อิสลามกับ Vote No และการยึดอำนาจ
สถานการณ์การก่อนการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 นั้น มีการรณรงค์จากกลุ่ม ASTV ให้ Vote No โดยให้กาช่องไม่เลือกผู้สมัครคนใด โดยให้เหตุผลว่า นักการเมืองทุกคนล้วนเป็นคนเลว เหมือนสิงสาราสัตว์ เสือ สิงห์ จระเข้า ตะกวด จึงไม่ต้องการให้คนเหล่านี้เข้าสภา ซึ่งก็รวมถึงตัวคนรณรงค์ด้วย เพราะขึ้นชื่อว่า มนุษย์ย่อมมีดีมีเลว อย่างแกนนำที่เป็นตัวนำการเคลื่อนไหว ก็ถูกต้องกล่าวหามากมาย ตั้งแต่การทำธุรกิจเป็นหนี้เป็นสินไม่มีเงินจ่าย จนศาลสั่วล้มลาย ถุกคลิปวีดิโอแฉเรื่องการเป็นล้อบบี้ยีสต์ต่างๆนานา
ขณะเดียวอีกด้านหนึ่ง ก็มีความพยายามจุดกระแสความขัดแย้งกับทหาร เพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจ บางคนก็วิเคราะห์ไปต่างๆนานาว่า จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ บางคนก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คนที่เคยปฏิวัติว่า ทำไมต้องลงมาเล่นการเมือง ใน 2 ประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่น่าจะหาคำตอบจากหลักการอิสลามได้ไม่ยาก เพื่อที่คนมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม จะได้มีสติคิดไตร่ตรองได้ ตามสติปัญญาที่แต่ละคนมี
เริ่มที่เรื่อง Vote No ก่อน ตามหลักการอิสลามนั้น เน้นในเรื่องของการรับผิดชอบร่วมกันของสังคม มีกฎระเบียบหลายอย่างที่ออกมาให้สังคมมีความรับผิดชอบร่วม ฟัรดูกีฟายะห์ที่ใช้กรณีคนเสียชีวิต เป็นตัวอย่างชัดเจนในการบังคับให้สังคมรับผิดชอบต่อคนเสียชีวิต เมื่อมีคนเสียชีวิตเกิดขึ้นสังคมจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในการทำพิธีศพ เพราะอิสลามไม่มีสัปเหร่อมาทำหน้าที่รับผิดชอบ แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า หากมีคนกลุ่มหนึ่งทำแล้ว ความรับผิดชอบของสังคมโดยรวมก็หมดไป
กรณีการลงโทษของอัลเลาะฮ์ต่อสังคมๆ อัลเลาะฮ์จะไม่เลือกว่า คนนี้ทำชั่ว คนนี้ทำเลวแต่จะลงโทษทั้งหมด เพราะถือว่า สังคมจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน อิสลามไม่ได้สอนให้คนอยู่นิ่งเฉย แต่ให้ตักเตือนกันและกัน หากพบว่า มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น สังคมจะต้องยับยั้งด้วยวิธีการใด วิธีการหนึ่ง ตั้งแต่การขอจากพระผู้เป็นเจ้า การพูดจาตักเตือน จนถึงการใช้กำลังบังคับ แต่สังคมไทยส่วนใหญ่ซึ่งหมายถึงสังคมมุสลิมด้วย มักจะเมินเฉยต่อการกระทำผิด กระทำชั่ว คิดเสียว่า ธุระไม่ใช่…จนเกิดความชั่วความเลวไปทั่วทั้งสังคม
การลงโทษในอิสลาม อัลเลาะฮ์ จึงจะลงโทษทั้งสังคม เพราะถือว่า สังคมทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน
การ Vote No ถ้ามองตามหลักการนี้ ก็ถือว่า ไม่ถูกต้องตามหลักการ ที่ให้สังคมร่วมกันรับผิดชอบร่วมกัน เพราะการเลือกตั้งเป็นความรับผิดชอบของสังคมในการหาผู้นำหรือตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศ ไปออกกฎหมาย ไปกำกับการบริหารประเทศ ดูแลทุกข์สุขของสังคม การไม่ออกมาทำหน้าที่ตรงนี้ จึงถือว่า ไม่รับผิดชอบต่อสังคม เพราะการ Vote No เป็นเพียงความสะใจของคนลงคะแนนที่มองว่า การได้ปฏิเสธนักการเมืองแล้วสะใจ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่มีผลต่อการปฏิรุปสังคม เลือกตั้งแล้ว ประกาศผลกระแสก็หายไป แค่ 2 วัน
ฟันธงว่า การ Vote No เป็นการไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ผิดต่อหลักการอิสลาม
มาถึงประเด็นของการยึดอำนาจ ในหลักการเดียวกันว่า “ด้วยการตักเตือน” เมื่อเราเลือกตั้งแล้ว ได้ผู้นำแล้ว สังคมก็จะต้องตรวจสอบการทำงานด้วย หากทำไม่ดีก็ต้องตักเตือน อัลเลาะฮ์ ตรัสไว้ ในอัลกุรอานว่า “จงตักเตือนผู้ปกครองที่ชั่วฉล” นั่นหมายความว่า นอกจากมุสลิมด้วยกันแล้ว มุสลิมจะต้องตักเตือนผู้ปกครองด้วย ซึ่งการตักเตือนเป็นไปในหลบายระดับ การตักเตือนด้วยวาจา จนไปถึงการใช้กำลังเข้ายับยั้งการกระทำความผิด …
สรุปว่า การยึดอำนาจผู้ปกครองที่ชั่วช้านั้น หลักการอิสลามอนุญาตให้ทำได้ เพราะเท่ากับเป็นการใช้กำลังเข้าไปยับยั้งการกระทำชั่วร้ายของผู้ปกครองคนนั้น หากมีการยึดอำนาจผู้ปกครองที่ดี นักปราชญ์ทางศาสนาส่วนใหญ่ เห็นว่า ไม่สามารถทำได้…
จากคอลัมน์ โลกกว้าง…ทางแคบ
โดย…มูฮัมหมัดไยลานี
MTODAY ฉบับที่ 13 เดือนมิถุนายน 2554
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1320 ครั้ง