ว่าด้วยภูมิยุทธศาสตร์เงินหยวนจีนฝั่งตะวันตก-ตะวันออก
โดยเบ๊นซ์
สุดตา
เงินดอลลาร์เป็นเงินตราสกุลหลักของโลกมายาวนานนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่
2 สิ้นสุดลง และหากนับประวัติศาสตร์กันจริงๆ
สกุลเงินของตะวันตกก็ครอบงำระบบเศรษฐกิจโลกมานานร่วมๆ 2 ศตวรรษแล้ว นับตั้งแต่เงินปอนด์อังกฤษมีความสำคัญและขึ้นมาครอบครองระบบการเงินโลก
แต่ทว่าวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในรอบกว่า 80 ปีช่วง 2007-2008
ต่อเนื่องมาจนถึงวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปและทำท่าจะลุกลามไปยังสหรัฐฯและญี่ปุ่น
นั่นกลายเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ให้ขั้วอำนาจดั้งเดิมในตะวันออกอย่างจีนกลับมาทวงบัลลังก์อำนาจในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอีกครั้ง
จีนเริ่มกลยุทธ์ดันเงินหยวนในเวทีโลก (Yuan
Internationalization) เป็นเรื่องเป็นราวในเดือนกรกฎาคม 2009
โดยการเริ่มโครงการทดลองการใช้เงินหยวนชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศในเมืองท่าสำคัญๆเช่นที่เซี่ยงไฮ้ก่อน
จากนั้นจึงขยายพื้นที่เป็น 20 เมืองและมณฑลในเดือนมิถุนายน 2010
พร้อมๆกับการยกเลิกการตรึงค่าเงินหยวนที่แถวๆ 6.83 หยวนต่อดอลลาร์นับแต่ปี 2008
ด้วย ขณะเดียวกันทางการจีนก็ถือโอกาสเปิดช่องทางและผ่อนคลายการไหลเวียนของเงินหยวนในภาคตลาดทุนของฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
ทำให้ธุรกิจเงินหยวนในภาคธนาคารและธุรกิจการเงินการลงทุนคึกคักมาก
บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งเช่น Caterpillar, McDonald’s ได้มีการขายพันธบัตรระดมทุนเป็นเงินหยวนกันมากมาย
นอกจากนั้นแล้วธุรกิจประกันความเสี่ยงผ่านอนุพันธ์การเงินก็เริ่มเติบโตขึ้น
ซึ่งทั้งหมดนี้คือภาพในช่วงครึ่งหลังของปี
2010 เป็นต้นมาหลังจากจีนเริ่มอนุญาตให้ใช้เงินหยวนในธุรกรรมต่างๆมากขึ้น
นั่นทำให้สิ่งที่เรียกว่า “Offshore Yuan Business” ในฮ่องกงเฟื่องฟูมากจากการที่ทั่วโลกคาดกันว่าทางการจีนจะปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าและเปิดเสรีมากขึ้นท่ามกลางความไร้เสถียรภาพของค่าเงินดอลลาร์
โดยสิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่ตอกย้ำถึงความเฟื่องฟูของธุรกิจเงินหยวนในฮ่องกงก็คือ
ตัวเลขเงินฝากในรูปของหยวนในฮ่องกงที่ระดับ 510,700 ล้านหยวนในเดือนเมษายน 2011
เทียบกับ 314,900 ล้านหยวน ณ สิ้นปี 2010 หรือเติบโตขึ้นมากกว่า 60% ใน 4 เดือน และกว่า 6 เท่าตัวหากเทียบกับเมษายน 2010
ขณะเดียวกันมูลค่าของหลักทรัพย์ทางการเงินในรูปเงินหยวนในฮ่องกงก็อยู่ที่ 130,000
ล้านหยวน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงนั้นไม่ได้สร้างความพึงพอใจต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเลยเพราะนั่นหมายความว่า
จีนจะมีแรงกดดันจากเงินมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าจีนทั้งเงินที่เป็นความต้องการทางธุรกรรมจริงๆและเงินเก็งกำไร
