รูปภาพ : ชาวกรีกประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล
ที่มา : Reuters
ประเทศกรีซเผชิญการควบคุมที่เข้มงวดมากต่ออธิปไตยของประเทศและต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจในระดับเดียวกับการโละขายบริษัทในประเทศเยอรมันตะวันออกในช่วงทศวรรษที่ 1990 หลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ นายฌอง-คลอด ยุงเคอร์ (Jean-Claude Junker) ประธานยูโรกรุ๊ปกล่าว
ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ซึ่งเผยแพร่หลังจากรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศเขตเงินยูโรได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือกรีซเพิ่มเติมอีก 12,000 ล้านยูโรหรือกว่า 520,000 ล้านบาท โดยนายยุงเคอร์กล่าวว่า เขามีความมั่นใจว่า บรรดามาตรการที่ตกลงกับรัฐบาลกรีซจะช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศได้
“อำนาจอธิปไตยของกรีซจะต้องถูกจำกัดลงอย่างมาก” นายยุงเคอร์กล่าวกับนิตยสารโฟกัสของเยอรมนีในบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์วานนี้ (อาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2011) โดยเสริมว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญจากบรรดากลุ่มประเทศเขตเงินยูโรกำลังมุ่งหน้ามายังกรีซ
“ในส่วนของช่วงของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ที่กำลังมาถึงนี้สิ่งที่พวกเขาต้องการก็เช่น การมีโมเดลเศรษฐกิจในลักษณะของหน่วยงานเทราฮันด์ (Treuhand) ของเยอรมนี” นายยุงเคอร์เสริม โดยอ้างถึงหน่วยงานแปรรูปรัฐวิสาหกิจของเยอรมนีที่ทำหน้าที่ขายบริษัทกว่า 14,000 แห่งของเยอรมันตะวันออกในช่วงระหว่างปี 1990-1994
รัฐสภากรีกลงคะแนนเสียงในช่วงวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำการแปรรูปรัฐวิสหากิจภายใต้มาตรการรัดเข็มขัดที่ตกลงกับสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ โดยมาตรการดังกล่าวได้จุดชนวนให้เกิดเหตุประท้วงรุนแรงไปทั่วท้องถนนในกรุงเอเธนส์
ชาวกรีกมีความอ่อนไหวอย่างรุนแรงต่อการการฝ่าฝืนอธิปไตยในรูปแบบใดๆก็ตามหรือการแนะนำของ “คอมมิสซาร์” (หมายถึเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในโซเวียตหรือจีนที่มีหน้าที่รับผิดชอบการให้การศึกษาและการจัดตั้งทางการเมือง) จากต่างประเทศในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศ
“ใครก็ตามก็ไมีมีสิทธิ์ในการดูถูกชาวกรีก แต่เราต้องช่วยเขา พวกเขาพูดแล้วว่า พวกเขาพร้อมรับคำแนะนำจากประเทศเขตเงินยูโร” นายยุงเคอร์กล่าว
รัฐบาลเอเธนส์ต้องทำการขายรัฐวิสาหกิจในปีนี้เพียงปีเดียวมูลค่ากว่า 5,000 ล้านยูโรหรือเลือกที่จะเสี่ยงกับการพลาดเป้าหมายที่ถูกตั้งไว้โดยสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟในเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งการขายรัฐวิสาหกิจนี้จะช่วยลดภาระการหาเงินทุนของรัฐบาลผ่านการกู้ยืมเงินซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานต่างๆของรัฐบาลทำงานต่อไปได้และหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้
การเกิดขึ้นซ้ำของประสบการณ์แบบเยอรมนีที่ตั้งเทราฮันด์ขึ้นมาอาจพิสูจน์เป็นสิ่งที่ขมขื่นสำหรับชาวกรีก ซึ่งในขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักอยุ่แล้วจากการว่างงานที่สูงหลังจากประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นปีที่ 3
เทราฮันด์ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกตั้งขึ้นมาโดยคาดว่าจะขายสินทรัพย์ของรัฐบาลในราคาที่ได้กำไรแต่ท้ายที่สุดกลับเผชิญภาวะขาดทุนมหาศาลหลังจากปิดบัญชีไปและทิ้งมรดกแห่งความขมขื่นแก่คนงานของรัฐวิสาหกิจที่พวกเขาสุดท้ายต้องตกงาน
ในปี 1990 ชาวเยอรมันกว่า 4 ล้านคนเป็นลูกจ้างภายใต้บริษัทในเครือของเทราฮันด์ แต่ท้ายที่สุดเหลือคนในตำแหน่งงานเพียง 1.5 ล้านคนหลังจากหน่วยงานนี้ถูกปิดไปในปี 1994
แต่แทนที่บริษัทนี้จะเก็บเอาผลกำไรมาแจกจ่ายให้กับชาวเยอรมันตะวันออกทุกคนตามวัตถุประสงค์ในตอนตั้งบริษัทขึ้นมา เทราฮันดส์ประสบปัญหาของภาระหนี้สินกว่า 270,000 ล้านมาร์คหรือกว่า 172,000 ล้านดอลลาร์หลังจากการหั่นราคาขายสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ
“ยังทำงานได้ไม่เต็มที่”
นายยุงเคอร์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลักเซ็มเบิร์กด้วยเป็นคนแรกที่เสนอแนวคิดของตั้งบริษัทในแนวเทราฮันด์ขึ้นมาสำหรับกรีซในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาได้กล่าวว่า เขาเชื่อว่ากรีซสามารถระดมเงินได้มากกว่า 50,000 ล้านยูโรในการขายรัฐวิสาหกิจ
“ชุดของมาตรการในปัจจุบันซึ่งทางการเอเธนส์ได้ตกลงแล้วนั้น จะนำมาซึ่งคำตอบให้กับคำถามเกี่ยวกรีซ” เขากล่าวในระหว่างให้สัมภาษณ์กับนิตยสารโฟกัส อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่าระบบการจัดเก็บภาษีของกรีซ “ยังทำงานได้ไม่เต็มที่”
เมื่อวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรได้ตกลงอนุมัติวงเงินช่วยเหลือกรีซก้อนที่ 5 จากมาตรการช่วยเหลือกว่า 110,000 ล้านยูโรที่เคยตกลงไว้ในเดือนพฤษภาคม 2010 ซึ่งเงินก้อนนี้จะจ่ายให้ในวันที่ 15 กรกฎาคม ตราบเท่าที่คณะกรรมการไอเอ็มเอฟตกลงที่จะโอนเงินให้ ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 8 กรกฎาคมเพื่ออนุมัติวงเงิน
การจ่ายเงินช่วยเหลือจะช่วยให้กรีซหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ในทันที แต่ประเทศยังคงต้องการมาตรการช่วยเหลือทางการเงินอีกชุดหนึ่งซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าราว 110,000 ล้านยูโรเช่นเดียวกัน และคาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้เพียงแค่ในเดือนกันยายนเท่านั้น
นายยุงเคอร์กล่าวว่า วิกฤตกรีกนั้นโดยส่วนมากแล้วเกิดจากตัวประเทศกรีซเอง “ระหว่างปี 1999 ถึง 2010 ค่าแรงเพิ่มขึ้นกว่า 106.6% แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะไม่ได้โตในระดับเดียวกันนั้น นโยบายค่าแรงนั้นไร้การควบคุมโดยสมบูรณ์และไม่ได้อิงกับ (การเพิ่มขึ้นใน) ผลิตภาพ” เขากล่าว
ที่มา Reuters
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday