เจาะสนามเลือกตั้งเขตมุสลิมทั่วประเทศ
เข้าโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว ทีมข่าวการเมือง MTODAY ได้วิเคราะห์เขตเลือกตั้งที่มีมุสลิมลงสมัครรับเลือกตั้ง ใครมีโอกาสเข้าสู่สภาหินอ่อนกันบ้าง
การเลือกตั้ง 2554 มีมุสลิมลงสมัครรับเลือกตั้งนับ 100 คน ทั้งในระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขตเลือกตั้ง โดยในระบบบัญชีรายชื่อ มุสลิมทั่วประเทศสามารถเลือกได้ โดยพรรคที่มีมุสลิมลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชืออันดับ 1 มี พรรคมาตุภูมิ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน พรรคแทนคุณแผ่นดิน นายแวมาหาดี แวดาโอะ พรรคประชาธรรม นายตาเฮรูลเลาะห์ หะมะ พรรคที่มีมุสลิมอยู่ลำดับต้นๆ อาทิ พรรคความหวังใหม่ พล.ท.สมชาย วุรุฬหผล ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 3 พรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร อยู่อันดับ 5 ขณะที่พรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย มีมุสลิมอยู่ลำดับท้ายๆ
ในระบบเขตเลือกตั้ง ภาคเหนือไม่มีมุสลิมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนภาคกลางกับภาคอีสานมีลงสมัครเพียง 2-3 คนเท่านั้น ขณะที่กทม.และภาคใต้มีผู้สมัครหนาแน่น
กลาง-อีสานมุสลิมแบเบอร์ 2
ภาคกลาง จังหวัดอุทัยธานี เขต 2 ชาดา ไทยเศรษฐ์ มุสลิมปาทาน คราวที่แล้วได้รับเลือกตั้งอยู่พรรคเพื่อไทย แต่นาทีสุดท้ายได้ย้ายออกจากเพื่อไทย มาอยู่ภูมิใจไทย ซึ่งก็น่าจะแข่งกับผู้สมัครจากพรรคเก่ง สุภาพ โต๋วสัจจา จากเพื่อไท ชาดา เบียดสูสี
ภาคอีสาน จังหวัดสุรินทร์ เขต 6 ฟารีดา สุไลมาน อดีต ส.ส.ของมาตุภูมิ คราวนี้สวมเสื้อภูมิใจไทย ฟารีดา มีฐานเสียงแน่นปึ๊กอยู่ในอำเภอเสละภูมิ แต่อำเภอกลับถูกแยกเป็น 3 ส่วน คะแนนเสียงถูกตัดแบ่ง ต้องไปลุ้นกับ ธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา จากชาติไทยพัฒนา เที่ยวนี้ฟารีดา คงเหนื่อยพอสมควร
จังหวัดยโสธร เขต 2 รณฤทธิชัย คานเขต อดีต ส.ส. 6 สมัยที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอับ 1 มาตลอด คราวที่แล้วเข้ามาในนามเพื่อแผ่นดิน คราวนี้เข้าใจว่า คงเฉือน บุญแก้ว สมวงศ์ จากเพื่อไทยได้ไม่ยาก
ศรีษะเกษ เขต 1 อาลีคาน ตายูเคน จากแทนคุณแผ่นดิน เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ หวังแจ้งเกิดกับพรรคใหม่ ที่มีหมอแว เป็นปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 หวังได้คะแนนมากที่สุดก็พอแล้ว กระแสของเพื่อไทย ที่มี สุรชาติ ชาญประดิษฐ์ เป็นตัวแทนยังแรงอยู่
