สภาที่ปรึกษาเศรษฐ กิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) มีพันธกิจคือ การจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายที่มีคุณภาพ ทันเหตุการณ์ และมองการณ์ไกลต่อคณะรัฐมนตรี โดยการศึกษาและการมีส่วนร่วม เพื่อความเจริญก้าว หน้าของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชน
นับจากพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.43 ล่าสุดมีประธานสป.คนที่ 3 จากการโหวตเลือกของสมาชิกเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา นั่นคือ
นายโอกาส เตพละกุล ประธานกรรมการ บริษัท อีซูซุแสงหงส์ลิซซิ่ง จำกัด จากคณะทำงานกลุ่มการผลิตด้านการบริการของ สป. ซึ่งได้เปิดใจกับ “ข่าวสด” ดังนี้
วิสัยทัศน์ที่แสดงให้สมาชิกยอมรับ
ประธาน สป. คนแรก คือ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและได้รับความยอมรับจากสังคม ประธาน สป. คนที่สอง นายโคทม อารียา เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ทำงานโดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในสังคม แต่ที่ผ่านมา สป. ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของประชาชน
ส่วนตัวจึงเห็นว่า สป. ควรมีการเปลี่ยนแปลง ควรมีการบริหารจัดการที่ดี โดยเปลี่ยนจากบทบาทนักวิชาการมาเป็นนักบริหารบ้าง ด้วยความร่วมมือกันระหว่างสมาชิกภายใน สป. จำนวน 99 คน ประกอบด้วยบุคลากร และตัวแทนภาคประชาชน ภาคสังคมในอาชีพต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้านความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญ ทักษะและภูมิปัญญา มาบริหาร สป. โดยดึงศักยภาพการทำงานของทุกคนออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
สป.ชุดที่ 2 สร้างผลงานไว้มากมาย แต่ไม่ได้มีการเผยแพร่ออกไปให้สาธารณชนรับรู้ เช่น แผนการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีชมพู สีม่วง และสีน้ำเงิน แนวคิดการใช้สนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินแห่งที่ 2 เป็นต้น แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี ทำให้สังคมไม่ทราบว่าสป. ทำอะไรบ้าง
ดังนั้นภารกิจที่สำคัญอันดับแรก คือ จะทำอย่างไรให้สังคมรู้จักและยอมรับ โดยเฉพาะให้ สป. เป็นองค์กรแห่งปัญญาที่สนับสนุนแนวความคิด พร้อมกับให้คำปรึกษาและเสนอแนะความคิดเห็นต่างๆ ให้รัฐบาลนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ของประชาชน ด้วยการแสดงบทบาทเชิงรุกของ สป. ให้ทันต่อสถานการณ์มากกว่าการตั้งรับเหมือนที่ผ่านมา
สป. จะใช้พื้นฐานของประเทศชาติ โดยมีประชาชนเป็นตัวตั้ง และการกระจายงานให้คณะทำงานชุดต่างๆ ที่จะมีการแต่งตั้งขึ้นในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ ลงไปรับฟังปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขต่อรัฐบาลทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมในแต่ละภาค อะไรดี อะไรควรทำ ประชาชนต้องการอะไร
เป้าหมายการทำงานสูงสุด
สป. ต้องทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์มากที่สุด เป็นเป้าหมายเดียวกันกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยวัดได้จากประชาชนต้องมีงานทำ มีที่อยู่อาศัย มีความกินดีอยู่ ดีมีความสุข มีสวัสดิการที่ดี และต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกันทุกชนชั้น เป็นตัวตั้งของ สป. และเป็นสิ่งที่เราต้องทำให้สำเร็จ
การที่จะดำเนินการได้ดังเป้าหมายที่วางไว้ สป.ต้องทำตัวเหมือนกระจกสามารถสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจ สังคมทุกภาคส่วนของประเทศออกมาให้สังคมได้เห็น สามารถเตือนภัยก่อนจะเป็นวิกฤตของประเทศ พร้อมกับสามารถจัดลำดับความสำคัญของปัญหาได้ เสร็จแล้วต้องทำตัวเหมือนกุญแจ เป็นสภาแห่งภูมิปัญญาสามารถให้คำแนะนำ ชี้แนวทางที่ถูกต้องในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการแก้ไขป้องกันและส่งเสริมสังคม และทำตัวเหมือนโทร ศัพท์สามารถเข้าถึงง่าย สื่อสารประสานงานกับทุกภาคส่วนให้ชัดเจนตรงเป้าหมาย
แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานการดำเนินการที่มีความเป็นกลาง โปร่งใส เป็นเอกภาพ ถ้า สป. สามารถทำได้ ก็จะได้รับความเชื่อถือจากสังคมเป็นเป้าหมายสูงสุด และเป็นความภาคภูมิใจของตัวเอง
อุดมการณ์การทำงานคืออะไร
