สุชาติ อีซา ต่อสู้สร้าง อัลฟาติฮะห์ เพื่อเด็กมุสลิมยากจน
สุชาติ (รอซิกีน) อีซา เป็นนักศาสนาที่มีความมุ่งมั่น ที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมมุสลิม โดยเฉพาะการสร้างโอกาสทางการศึกษา ซึ่ง เขาทำได้สำเร็จ สามารถสร้างสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ ช่วยเหลือเด็กยากจนในประเทศไทยและจากลาว เขมร เวียดนาม
สุชาติ อีซา จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร กรุงไคโร ประเทศอียิปต์สถาบัน ซึ่งบ่มเพาะผู้นำมุสลิมมายาวนานนับ 1,000 ปี โดยตั้งใจว่า เมื่อกลับมาประเทศไทย จะมีโอกาสเปิดสถานศึกษาสำหรับเยาวชนที่มีฐานะยากจนซักแห่งหนึ่ง
“ผมเป็นเด็กที่ครอบครัวทีมีฐานะยากจน ความยากจนเป็นแรงผลักดันให้ตั้งใจเรียนหนังสือ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีฐานะร่ำรวย จะเห็นว่า เด็กยากจนมีความมุ่งมั่นมากกว่า ประสบการณ์ที่อียิปต์ที่ได้สัมผัส น่าจะเป็นบทสรุปได้ เพราะเห็นเด็กที่มีฐานะหลายคนไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน เพราะคิดว่า ถึงเรียนไม่จบชีวิตก็ไม่ลำบาก จึงอยากช่วยเหลือเด็กยากจน ให้ได้มีโอกาส” เขา กล่าวถึงความมุ่งมั่น
ระหว่างเรียนที่อียิปต์ รอซิกีน ได้เดินทางไปยังหลายประเทศ เพื่อศึกษาความเป็นอยู่ของมุสลิมในประเทศนั้นๆ โดยอาศัยไปกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่อเมริกาเขาได้ไปเห็นมัสยิดแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาเขายึดเป็นต้นแบบ
“ไปมัสยิดที่อเมริกาตอนปิดเทอม จะไปขอเขาทำงาน เห็นป่ายมัสยิดว่า อัลฟาติฮะห์ ชื่อของซุเราะห์ในคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เป็นซูเราะห์เริ่มต้น นึกในใจว่า ชื่อนี่หละจะนำไปตั้งชื่อโรงเรียน อิหม่ามซึ่งเป็นชาวเขมรก็ได้ให้ทำงานสอนภาษาอาหรับแก่เยาวชนที่นั่น” ขาเล่าย้อนอดีตสมัยเรียนหนังสือ
กลับมาเมืองไทย รอซิกีน สามารถผลักดันตั้งโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามอัลฟาติฮะห์ มูลนิธิ จนเป็นผลสำเร็จเมื่อปี 2537 ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา สอนศาสนาเด็กระดับ ม.1-ม.6 โดยสอนศาสนาเป็นหลัก สายสามัญให้เด็กเรียนกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)
“ที่โรงเรียนมาเด็กประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน จากทั่วประเทศของไทย โดยเฉพาะจากภาคใต้ ซึ่งทางโรงเรียนจะช่วยเหลือทุนการศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่หอพัก ความเป็นอยู่ต่างๆ โดยอาศัยเงินจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน ซึ่งการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่ศาสดาได้เน้นย้ำ คนที่ช่วยเหลือเด็กยากจนให้มีการศึกษา จะได้ผลตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งที่ผ่านมาด้วยความช่วยเหลือของอัลเลาะฮฺกองทุนไม่เคยขาดเลย แถมบางครั้งทางโรงเรียนต้องไปยืมเงินจากกองทุนมาจ่ายเป็นค่าเงินเดือนครูก็มี” เขา กล่าว
ผู้อำนวยการโรงเรียนอัลฟาติฮะห์มูลนิธิ กล่าวว่า นักเรียนที่โรงเรียน ยังมีเด็กนักเรียนยากจนจากประเทศเพื่อนบ้านเขมร ลาว และเวียดนาม ซึ่งได้ช่วยเหลือโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งการมีนักเรียนที่หลากหลายทำให้นักเรียนได้รู้จักเพื่อนที่หลากหลาย เมือถึงเวลาปิดเทอม เด็กจากภาคกลางก็จะเดินทางไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่ภาคใต้ เด็กจากภาคใต้เดินทางไปภาคเหนือ เด็กไทยบางคนไปเยี่ยมบ้านเพื่อนที่เวียดนาม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาในอนาคต
สุชาติ กล่าวว่า โรงเรียนอยู่ได้จากการจัดงานประจำปี ที่มีการจัดงานเป็นประจำทุกปี ซึ่งก็มีรายได้ส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งมาจากเงินบริจาค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสามารถอยู่ได้
“ปัจจุบัน มุสลิมนิยมเข้าเรียนด้านศาสนา ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อดั้งเดิมที่มองว่า การเรียนศาสนาไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เพราะปัจจุบันโรงเรียนสอนศาสนาขาดแคลนครูที่มีความรู้ และคนที่รู้ภาอาหรับก็มีโอกาสในการทำงานสูงขึ้น ทั้งการเป็นล่ามตามโรงพยาบาล การทำงานที่ติดต่อกับประเทศกลุ่มอาหรับ”
แม้โรงเรียนสอนศาสนาจะยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเองไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ แต่สุชาติ มองว่า ยังมีหลายสิ่งหลายอย่าที่ต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองเข้าไปผลักดัน การสร้างสวัสดิการของครูและนักเรียนที่เป็นระบบ การออกกฎหมายเพื่อสังคมมุสลิม เป็นต้น ในการเลือกตั้ง จึงเห็นว่าน่าจะให้โอกาสคนมุสลิมเป็น ส.ส.
“ผมมองว่า พรรคมาตุภูมิน่าจะเป็นโอกาสของคนมุสลิมที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหาของสังคมมุสลิมได้อย่างเป็นระบบ หรือเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะดูองคาพยพภายในพรรค ตั้งแต่หัวหน้าพรรคจนไปถึงผู้สมัคร น่าจะช่วยสังคมมุสลิมได้มาก” เขา กล่าวทิ้งท้าย
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2784 ครั้ง