย ไม่มีจุดหมายที่จะสร้างความขัดแย้งหรือโหมไฟ ที่กำลังจะมอด ให้คุขึ้นมาใหม่ แต่ต้องการพูดความจริง ให้ประชาชนรับทราบ และให้เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ ถูกใส่ร้าย
ส่วนกรณีที่มีผู้อ้างว่า การปราศรัยดังกล่าว อาจเป็นการปลุกระดมมวลชน จนเกิดความขัดแย้ง และเกิดสถานการณ์ขึ้น กระทั่งไม่สามารถเลือกตั้งได้นั้น ยืนยันว่า รัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งใจเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ไม่เคยคิดจะล้มการเลือกตั้งแน่นอน
ส่วนปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ระหว่างช่วงหาเสียงเลือกตั้งขณะนี้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ยิง นายสุบรรณ จิระพันธุ์วาณิช นายก อบจ.ลพบุรี นั้น ตอนนี้ได้รับรายงานความคืบหน้าของคดี ซึ่งเชื่อมั่นในทีมงานที่มอบหมาย คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ปรึกษา สบ 10 รักษาราชการแทน ผบช.ภ.1 ที่เป็นคนไปทำคดีดังกล่าว และเชื่อว่าตอนนี้น่าจะรู้แล้วว่า คนร้ายเป็นใคร ซึ่งหากว่าไม่มีใครมากีดขวาง เกะกะทาง ก็คงดำเนินการจับกุมได้ และเชื่อว่าเมื่อสามารถจับกุมตัวคนทำผิดได้ ก็น่าจะทำให้มีความเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มากยิ่งขึ้น ซึ่งตนเองได้กำชับ เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่าไปสนใจว่า ใครเป็นใคร มีหน้าที่รักษากฎหมาย ใครมีความผิดก็ต้องจับกุมดำเนินคดี
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเอกสารลายมือที่อ้างว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เขียนขึ้นระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 มาประกอบการแถลงข่าวถึงแนวทางปรองดอง พร้อมกล่าวว่า เขารับไม่ได้ที่เมื่อลงพื้นที่หาเสียง แล้วมีคนมาชูป้ายว่า สั่งฆ่าประชาชน จึงต้องออกมาพูด
“ในช่วงการชุมนุม นายอภิสิทธิ์ ได้ตั้งผมเป็นผู้ประสานงานกับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่นพ.เหวง โตจิราการ มักจะพูดว่า ตั้งมาทำไม อยากจะเจรจามากกว่า ซึ่งระหว่างที่ผมเจรจากับแกนนำทางโทรศัพท์นั้น ก็พูดดี แม้กระทั่งช่วงที่ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงอยู่บริเวณผ่านฟ้า ก็มีทหารเข้าไปดูแล เมื่อผู้ชุมนุมขอให้ถอนทหารออก และไปแค่ตำรวจ รัฐบาลก็ดำเนินการให้ ทำให้บรรยากาศถือว่า ใช้ได้ แต่ในระยะหลัง นับจากวันที่มีการเทเลือดที่พรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านนายอภิสิทธิ์ นายอภิสิทธิ์เริ่มแสดงออกถึงสีหน้าความวิตกกังวลเพราะกังวลว่า เหตุการณ์อาจจะบานปลายได้”
กอร์ปศักดิ์แฉทักษิณ ล้มโต๊ะ
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ได้มอบหมายให้เขาเป็นผู้พูดคุย กับแกนนำคนเสื้อแดง ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และได้เจรจาจนมาถึงวันที่ออกโทรทัศน์ ใน 28 มี.ค. 2553 โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง แต่ก็ล้มเหลว จนนายอภิสิทธิ์ระบุว่า เมื่อคุยกันทางโทรทัศน์ลำบาก ก็มอบหมายให้ไปคุยกันนอกโทรทัศน์ ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ เข้าไปพูดคุยตามที่ได้รับมอบหมาย และทั้งหมดดูจะมีแนวโน้มที่ดี จึงได้บอกกับนายกฯว่า ถ้าจะให้พูดกันอย่างจริงจัง นายกฯก็ต้องวางกรอบให้ ดังนั้นนายกฯจึงได้เขียนกระบวนการปรองดองให้
เปิด 10 ข้อตกลงปรองดองแดง
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางการปรองดองในขณะนั้นคือจะยุบสภาในวันที่ 1 ต.ค. 53 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งในระยะเวลา 45-60 วัน ขณะที่เมื่อประกาศแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงต้องยุติการเคลื่อนไหวเพื่อตอบรับเข้าสู่กระบวนการปรองดอง ซึ่งมีเนื้อหาประกอบไปด้วย
1.การตรวจสอบเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.โดยมีองค์กรกลาง ซึ่งเท่ากับว่าวันที่เขียนนั้นเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ที่พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงประชาชนคนเสื้อแดงเสียชีวิตแล้ว
2.ยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน โดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินการของ สถานีโทรทัศน์พีทีวีที่ต้องไม่มีการปลุกระดม