ทุกคนใน สป.มีความตั้งใจอาสาทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด มากที่สุดในแนวทางที่สร้างสรรค์อย่างเต็มศักยภาพ มีความสามัคคี ช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันภายในองค์กร รวมถึงให้มีการทำงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่เริ่มคิดประเด็น ค้นหาข้อมูลข้อเท็จจริง การประเมิน วิเคราะห์/สังเคราะห์ สรุปแนวทางแก้ไข/ป้องกันที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง หลังจากนั้นพยายามติดตามประเมินผลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม
“สป. มีเครือข่ายลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคประชาชน ว่า ประชาชนต้องการอะไร เพื่อนำมาประมวลและสังเคราะห์ นำเสนอข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอแนะของ สป. ต่อรัฐ บาลด้วยความเป็นกลาง ไม่มีการอิงผลประโยชน์กับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทุกสิ่งที่เสนอเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง”
ควรเร่งแก้ปัญหามิติใดอันดับแรก
ขณะนี้ต้องเร่งแก้ไขปัญหาสังคมก่อน หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ประชาชนก็จะมีความสุขตามมา เวลานี้สังคมต้องมาก่อน ถ้าบ้านเมืองสงบสุข ทุกอย่างก็ดำเนินการได้ราบรื่น รัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน เพราะปัญหาสถานการณ์ภายในบ้านเมืองปัจจุบันถือว่าเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย รัฐบาลต้องดูแลให้ทุกอย่างเรียบร้อยตามวิถีที่ถูกต้องภายใต้กรอบประชาธิปไตย ก็ไม่น่าจะเป็นต่อปัญหาสังคม
นอกจากนี้ สป.ยังต้องทำทุกอย่างให้เป็นรูปธรรม เมื่อเสนอแผนหรือให้คำปรึกษาหรือความคิดเห็นต่อรัฐบาลก็จะมีแนวทางการดำเนินงานชัดเจน หนึ่ง สอง สาม ว่ารัฐ บาลควรจะต้องทำอย่างไรบ้างในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่เป็นหัวใจของประเทศ ที่ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สาธารณูปโภคขน ส่งคมนาคม สวัสดิการต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่ออนาคตของประเทศ
สำหรับด้านเศรษฐกิจ สป. กำลังศึกษาผลกระทบการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า)ที่มีผลให้ภาษีลดเหลือ 0% ที่มีต่อชาวบ้านในวงกว้างว่าเป็นอย่าง ไรทั้งผลกระทบต่อภาคอุตสาห กรรมและเกษตรกรรม เพราะมีทั้งจุดที่ได้รับผลประโยชน์และเสียประโยชน์
สป.จึงอยากเข้าไปอาศัยการเปิดอาฟต้า 0% มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและชีวิตความเป็นอยู่ เป็นแผนปฏิบัติให้ประชาชน รวมถึงการเสนอแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม
สป.จะเผชิญความท้าทายอย่างไร
ส่วนตัวมองว่า ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น เราต้องหันมามองตัวเองหรือในประเทศก่อน ถ้าประเทศเข้มแข็ง มีความสงบสุขก็ค่อยไปดูต่างประเทศ ถ้าประเทศไทยทำให้ตัวเองแข็งแรง เมื่อแข็งแรงแล้วจะก้าวเดินไปทางไหนก็เดินหน้าได้ จึงต้องมองว่าปัญหาบ้านเมืองปัจจุบันเป็นอย่างไร และต้องทำอย่างไรให้สงบสุข ถ้าสังคมสงบสุข เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ความ เป็นอยู่ของประชาชนหรือคนในสังคมก็จะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็จะแข็งแรง โดยยังมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมไทยไม่ได้มีปัญหามากนัก สามารถ ประคองตัวเองไปได้ เพียงแต่ตอนนี้มีปัญหาทางการเมืองบ้างกระทบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขอยู่ ดังนั้นหากแก้ปัญหาการเมืองให้สงบได้ ทุกอย่างจะดีขึ้นแน่นอน
มีแรงกดดันในการทำงานหรือไม่
สป.คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อการทำงานของ สป.แต่อย่างใด มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ เพราะ สป.เป็นองค์กรที่ปราศจากการเมืองแน่นอนตามข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติบุคคลที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ถือเป็นคุณสมบัติที่สะท้อนความเป็นองค์กรอิสระ
“ทุกคณะทำงานจะมีอิสระทางความคิดทุกอย่าง แล้วมารวมกันเป็นหนึ่งเพื่อทำงานให้สังคมได้รับประโยชน์มากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26-27 มี.ค.นี้ สป.จะจัดสัมมนากำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินงานของ สป. เป็นหลักการทำงาน เพื่อนำข้อคิดและข้อเสนอแนะที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการสัมมนามากำหนดทิศทางการดำเนินงานในที่ประชุมใหญ่ของ สป. ช่วงต้นเดือนเม.ย.นี้ และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สู่สาธารณชน
โดยยืนยันว่า สป. อยู่เคียงข้างประชาชนเสมอมา
ที่มา:ข่าวสดรายวัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1215 ครั้ง