กรุงเทพฯแข่งกันเองนาตยา เสียว
กรุงเทพมหานคร มีมุสลิมลงสมัครหลายเขต โดยเฉพาะกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก แต่มีหลายเขตที่มีมุสลิมหนาแน่นแต่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.มุสลิมแม้แต่พรรคเดียว อาทิ เขต 15 บางกะปิ เขต 17 มีนบุรี คันนายาว เป็นต้น เริ่มที่ เขต 6 น.ส.มลฤดี สร้อยธรรมา ลงในนามกิจสังคม หวังคะแนนมุสลิม พญาไท-ดินแดง แต่คงลุ้นยากหน่อย เพราะเขตนี้ ธนา ชีระวินิจ (ปชป.) หรือไม่ก็ กวี ณ ลำปาง (พท.) มีคะแนนสูสีกันมาก
เขต 18 เขตคลองสามวา นายสมัย เจริญช่าง (ปชป.) น่าจะเบียดแซง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ (พท.) แม้ว่า โพลล์จะให้เพื่อไทยนำ มุสลิมกับฐานเสียงปชป. น่าจะช่วยสมัย แบบลุ้นเสียว
เขต 19 เขตหนองจอก นายดิเรก สุมาลยศักดิ์ รักษ์สันติ ลูกอดีตจุฬาราชมนตรี ไม่มีฐานเสียงอยู่มากนัก ในขณะที่ วสันต์ มีวงษ์ (ปชป.) ฐานเสียงก็ยังเป็นรอง ไพโรจน์ อิสรเสรีพงษ์ (พท.) แต่ไม่รู้ว่า กรณีไปทะเลาะกับทหารจะช่วยให้มุสลิมจากปชป. ได้โอกาสหรือไม่
เขต 21 เขตสะพานสูง และเขตประเวศ (ยกเว้นแขวงหนองบอน และแขวงดอกไม้) เป็นเขตที่มุสลิมต้องแข่งกันเอง ถือเป็นคู่เอก นางนาถยา เบ็ญจศิริวรรณ (ปชป.) อดีต ส.ส.หมาดๆ ซึ่งแต่เดิมหวังลง ส.ส.เขตบางกะปิ หวังฐานเสียงของนฤมล สก. คราวนี้ แต่พรรคบังคับให้ลงเขต 21 เพื่อเปิดทางให้ลูกชายบัญญัติ บรรทัดฐาน ต้องไปลุ้นเสียวกับ เอกพจน์ วงศ์อารยะ(พท.)ลูกชายอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีต ส.ส.ปี 2548 เอกพจน์ มีฐานเสียงในเขตสะพานสูง ขณะที่นาตยา ฐานเสียงปชป.แน่นในแขวงประเวศ เอกพจน์ค่อนข้างจะได้เปรียบเล็กน้อย
เขต 22 เขตสวนหลวง และเขตประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอน และแขวงดอกไม้) สามารถ มะลูลีม (ปชป.) อดีต ส.ส.คราวที่แล้ว น่าจะแบเบอร์ ภัทรศักดิ์ โอสถานุเคราะห์ (พท.)อดีต ส.ส.ไทยรักไทย ต้องทำงานหนัก ถึงจะเข้าวินได้ กระสุนน่าจะทะลักในเขตนี้
ภาคตะวันออก ชลบุรี เขต 7 สุไอนี เพียรดี ลงในนามพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน คงเป็นสีนสันมากกว่า คงฝ่าด่านพจนารถ แก้วผลึก (ปชป.)อดีต ส.ส.ได้ยาก ในขณะที่ ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ จากพลังชล ก็มีโอกาสเบียดแทรก
ภักดี มะแอ อารีเพ็ญ พล.อ.สนธิ เด่น โต๊ะมีนา
มุสลิมนครขอตบหน้าปชป.
