สอบแดงเผาเมือง-91ศพอยู่ปีกว่า กรรมการสิทธิฯ เตรียมเปิดรายงานสรุปหลังเลือกตั้งสัปดาห์หน้า เปิด 9 ประเด็นสอบตั้งแต่ชุมนุมวันแรกจนตาย 6 ศพวัดปทุมฯ เบื้องต้นชี้ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและแกนนำเสื้อแดง
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. แหล่งข่าวจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่มีนางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน เผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมของคนเสื้อแดงช่วงมีนาคม-พฤษภาคม ปี 2553 โดยมีผู้เสียชีวิต 91 ศพ ต่อมาที่ประชุม กสม.มีมติให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม รวมถึงใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมีการกระทำที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย โดยการสอบสวนดังกล่าวใช้เวลานานร่วมปี
“ล่าสุดกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเตรียมสรุปผลการสอบสวนและเปิดรายงานทั้งหมดต่อสื่อมวลชนในสัปดาห์หน้าหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง” แหล่งข่าวระบุ
รายงานข่าวระบุว่า รายงานการสอบสวนดังกล่าวที่กรรมการสิทธิฯได้ตั้งคณะทำงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเข้าไปสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริง ความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ขณะนี้ได้มีการส่งผลสรุปเป็นเอกสารจำนวนมากไปให้กรรมการสิทธิฯ แล้ว โดยผลสรุปจะแบ่งออกเป็น 9 เหตุการณ์ที่จะมีการรายงานข้อเท็จจริง ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ ใครเป็นฝ่ายกระทำผิดและใช้ความรุนแรง จากนั้นจะตามมาด้วยข้อเสนอแนะทั้งระยะสั้นและระยะยาวของกรรมการสิทธิฯ
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ผลสรุป 9 เรื่องจะแบ่งออกเป็นหัวข้อหลักๆ ดังนี้ 1.เหตุการณ์เมื่อ 10 เมษายน 2553 ที่สี่แยกคอกวัวและตามจุดต่างๆ ซึ่งเป็นวันแรกที่ ศอฉ.เข้ากระชับพื้นที่ 2.เหตุการณ์การเผชิญหน้ากันของคนเสื้อแดงและคนเสื้อหลากสี ที่มีการยิงเอ็ม 79 ใส่กลุ่มคนเสื้อหลากสีที่แยกศาลาแดงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต
3.การเสียชีวิตของทหารและการปะทะกันในวันที่คนเสื้อแดงเคลื่อนตัวไปยังบริเวณอนุสรณ์สถาน 4.การบุกเข้าค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ และสภากาชาดไทยของคนเสื้อแดง 5.การจลาจลวางเพลิงตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร เน้นที่เซ็นทรัลเวิลด์และการเผาศาลากลางจังหวัดใน 4 จังหวัดภาคอีสาน เช่น มุกดาหาร อุดรธานี
6.การเสียชีวิตปริศนา 6 ศพที่วัดปทุมวนารามฯ 7.การเข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.2553 ตามจุดต่างๆ ที่มีผู้เสียชีวิต เช่น แยกวิทยุและถนนสารสิน รวมถึงการระงับการจลาจลของเจ้าหน้าที่รัฐตามจุดต่างๆ 8.ข้อสรุปการเสียชีวิตของประชาชนและสื่อมวลชนต่างชาติ เช่น ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น-ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี และสุดท้าย 9.การสรุปภาพรวมการชุมนุมทั้งหมดของคนเสื้อแดงตั้งแต่วันแรกคือ 12 มีนาคมจนถึงวันสุดท้าย 20 พ.ค.2553
“ข้อสรุปของกรรมการสิทธิฯ จะแบ่งออกเป็นข้อหลักๆ ทั้งหมด 9 ข้อที่ในแต่ละข้อของการสอบสวนและค้นหาความจริง กรรมการสิทธิฯ จะบอกไว้ด้วยว่าใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ ใครที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ใครที่ดูแล้วใช้ความรุนแรง ซึ่งทั้งหมดจะมีครอบคลุมหมด เบื้องต้นก็มีหมดทุกฝ่ายที่ต้องร่วมรับผิดชอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เราทำอย่างเป็นกลางที่สุด และจะบอกไว้ด้วยว่า แล้วแนวทางที่ถูกต้องควรทำอย่างไร จากนั้นบทสรุปสุดท้ายจะเป็นข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายเช่นวิธีการแก้ปัญหาแบบปรองดองหรือการตั้งกรรมการกลางเข้าไปดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการอภิปรายรอบสุดท้ายของกรรมการสิทธิฯ ทั้งหมดอยู่ และจะแถลงผลอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้านี้” กรรมการสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งระบุ
นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดอะไรได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมสรุปในสัปดาห์หน้า
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1254 ครั้ง