3.การมอบตัวของแกนนำ ที่มีสิทธิการขอประกันตัวได้ตามดุลยพินิจของศาล โดยที่ทางรัฐบาลจะไม่คัดค้าน
4.การหยุดจาบจ้วงสถาบันโดยสื่อต่าง ๆ
5.การตั้งกรรมการสะสางคดีความต่าง ๆ เพื่อไม่ให้มีสองมาตรฐาน
6.เริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
7.การนิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งข้อนี้นายกฯบอกว่า คดีอะไรที่เป็นคดีการเมืองเช่น คดีของการยุบพรรคผู้บริหารพรรค ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นสองมาตรฐาน ถ้าทำได้ก็อยากจะทำ แม้จะกังวลเพราะในขณะนั้น มีคดียุบพรรคประชาธิปัตย์อยู่ด้วย และหากจะดำเนินการก็จะถูกหาว่า ทำเพื่อตัวเอง แต่ถ้าเป็นไปเพื่อหยุดความรุนแรง ก็พร้อมที่จะทำ
8.การกำหนดวันยุบสภาที่แน่ชัดคือวันวันที่ 1 ต.ค. 53 โดยที่ในระหว่างนี้ รัฐบาลและรัฐสภาต้องสามารถทำหน้าที่ตามปกติได้
9.ในช่วงที่มีการยุบสภาต้องไม่โยกย้ายข้าราชการที่มีผลต่อการเลือกตั้ง
10.กำหนดคณะกรรมการดูแลพื้นที่เสี่ยงระหว่างการเลือกตั้ง ไม่ให้มีปัญหาในการลงพื้นที่
แฉ คนจาก “ดูไบ” ล้มโต๊ะ ด้วยคำพูด “ถ้าอย่างนี้ผมก็ไม่ได้อะไร”
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า หากกระบวนการปรองดองทุกข้อได้รับการตอบสนอง เหตุการณ์ที่บ้านเมืองถูกเผาคงไม่เกิดขึ้น ความจริงแล้วข้อเสนอดังกล่าวเกือบจะสำเร็จเพราะเขาพูดคุยกับแกนนำ จนกระทั่งวันที่ 3 พ.ค. 53 ที่ นายอภิสิทธิ์ ได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ และวันรุ่งขึ้นคนที่เขาเจรจาด้วย ก็ขึ้นเวทีตอบรับทันที ซึ่งก็ดีใจว่า จบเรื่องเสียที และคิดไปไกลถึงการส่งตัวคนเสื้อแดงกลับบ้านอย่างปลอดภัย รวมถึงจะให้มีกรรมการสิทธิมนุษยชนร่วมในการดำเนินการด้วย
“แต่หลังจากนั้น เพียง 1 วัน ไม่ทราบว่า เกิดอะไรขึ้น ก็มีคล้าย ๆ กับคำพูดที่ว่า “ถ้าอย่างนี้ ผมก็ไมได้อะไร” ทำให้กระบวนการดังกล่าวต้องยุติลง” นายกอร์ปศักดิ์ ระบุ
เขาบอกว่า หลังจากวันที่ทำหน้าที่ ก็พยายามที่จะพูดคุย พูดตรง ๆ คือไม่ชอบ แต่ไม่มีทางเลือกเพราะการไปพูดคุย บางครั้งเขาก็กลายเป็นคนเสื้อแดง เพราะเพื่อน ๆ ไม่ชอบ พอบอกว่า จะต้องยุบสภา เพื่อน ๆ ก็โกรธ ก็ต้องยอม นายกฯก็ถูกกดดันเยอะ โดยเฉพาะประเด็นการนิรโทษกรรม แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ ต้องหยุดเหตุการณ์ความรุนแรง แต่คนที่ไม่ยอมให้หยุด น่าจะเป็นคนที่อยู่ดูไบ เพราะเขาบอกว่า “เขาไม่ได้อะไร”
หวั่น 2 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง ความรุนแรงบานปลาย
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เห็นชัดว่า ความรุนแรงในการลงพื้นที่อาจมีเพียแค่การชูป้าย แต่น่ากังวลว่าความรุนแรงจะเริ่มขึ้นภายใน 2 สัปดาห์จากนี้ ก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ ทั้งนี้ นายกฯ ได้ระบุเองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ต้องห้ามมวลชนคนเสื้อแดงให้ได้ เพราะแกนนำคนเสื้อแดงได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย โดยอยู่ในลำดับ 8-9 ขณะที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์อยู่ลำดับที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นลูกน้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์
อ้าง “มาร์ค” เป็นคนเริ่มคิด “ปรองดอง” ไม่เชื่อ พท. ทำได้
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า นี่คือความกังวล และรู้สึกว่า เรื่องเช่นนี้เก็บไว้ในใจคนเดียวใม่พอ จึงอยากให้ประชาชนรับทราบด้วย สิ่งที่ผมนำเสนอคือ อยากจะบอกว่า คนที่คิดคำว่า กระบวนการปรองดอง คนที่เริ่มอยากจะให้มีความสงบจริง ๆ คือคนที่ชื่ออภิสิทธิ์
เขาย้ำว่า ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่า นายกฯยอมรับข้อเสนอคือการยุบสภา ทั้ง ๆ ที่สามารถอยู่ได้อีก 10 กว่าเดือน หรือเกินปีด้วยซ้ำ ก็ร่นมาเป็นวันที่ 1 ต.ค.เพื่อให้ยุบสภาตอบสนองคนเสื้อแดง แต่พอมาวันนี้ จะเลือกตั้งกันในวันที่ 3 ก.ค.ทุกคนมาบอกว่า อยากจะปรองดอง และคนที่บอกว่า อยากจะปรองดองมากที่สุดคือแกนนำคนเสื้อแดง คุณยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย รวมทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย
“ถ้าเราหมุนกลับไป จะเห็นว่า คนเหล่านี้คือคนที่ทำให้เกิดปัญหาบ้านเมือง ลุกลามแตกแยกมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ผมไม่ค่อยเชื่อว่า คนทำเหตุการณ์เหล่านี้มันจะมาปรองดองได้” นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อยากให้ดูข้อที่ระบุถึงการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งนายกฯยืนยันว่า คดีอาญา คดีคอร์รัปชั่นทุกคดี ล้างความผิดไม่ได้ มาวันนี้ นโยบายปรองดองของพรรคเพื่อไทย คือการล้างผิดหมดทุกคน ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะได้ล้างผิดไปด้วย ดังที่พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติว่า กำลังจะได้เงิน 4.6 หมื่นล้านบาทคืน มาหาว่ารัฐบาลขโมยเงินไป ดังนั้น สิ่งที่เขาพูดทั้งหมดเพื่ออยากจะให้เห็นความจริงว่า คนเป็นนายกฯ คือนายอภิสิทธิ์ ที่ต้องเขียนข้อความลงไปในเฟสบุ๊คนั้น คือความจริง
ปฏิเสธ ให้ที่มา คำพูด “คนดูไบ” โยน ปชช.ตัดสินเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่อ้างว่า มีคำพูด “ถ้าอย่างนี้เขาก็ไม่ได้อะไร” ทำให้กระบวนการต้องยุติลง ได้ยินมาจากใคร นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ขอปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว เอาเป็นว่า เขาเป็นคนพูดคำพูดนี้ ส่วนที่จะเชื่อหรือไม่ ก็อยู่ที่ประชาชน เช่นเดียวกับหนังสือลายมือ ที่เอามาแสดงเป็นหลักฐานนี้ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่า จะเชื่อหรือไม่
ปัด ไม่คุยกับ “แม้ว” ระบุ คุยไม่รู้เรื่อง แจง ปราศรัยราชประสงค์ ให้ความจริงก่อนเลือกตั้ง
นายกอร์ปศักดิ์ บอกด้วยว่า การพูดในเวทีราชประสงค์ ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ จะเป็นการอธิบายความ เพราะหลายคนคิดว่า ผู้ที่เสียชีวิต เกิดจากการที่รัฐบาลดำเนินการกระชับพื้นที่ ซึ่งข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ และผู้ที่เสียชีวิตก็อยู่ข้างนอก ยกเว้นที่วัดปทุมวนารามเท่านั้น และกรณีดังกล่าวไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกำชับผู้ปราศรัยหรือไม่ว่า ไม่ควรจะมีการพูดลงลึกถึงรายละเอียด เพราะอาจจะเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า เป็นความเห็นของบางคน แต่ก็มีบางส่วนที่มองว่า ขณะนี้ประชาชนกำลังจะลงคะแนน ก็ควรจะรู้ความจริงก่อน เพราะวันนี้คนที่มีส่วนร่วมอย่างชัดเจน คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ภรรยาของนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การใช้พื้นที่บริเวณราชประสงค์ก็เหมาะสม
เมื่อถามว่า ได้วิเคราะห์หรือไม่ว่าหลังจากเปิดเวทีปราศรัยแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ารู้ความจริงแล้ว ก็เป็นเรื่องของประชาชน ถ้าประชาชนบอกว่าไม่เห็นเป็นไร และให้คะแนนเบอร์ 1 มาท่วมท้น ก็เป็นทางเลือกของประชาชน แต่ถ้าใครเห็นว่า ทำแบบนี้ไม่เหมาะสมเขาก็เลือกเบอร์ 10 และคนที่แพ้เลือกตั้งก็ต้องเงียบ และทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากนี้ไปกระบวนการปรองดองของพรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอแนวทาง หรือมีการคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เคยคิดจะคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ
“พ.ต.ท.ทักษิณ พูดไม่รู้เรื่อง วันนึงพูดอย่าง วันนี้พูดอย่าง” นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
พล.ท. ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า กองทัพภาคที่ 2 สั่งให้ผูhใต้บังคับบัญชา และคลอบครัวของกำลังพลเลือกพรรคประชาธิปัติย์ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่าไม่เป็นความจริง เพราะทหารจะต้องวางตัวเป็นกลาง และทหารถือเป็นกลไกของรัฐบาลหากจะให้นโยบายกับผู้ใต้บังคับบัญชาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองคงเป็นแค่การให้ทหารออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งและเลือกคนดีเข้าสภา เนื่องจากการเติบโตของทหารจะต้องมาจากสายงานโดยตรง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1140 ครั้ง