โดยในปัจจุบันจีนเองก็ยังคงเผชิญปัญหาแรงกดดันทางสังคมมากมายทั้งแรงงานอพยพจากชนบท
การกระจายรายได้ ปัญหาที่อยู่อาศัย และการจัดการกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ
และเครื่องมือเดียวที่จีนยังใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหาเหล่านี้ก็คือ
การเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งต้องพึ่งการส่งออก
ดังนั้นแล้วสิ่งที่เริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนตั้งแต่ต้นปีก็คือ
การเริ่มออกมาตรการควบคุมการเติบโตของธุรกิจเงินหยวนในฮ่องกงซึ่งเป้าประสงค์หลักก็คือ
การสกัดไม่ให้เงินหยวนไปอยู่ในมือนักเก็งกำไรได้
และสกัดไม่ให้เงินหยวนจากฮ่องกงเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ได้ง่ายๆ โดยรัฐบาลฮ่องกงประเดิมมาตรการนี้ก่อนด้วยการจำกัดกิจกรรมการค้าตราสารล่วงหน้าหรือฟิวเจอร์สบนเงินหยวนที่
10%ของปริมาณสินทรัพย์หรือหนี้สินในรูปเงินหยวนที่ธนาคารนั้นๆมีเมื่อช่วงปลายปี
2010
6 เดือนต่อมา มิถุนายน 2011
แบงก์ชาติจีนได้ประกาศมาตรการเข้มกว่าเดิมให้ธนาคารต่างประเทศที่รับธุรกรรมเงินหยวนระหว่างประเทศให้มีการคุมเข้มในเรื่องการให้บริการลูกค้าซึ่งต้องเป็นลูกค้าที่มีธุรกรรมซื้อขายสินค้าหรือชำระเงินจริงๆเท่านั้นรวมถึงจับตาการไหลเวียนของเงินหยวนผ่านธุรกรรมนั้นๆด้วย
นอกจากนั้นแล้วบริษัทต่างๆที่มีธุรกรรมเงินหยวนข้ามแดนก็ต้องใช้บริการกับธนาคารแห่งเดียวเท่านั้นและเป็นแห่งเดิมตลอดห้ามเปลี่ยนธนาคาร
หากมองในเชิงเปรียบเทียบแล้วจะพบว่านับแต่ปี
2009 เป็นต้นมา ทางการจีนให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์เงินหยวนใน “ทิศตะวันออก” ก่อน
คล้ายกับยุทธศาสตร์ของเติ้ง เสี่ยวผิงที่เริ่มเปิด “โครงการทดลองทุนนิยม”
ในแถบเมืองท่าตะวันออกก่อน โดยอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่พร้อม
แต่เมื่อแผนการทดลองเริ่มส่อเค้านอกเหนือแผนการและเริ่มบานปลาย
ทางการจีนสรุปบทเรียนการทดลองทุนนิยมในอดีตได้
จึงป้องกันแต่ต้นเพื่อไม่ให้เกิดฟองสบู่ขนาดใหญ่จนเกิดความเสียหายใหญ่โตได้เช่นในอดีต
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับยุทธศาสตร์เงินหยวนในภาคตะวันออกนั้นกลับตรงกันข้ามกับทิศตะวันตกรวมถึงทิศเหนือด้วย
โดยขณะที่ทางการจีนเริ่มระดมมาตรการต่างๆออกมาเพื่อสกัดการเก็งกำไรและพร้อมจะออกเพิ่มหากจำเป็น
การเดินเกมเงินหยวนในทิศตะวันตกในแถบเอเชียกลางหรือเส้นทางสายไหมเดิมนั้นกลับตรงกันข้ามกับทางตะวันออก
โดยในปีนี้จีนอาศัยโอกาสครอบรอบ 10
ปีของการก่อตั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้หรือ SCO (Shanghai
Cooperation Organization) ในการ “กระชับพื้นที่”
เพิ่มเติมโดยนายธนาคารคนสำคัญของจีนถึงกับกล้าออกมาประกาศเลยว่า
เงินหยวนจีนควรมีบทบาทในภูมิภาคเอเชียกลางแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ซึ่งนั่นนับเป็นครั้งแรกที่จีนกล้าประกาศเขตอิทธิพลทางการเงินของตัวเองท้าทายเงินดอลลาร์
จีนถือโอกาสครบรอบ 10 ปี SCOลงนามสัญญาสวอปเงินหยวนมูลค่า 7,000
