ท้ายที่สุดกระแสการพัฒนาต่างคงหนีไม่พ้นการเข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจซึ่งในยุคต่อไปจะเป็นคราวของประเทศในกลุ่ม BRIC อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนเป็นผู้นำ รวมถึงการเข้าสู่ศักราชใหม่แห่งเอเชีย ซึ่งภาพรวมแล้วโครงสร้าง ระเบียบแบบแผน แนวคิดว่าด้วยระเบียบและสถาบันเศรษฐกิจโลกคงไม่หนีไปจากแนวทางที่ตะวันตกวางไว้แล้วมากนัก
เห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้การพัฒนาการเงินอิสลามกลายเป็นแค่ส่วนหนึ่งขององคาพยพที่ใหญ่กว่าคือ ระบบทุนนิยมการเงินโลก ระบบการเงินอิสลามในปัจจุบันสร้างขึ้นมาเพื่อพยายามเป็นคู่แข่งระบบตลาดเงินตลาดทุนตะวันตกเพียงแต่เป็นพื้นที่ทางผลประโยชน์ใหม่ของกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้นซึ่งต้องการจะชิงดีชิงเด่นเป็นศูนย์กลางการเงินโลกแข่งกับมหาอำนาจในตะวันตก ขณะเดียวกันด้วยปรชัญาที่ไม่ต่างกันก็กลับกลายเป็นว่า ระบบการเงินอิสลามได้กลายเป็นพื้นที่ทำมาหากินแหล่งใหม่ของบรรดาธนาคารพาณิชย์และธุรกิจบริหารการลงทุนตะวันตกไปด้วย หากติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆจะพบอีกว่า ในตลาดพันธบัตรอิสลามที่ผ่านมาเงินทุนที่มีการระดมกันนั้นตกไปอยู่ในมือคนอยู่ 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มทุนในประเทศแถบ GCC โดยเฉพาะที่ UAE ซึ่งเงินทุนที่ได้ตกไปอยู่ในมือของทุนการเงินและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งท้ายที่สุดก็วกเข้ากระเป๋าของกลุ่มทุนของบรรดาชนชั้นนำที่ปกครองประเทศอยู่อีกที อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ บรรดาบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ซึ่งหลายบริษัทมียอดขายในแต่ละปีมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งล้วนแล้วเป็นบริษัทจากยุโรปและสหรัฐฯทั้งสิ้น ขณะที่ผลประโยชน์ซึ่งตกไปอยู่ในมือของบรรดาพี่น้องมุสลิมทั่วๆไปแทบไม่มีเลย การปล่อยสินเชื่อของธนาคารอิสลามส่วนใหญ่ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ในหมู่กลุ่มทุนที่มีความเกี่ยวพันกับชนชั้นนำในตะวันออกกลาง ธุรกิจที่รับสัมปทานจากรัฐ สถาบันการเงิน และบริษัทอสังหาริมทรัพย์
ดังนั้นเมื่อหลักการอันประเสริฐของอิสลามถูกนำไปแปดเปื้อนกับระบบการเงินที่ขับเคลื่อนด้วยความโลภอันไม่สิ้นสุดและนำไปสู่การเบียดเบียน ถึงที่สุดแล้วการเงินอิสลามคงไม่แคล้วกลายเป็นรากเหง้าแห่งความชั่วร้ายและเป็นแหล่งรวมบรรดากองทุนการเงินหายเลือด การนำการเงินอิสลามไปข้องแวะกับระบบการเงินตะวันตกแบบเกินขอบเขตย่อมทำให้การเงินอิสลามกลายเป็นเครื่องมือของทุนการเงินครอบโลกที่มุ่งแสวงหาผลกำไรระยะสั้น และเป็นไปได้ว่าในที่สุดแล้วนอกจากการเงินอิสลามจะกลายเป็นอาหารอันโอชะของระบบทุนนิยมการเงินโลกแล้ว ระบบการเงินอิสลามเองจะกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะวิกฤตการเงินโลกแหล่งใหม่ในอนาคตได้ ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในดูไบซึ่งสุดท้ายก็สร้างสึนามิการเงินขนาดย่อมแต่มีพลังทำลายล้างพอสมควร และหากปราศจากมาตรการจัดการที่ถูกต้องก็อาจลุกลามเป็นวิกฤตการเงินขนาดใหญ่ระลอกใหม่ได้
ดังนั้นทางออกในระยะยาวที่ต้องทำคือ ดึงระบบการเงินอิสลามมาสู่รากเหง้าของตัวเอง ระบบการเงินที่สร้างขึ้นควรหลีกเลี่ยงภาวะไร้พรมแดนของโลกาภิวัตน์ทางการเงิน การเงินอิสลามควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมในตลาดเงินตลาดทุนเพื่อไม่นำเอาหายนะมาสู่ระบบการเงินอิสลาม แต่ก็ใช่ว่าจะปฏิเสธเสียทั้งหมด แต่ว่าการลงทุนของกองทุนอิสลามในตลาดทุนต้องเป็นการลงทุนระยะยาว ทำเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนรวมถึงชุมชนที่กิจการที่กองทุนการเงินอิสลามลงทุนอยู่ไปประกอบการ โดยควรมีเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทที่เคร่งครัดต่อศาสนาอิสลาม ทุนของอิสลามไม่สมควรไปลงทุนในกิจการการพนัน อาวุธ สิ่งเสพติด หรือแม้แต่การเพิ่มให้กับสถาบันการเงินที่มีธุรกิจหลักอยู่ที่การเก็งกำไรระยะสั้นในระบบการเงินทั้งโลกเพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการไม่ส่งเสริมการกระทำเช่นนั้น และเป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลกไปในตัว