มุสลิมอีสาน บนหนทางที่ต้องช่วยกันดูแล
เมื่อปลายเดือนเมษายน ชมรมส่งเสริมการศึกษามุสลิมอีสาน ได้จัดงานเพื่อหารายได้สมทบทุนการศึกษาแก่เยาวชนมุสลิมอีสาน ซึ่งมีมุสลิมอยู่จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาด้านศาสนา
มุสลิมอีสาน มีความเป็นมายาวนานนับ 100 ปี ส่วนหนึ่งเป็นมุสลิมปาทานที่อพยพมาจากปากีสถาน ส่วนหนึ่งเป็นมุสลิมมลายูที่ไปตั้งรกรากที่นั่นมาเป็นเวลานาน จึงมีมุสลิมจำนวนมากที่เกิดที่ภาคอีสาน และส่วนหนึ่งที่เป็นมุสลิมที่แต่งงานกับมุสลิม และคนไทยพุทธที่ศรัทธา จึงเข้ารับอิสลาม โดยเฉพาะที่ขอนแก่นมีมุสลิม ประมาณ 3,000 คน ที่อุดรธานี มีหลายร้อนคน ที่เหลือกระจัดกระจายอยู่ในหลายจังหวัด
“ปัญหาของมุสลิมอีสานคือ การไม่ได้รับการศึกษาด้านศาสนา ทำให้วิถีชีวิตหันเหออกจากอิสลาม เคยมีหมู่บ้านหนึ่ง ที่จังหวัดร้อยเอ็ดเข้ารับอิสลามทั้งหมู่บ้าน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จนเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ แต่ไม่มีคนไปให้ความรู้ทำให้ปัจจุบัน มีมุสลิมเหลืออยู่เพียง 2-3 ครอบครัวเท่านั้นเอง การไม่ได้รับการศึกษาจึงเป็นเรื่องน่าห่วงมาก” อุสมา อุมา กรรมการผู้จัดกรมูลนิธิสร้างสรรค์สังคมมุสลิม กล่าว
อุสมาน จบปริญญาตรีจากมักกะห์ ซาอุดิอารเบีย เป็นอาสาสมัครไปสอนหนังสือให้กับเยาวชนมุสลิม ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อ 2-3 ปีก่อน ทำให้เขาเห็นความจำเป็นว่า ต้องเร่งดูแลการศึกษาของเยาวชนที่นั่นอย่างเร่งด่วน
“ก่อนหน้านี้ มุสลิมอีสานได้ประสานมายังมูลนิธิฯเพื่อขอให้ไปสร้างมัสยิด ซึ่งมูลนิธิฯได้ระดมทุนไปก่อสร้างให้ 3 หลัง แต่เมื่อสร้างแล้ว ก็ไม่มีคนไปละหมาดเพราะละหมาดไม่เป็น จึงได้ขอให้ส่งครูไปช่วยสอน ซึ่งตอนนี้ก็มีครูไปสอน แต่ยังไม่ครอบคลุม และยังต้องการเงินทุนเพื่อดูแลในเรื่องนี้ด้วย” เขา กล่าว
อุสมาน อามีนะห์
อามีนะห์ สมาเด๊ะ มุสลิมอีสาน เล่าให้ฟังว่า เธอ เป็นคนอุดรธานี ตอนอายุ 16 ปี เธอได้เข้ามาอยู่กับครอบครัวมุสลิมปาทานที่ขอนแก่น ซึ่งเป็นญาติ และได้เรียนอิสลามและได้เข้ารับอิสลาม หลังจากนั้นได้แต่งงานกับลูกชายของเจ้าของบ้าน จนมีลูกด้วย ต่อมาสามีได้เสียชีวิต อามีนะห์ก็ยังรักษาความอิสลามไว้อย่างดี
“อยู่ที่อุดรฯ มีมุสลิมไม่มาก ในหมู่บ้านที่อยู่ชาวบ้านก็ให้การยอมรับดีไม่มีปัญหาอะไร ตัวดิฉันเอง ได้เสียสละทำงานให้กับชุมนุม จนได้รับรางวัลจากทางจังหวัด เพราะเขาเห็นว่า เราได้ทุ่มเททำงานโดยไม่หวังผลตอบแทนอะไร ซึ่งช่วยให้คนได้เข้าใจอิสลามเพิ่มขึ้น” เธอ กล่าว
อามีนะห์ ได้จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านขึ้นมา เพื่อให้การอบรมดูแลมุสลิมที่เข้าใหม่ และร่วมกันจัดกิจกรรมในหลายๆด้าน ซึ่งในการจัดงานระดมทุนที่หนอกจอก ก็นำแม่บ้านมุสลิมประมาณ 10 คน มาออกร้าน ขายอาหารอีสานด้วย
การจัดงานเพื่อระดมทุนการศึกษาให้กับเยาวชนอีสานที่สหกรณ์หนองจอก เมื่อวันที่ 22 เมษายน และที่ โรงเรียนอัลฟาติฮะห์ ดอนฉิมพลี บางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 23 เมษายน มีนายภักดี มะแอ เป็นประธานจัดงาน และนายอารีเพ็ญ อุตรสินธ์ เป็นประธานในพิธี ได้ทุนสนับสนุนเกือบ 1 ล้าน ที่หนองจอกได้ 400,000 กว่าบาท ส่วนที่ฟาติหะห์ ได้ 600,000 กว่าบาท เงินจำนวนนี้ ใช้เป็นทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนอีสานให้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ โดยในเบื้องต้นได้จัดทุนให้จำนวน 10 ทุน ๆละ 25,000 บาท โดยให้เยาวชนเข้ามาเรียนที่โรงเรียนศาสนวิทยา ที่หนองจอก และโรงเรียนอัลฟาติหะห์ ที่บางน้ำเปรี้ยว
อุสมัน กล่าวว่า ที่ขอนแก่นมูลนิธิสร้างสรรค์มุสลิม ได้ไปเปิดสาขา เพื่อดูแลมุสลิมในพื้นที่ โดยมีศูนย์อบรมศาสนาให้กับเยาวชนและมุสลิมใหม่ (มูอัลลัฟ) ซึ่งภายในปีนี้ทางมูลนิธิฯจัสร้างอาคารเอนกประสงค์ สร้างโรงเรียนสอนศาสนาบนพื้นที่ของมัสยิด ซึ่งจะต้องจัดหาทุนมาดำเนินการต่อไป
ตามข้อมูลที่กล่าวมา มุสลิมอีสานจะต้องได้รับการดูแลอีกมาก โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพื่อให้พวกเขาสามารถปฏิบัติตามหลักการอิสลามได้ ผู้มีจิตศรัทธา ต้องการสร้างสรรค์มุสลิมอีสาน สามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิสร้างสรรค์มุสลิมอีสาน 043-246683
จากคอลัมน์ วิถีชุมชน
นิตยสรร MTODAY ฉบับที่ 11
รายชื่อมัสยิดในภาคอีสาน