ล้านหยวนกับคาซัคสถานและขยายข้อตกลงการชำระเงินในสกุลท้องถิ่นกับรัสเซียให้ครอบคลุมการค้าทั้งในระดับชายแดนและการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นกับบริษัทและบุคคลต่างๆโดยทั่วหน้า
ซึ่งพลังงานถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะตัดสินสถานะของเงินหยวนในเวทีโลก
เมื่อมองดูปัจจัยแวดล้อมต่างๆในบริบททางด้านนโยบายและภูมิรัฐศาสตร์แล้วสามารถสรุปได้ว่ามีปัจจัยต่างๆที่จะเร่งพลวัตของเงินหยวนในทิศตะวันตกให้หมุนเร็วและซับซ้อนมากขึ้นอันได้แก่
1. นโยบายการพัฒนาซินเจียงโดยทางการจีนมีเป้าหมายพัฒนาซินเจียงในทุกๆด้านและถือเป็นวาระสำคัญของชาติ
โดยซินเจียงมีความเชื่อมโยงด้านการค้า การขนส่ง พลังงาน
และเชื้อชาติวัฒนธรรมกับเอเชียกลางดีอยู่แล้ว ซินเจียงจึงได้รับบทบาทเป็นศูนย์กลางเงินหยวนทางตะวันตก
2. การก้าวขึ้นมาของตุรกีโดยในอนาคตข้างหน้าตุรกีมีแนวโน้มปรับนโยบายมาทางทิศตะวันออกมากขึ้นเพื่อตอบสนองการรุกเข้ามาของจีนในเอเชียกลางและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่กว้างขวางและลึกขึ้นด้วย
3. ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและปากีสถานโดยนับวันจีนยิ่งมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับปากีสถานมากขึ้นทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคง
การเชื่อมโยงด้านการขนส่งไปจนถึงท่าเรือกวาดาร์จะทำให้ทางตะวันตกของจีนเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียได้ง่ายและรวมถึงการแพร่กระจายของเงินหยวนด้วย
4. สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน เรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับเงินหยวนโดยตรง
แต่หลังการตายของบินลาเดน
เห็นได้ชัดว่าสมการความมั่นคงในภูมิภาคย่อมเปลี่ยนและเรื่องปากีสถานกับสหรัฐฯถือเป็นจุดแตกหักสำคัญ
และ SCOก็ให้ความสำคัญกับความมั่นคงในอัฟกานิสถานด้วย นโยบายความมั่นคงที่เปลี่ยนไปของSCO ย่อมกระทบไปถึงยุทธศาสตร์เงินหยวนในตะวันตกด้วยเพราะปัจจัยความมั่นคงในภูมิภาคมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ
ด้วยอิทธิพลจีนที่ขยับขยายในทุกๆด้านในแถบเอเชียกลางนั้นย่อมทำให้อิทธิพลของเงินหยวนในภูมิภาคนี้สูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
ขณะเดียวกันซินเจียงไม่ใช่ศูนย์กลางการเงินแบบฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
ทำให้ทางการจีนไม่ต้องกังวลกับกิจกรรมการเก็งกำไรมากเท่าแถบตะวันออก
และหากดูกันลึกๆแล้ว
การขยับขยายในฝั่งตะวันออกต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญอีกอย่างคือ
อิทธิพลสหรัฐฯในแปซิฟิก ซึ่งยังคงเข้มแข็ง และสหรัฐฯยังมีศักยภาพทางทะเลเหนือกว่าจีนซึ่งหมายถึงการควบคุมเส้นทางขนส่งสินค้าและน้ำมันในภูมิภาคด้วย
ซึ่งนั่นย่อมทำให้ในเชิงเปรียบเทียบแล้วทั้งในทางนโยบายการเงินและความมั่นคง
เงินหยวนในทิศตะวันตกมีโอกาสที่จะเดินหน้าสร้างเขตอิทธิพลได้เร็วและเข้มแข็งกว่าในฝั่งตะวันออก
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1430 ครั้ง