ภาคใต้
ภาคใต้ตอนบนมีมุสลิมลงสมัครในเขต 8 นครศรีธรรมราช อดุลย์ อะหลี (พท.)แข่งกับ สุรเชษฐ์ มาศดิตถ์(ปชป.) ทราบกันดีว่า กระแสเพื่อไทยในภาคใต้ไม่ดีเอามากๆ แต่มุสลิมนครฯ ไม่ค่อยจะพอใจปชป.เท่าที่ควร ที่ไม่ส่งมุสลิมลงสมัคร เพราะหลังจากดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ถอยออกไป สัมพันธ์ ทองสมัคร กับชำนิ ศักดิเศรษฐ ก็แย่งชิงส่งคนของตัวเองลงสมัคร ฮูวัยดียะห์ พิศสุวรรณ อูเซ็ง ถูกเตะโด่งไปลงปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 70 กว่า มุสลิมที่มีนับแสนเมื่อถูกมองข้ามจึงบอกว่า จะสั่งสอนปชป. แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ก็ให้ได้คะแนนมากที่สุด เพื่อศักดิ์สรีคนมุสลิม
พัทลุง เขต 3 นริศ ขำนุรักษ์(ปชป.) น่าจะผ่านมุสลิมด้วยกันอย่าง ส่อดีกิ่น สมุหเสนีโต (พท.)แบบลอยลำ
สงขลา เขต 6 วันอับดุลเลาะฮ์ หล๊ะติม๊ะ (พท.) ลงแข่งกับถาวร เสนเนียม ทั้งผู้สมัครและพรรคเป็นรองเองมากๆยากจะฝ่าด่านหินไปได้
เขต 8 พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ (ปชป.)อดีตผู้สมัครเพื่อแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามฯ ที่เบียดแทรกส.ส.เก่าของปชป. ลงสมัครได้ น่าจะผ่านได้ไม่ยาก ด้วยฐานเสียงของพรรค กอลยูบี จะเรเสะ (พท.) กับ หมูด หนิ (ความหวังใหม่) ต้องรอโอกาสครั้งใหม่
เขต 7 อัศวิน สุวิทย์ (พท.)คราวนี้ตระกูลสุวิทย์ จำใจต้องทิ้งปชป. เพราะความแค้นที่ตัด นราชา อดีต ส.ส.ออกไป จึงหันไปยืนขั้วตรงกันข้ามลงแข่งกับ ศิริโชค โสภา วอลเปเปอร์ ไม่รู้มุสลิมเขตนี้จะให้โอกาสแค่ไหน เพราะพรรคก็เป็นรอง แถมผู้สมัคร ไม่ได้แสดงความเป็นมุสลิมที่โดดเด่นนัก ส่วน สักการียา คอลิบ (ควม.)ต้องรอความหวังใหม่
หมายเหตุ (เพิ่มเติม) ขณะนี้ได้มีการประโคมการการเบิกจ่ายเงินภายในสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งพัวพันกับผู้สมัคร ส.ส.บางคนอาจมีผลต่อการสมัครก็เป็นได้
เจะอามิง แวมาหาดี ซูการ์โน นิมุกตาร์
สามารถ รณฤทธิชัย วันมูหะมัดนอร์
3 จังหวัดใต้ ปชป.-มภ.-พท.แบ่งแต้ม
นราธิวาส
เขต 1 เขตนี้คะแนนเสียงค่อนข้างสูสี ไพศาล ตอยิบ (มภ.) น่าจะได้เปรียบในฐานะที่เป็นอดีตลูกส.ส.และเป็นเจ้าของโรงเรียนที่มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ แต่ไม่น่าทิ้ง กูอาเซ็ม กูจินามิง (ปชป.)อดีตนายกเทศฯเจ๊ะเหไปได้ ส่วน ภูวเดช เจ๊ฮูเซ็ง (พท.) น่าจะลุ้นไม่ขึ้น
เขต 2 นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ (ปชป.)อดีต ส.ส.หลายสมัย แต่สอบตกคราวที่แล้วพบกับ ดาโต๊ะสุทธิพันธ์ ศรีริกานนท์(พท.) สมรรถ วาหลง (มภ.) และฮัมดัน อาแซ (ภท.) เขตนี้แต่เดิม สมรรถ ค่อนข้างได้เปรียบ แต่หลังผู้สมัครจากภูมิใจไทยลงสมัคร ทำให้ฐานเสียงถูกแบ่ง โอกาสของสุรเชษฐ์ จึงสูงขึ้น เขตนี้ถือว่า สูสีมาก
เขต 3 รำรี มามะ (ปชป.)อดีต ส.ส.เมื่อหลายสมัยก่อน กับยูโซ๊ะ แวยูโซ๊ะ(พท.) อาจต้องหลบให้นัจมุดดีน อูมา ที่ถือว่า ฐานเสียงแน่นปึ๊ก ในยุคพลังประชาชนที่คนเกลียดชังมาก ยังฝ่าฟันมาได้
เขต 4 เจะอามิง โตะตาหยง อดีต ส.ส. 4 สมัย รอเป็นรัฐมนตรีในสมัยที่ 5 จึงต้องลุ้นเต็มที่ แต่ต้องฝ่าด่านหินจากชาติไทยพัฒนา วัชระ ยาวอหะซัน ลูกนายกฯอบจ. ที่ถือว่า มีทุนหนา เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลนราธิวาสด้วย กมลศักดิ์ สีวาเมาะ (มภ.)อาจยังไม่แรงพอ เช่นเดียวกับผู้สมัครจากพท. เตาฟิก สะมะแอ
ปัตตานี
ประชาธิปัตย์ เป็นเจ้าของ 2 ที่นั่ง คราวนี้ต้องลุ้นเสียว
เขต 1 อันวาร์ สาและ (ปชป.)อดีต ส.ส. ลงชิงชัยกับ อดิลัน อาลีอิสสาเฮาะ(พท.) น่าจะผ่านได้ไม่ยาก แต่ก็อย่าประมาท สนิท นาแว (มภ.) กับอรุณ เบ็ญจลักษณ์
เขต 2 มูฮัมหมัดอารีฟีน จะปะกียา (มภ.) มีลุ้น เบียดกับ อิสมาแอล เบญอิบรอฮีม (ปชป.)และศรัทธา แวอาล (พท.)
เขต 3 นิมุคตาร์ วาบา (ภท.)อดีต ส.ส.เพื่อแผ่นดิน ตอนแรกรับปากจะอยู่กับปชป. แต่สุดท้ายไปสวมเสื้อสีน้ำเงิน มีกระสุนอัดฉีดไม่อั้น แต่ต้องฝ่าฟันกับสมมารถ เจ๊ะนา(พท.)นักการเมืองผู้คร่ำหวอด กับอับดุลรามัน มะยูโซะ (ปชป.)หน้าใหม่ซึ่งคงไม่ยากนัก
เขต 4 ซาตา อาแวกือจิ(ปชป.)สุดิน ภูยุทธานนท์(พท.) มุข สุไลมาน(มภ.)พ.ต.ท.เจ๊ะอิสมาแอ เจ๊ะโมง 3 คนหลังล้วนเป็นอดีต ส.ส.ที่ผลัดได้ผลัดตกมาหลายรอบ คราวนี้คงต้องเบียดกันสูสี
ยะลา
เขต 1 ประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ(ปชป.) อดีต ส.ส.หลายสมัย น่าจะเบียด อีรฟาน สุหลง(พท.)กับวิสันต์ เข็มเพ็ชร (มภ.) ไม่ยาก
เขต 2 อับดุลการิม เด็งระกีนา (ปชป.) คงไม่อาจฝ่าฟันซูการ์โน มะทา(พท.)ทีอาศัยฐานเสียงของวันมูหะมัดนอร์ มะทาได้ พรรคอื่นยิ่งลุ้นยาก
เขต 3 ณรงค์ ดูดิง(ปชป.) เบียดกับ บูราฮานูดิน อุเซ็ง(พท.)สนุก โดยอับดุลฮาฟิซ หิเล (มภ.)ก็มีโอกาสไม่น้อย
สตูล
เขต 1 การกลับมาของ ธานินทร์ ใจสมุทร ในสีเสื้อชาติไทยพัฒนาทำให้การเลือกตั้งที่จังหวัดมีสีสันเพิ่มขึ้น อดีต ส.ส.ปชป. และอดีตนายกอบจ. ที่โดนใบแดง 2 ครั้ง ย่อมมีฐานคะแนนเสียงที่มั่นคงระดับหนึ่ง ซึ่งต้องไปเบียดคะแนนกับ น.พ.อสิ มะหะมัดยังกี (ปชป.) อดีต ส.ส. ส่วน(พท.)แม้จะส่งนพ.มูนีร์สมูฮัมหมัด ใบกาเด็ม ก็น่าจะลุ้นไม่ขึ้น แต่อาจเป็นโอกาสให้ ซอลีฮีน อิสมาแอล จากมาตุภูมิก็ไม่แน่
เขต 2 ฮอชาลี ม่าเหร็ม(ปชป.) แม้จะได้เปรียบในฐานะอดีต ส.ส.และฐานเสียงปชป. แต่ วิภัชภณ สุธากูล น้องชายอดีตส.ส.(ปชป.)สนั่น สุธากูล (มภ.) ก็มีโอกาสเบียดเช่นกันส่วน ฟารูก พีรูซอะล(พท.)ต้องรอไปก่อน
ไม่ต้องสรุปว่า พรรคไหนจะได้มากกว่าพรรคไหน แต่โดยสรุป พรรคใหม่อย่างมาตุภูมิ น่าจะแจ้งเกิดในหลายพื้นที่ 3 จังหวัด ความเป็นมุสลิมที่มีศักยภาพของพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน น่าจะช่วยให้กระแสของผู้สมัครเขตดีขึ้นไปด้วย ส่วนปชป.กับ พท.พยายามรักษาเสียงเดิมให้ได้ก็ถือว่า เสมอตัวแล้ว ในขณะที่พรรคใหม่อย่างประชาธรรม อาจต้องใช้เวลาในการสร้าวคะแนนนิยมอีกระดับหนึ่ง
หมายเหตุ : รายงานนี้ เขียนก่อนมีข่าวการเข้าตรวจค้นบ้านผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธรรม ซึ่งทำฝห้กระแสของพรรคนี้ใน 3 จังหวัด โดยเฉพาะที่ยะลาแรงขึ้น ไม่อาจคาดหมายได้ว่า จะแรงพอให้ผลการลงคะแนนเปลี่ยนแปลงหรือไม่
————————–
ประชาธรรม เน้นแก้ความไม่สงบภาคใต้พรรคประชาธรรม เปฌนพรรคการเมืองน้องใหม่ ที่เน้นส่งผู้สมัครใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายมุกตา กีละ เป็นหัวหน้าพรรค นายชานนท์ เจะหะมะ เป็นรองหัวหน้าพรรค นายไซดียีตอันวาร์ อัลอิดรุส เป็นเลขาธิการพรรคแนวทางของพรรคนั้น นายชานนท เจะหะมะ รอง หัวหน้าพรรคประชาธรรมและผู้สมัครรับเลือกตั้งเขต 2 จังหวัดยะลา กล่าวว่า ประชาธรรมเป็นพรรคเล็กๆ ที่อาสามาทำงานการเมืองให้กับพื้นที่ โดยมีเป้าประสงค์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ต้องแก้ด้วยคนในพื้นที่ ไม่มีใครรู้มากกว่าคนในพื้นที่ พรรคได้เตรียมส่งคนลงสมัครในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครบทุกเขต และในต่างจังหวัดทั่วประเทศ นั้น จะส่งได้เท่าที่พรรคมีศักยภาพเท่านั้น ส่วนบัญชีรายชื่อ นั้น พรรคส่งเพียง 15 ท่าน
—— ไอแบงก์ยันไม่เป็นเครื่องมือนักเมือง
ธนาคารอิสลาม แจงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหาเสียงของนักการเมืองพรรคใด ยืนยันยึดหลักคุณธรรมในการให้บริการลูกค้าทุกศาสนาอย่างเป็นธรรมนายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ชี้แจงงกรณีที่ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) กรุงเทพมหานคร เขต 17 พรรคเพื่อไทย ระบุว่า มีนักการเมืองพรรคอื่นในเขตมีนบุรี ได้หาเสียงโดยอ้างว่าถ้าเลือกตนเป็นส.ส.ในเขตมีนบุรี จะได้รับการอำนวยความสะดวกในการขออนุมัติสินเชื่อจากธนาคารอิสลามฯนั้น
“ ไอแบงก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องทุจริตใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องที่นายวิชาญ กล่าวอ้างไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยไอแบงก์มีสาขาตั้งอยู่ในพื้นที่เขตมีนบุรี และหนองจอกมานานแล้ว และได้มีการให้สินเชื่อชุมชนและสินเชื่อจุลภาคกับลูกค้าในพื้นที่มาโดยตลอด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยธนาคารได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีเสมอมาอยู่แล้ว” เขา กล่าว และว่า การที่ไอแบงก์ถูกนำมาพาดพิงเกี่ยวกับการทุจริตในการหาเสียง เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริงและเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะไอแบงก์เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่ให้บริการตามหลักศาสนาอิสลาม โดยได้คำนึงถึงการให้บริการในกรอบของคุณธรรมและจริยธรรมอย่างเสมอมา พร้อมทั้งให้หลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการอนุมัติบริการสินเชื่อและธุรกรรมในรูปแบบต่างๆ จึงไม่มีความจำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับการนักการเมืองแต่อย่างใด
ข้อมูล…
จากคอลัมน์ เจาะสนามเลือกตั้ง
โดยทีมข่าวการเมือง
จากนิตยสาร MTODAY ฉบับที่ 13 เดือนมิถุนายน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1146 ครั้ง