นอกจากนั้นควรมีการพิจารณาลงทุนในกิจการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างเทคโนโลยีสะอาดด้วยซึ่งแม้จะไม่มีข้อกำหนดในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการในหลักศาสนา แต่ก็ควรสร้างเป็นบรรทัดฐานเอาไว้ นอกจากนั้นระบบการเงินอิสลามควรให้ความสำคัญกับซะกาตให้มากกว่านี้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการกำหนดไปว่ากองทุนอิสลาม ธนาคารอิสลาม และบริษัทประกันอิสลามต้องบริจาคซะกาตกลับไปยังท้องถิ่นที่ไปประกอบการทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเช่น ผ่านการลงทุนซื้อหุ้นกิจการต่างๆ ทั้งนี้ย่อมเป็นการสร้างผลประโยชน์ระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้น เพราะหากสังคมที่ไปประกอบการมีความเจริญ กำไรในระยะยาวก็ไหลกลับมายังผู้เป็นเจ้าของเงินในระบบการเงินอิสลามด้วย ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันการเงินหรือกองทุนอิสลามแห่งใดในโลกมีข้อบังคับในเรื่องนี้
ในส่วนของประเทศไทยนั้นควรที่จะเรียนรู้บทเรียนของดูไบและปรับการพัฒนาระบบการเงินอิสลามให้เข้ากับยุทธศาสตร์ในระยะยาวของประเทศ ปัญหาสำคัญของระบบการเงินอิสลามในปัจจุบันคือ สินทรัพย์ที่เข้าไปถือครองนั้นส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งย่อมหวั่นไหวต่อแรงเก็งกำไรของบรรดากองทุนการเงินต่างๆได้ง่าย ประเทศไทยควรพัฒนาศักยภาพด้านการเงินอิสลามเฉพาะทาง โดยเน้นไปที่การสร้างสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการลงทุนในภาคการเกษตร ทั้งนี้การเงินอิสลามเพื่อการเกษตรยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นด้านตลาดทุนและอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนมาก ประเทศไทยควรยกระดับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางการเงินอิสลามของประเทศ โดยชูความเป็นอิสลามแท้ที่ไม่ปนเปื้อนกับความโลภของระบบการเงินตะวันตก นอกจากนั้นการเงินอิสลามในประเทศไทยควรพัฒนาในลักษณะที่เน้นตลาดผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี การลงทุนในตลาดการเกษตรและการเงินอิสลามนับว่าเป็นทางการลงทุนที่น่าสนใจซึ่งสามารถระดมเงินออมได้จากทั้งคนมุสลิมและคนในศาสนาอื่นๆได้ รัฐบาลควรดึงเอาเยาวชนที่ศึกษาด้านศาสนามาล้วนๆมาเข้าระบบการพัฒนาบุคลากรด้านการเงินอิสลามที่มีความเป็นมืออาชีพในอนาคต ซึ่งย่อมจะช่วยลดปัญหาการเข้าสู่วงการผู้ก่อการร้ายของเยาวชนผู้หลงผิดได้ในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ธนาคารอิสลามที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของไทยควรสร้างฐานที่มั่นคงในประเทศโดยมีรัฐบาลสนับสนุนด้านเงินทุน โดยรัฐบาลควรใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งมีอยู่มหาศาลมาอุดหนุนการขยายเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศด้วยพร้อมๆกับความเชี่ยวชาญทางเทคนิคทั้งในด้านการเงินและการพัฒนาระบบการเกษตรตามแบบฉบับของไทยซึ่งเหมาะกับประเทศเกิดใหม่ ขณะนี้ประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจในแอฟริกากำลังเป็นที่หมายปองของกลุ่มทุนข้ามชาติในการเข้าไปครอบครองพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ประเทศไทยควรใช้การลงทุนที่มีเอกชนเป็นตัวนำผ่านการเข้าไปของธนาคารอิสลามที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการการเกษตรไทยในทุกขนาดธุรกิจในการเข้าไปหาลู่ทางใหม่ๆของภาคการเกษตรไทย ธนาคาอิสลามหรืออาจรวมถึงกองทุนการเงินอิสลามด้วยในอนาคตควรมีบทบาทในการพัฒนาการเกษตรในลักษณะทั้งระบบ Supply Chain และเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจระยะยาวในประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยพื้นที่ที่น่าสนใจนอกจากประเทศมุสลิมในแอฟริกาแล้วยังมีปากีสถาน บังคลาเทศ รวมถึงเพื่อนบ้านทั้งหมดในเอเชียอาคเนย์ทั้งที่ใช่และไม่ใช่มุสลิมด้วย การเข้าไปในลักษณะสถาบันการเงินย่อมมีความได้เปรียบตรงที่ไม่ถูกเพ่งเล็งว่ามาเพื่อเป้าหมายในการยึดครองที่ดินการเกษตร นอกจากนั้นเพื่อคงหลักการอิสลามธนาคารและกองทุนอิสลามของไทยควรมีการทำซะกาตในรูปของอาหารและเงินชวยเหลือในพื้นที่ที่เข้าไทำธุรกิจด้วย
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2071 ครั้ง