ธนาคารอิสลามแห่งประเทศเตรียมออกพันธบัตรอิสลามมูลค่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการออกพันธบัตรอิสลามเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และถือเป็นประเทศล่าสุดที่ร่วมวงกับผู้กู้เงินในประเทศต่างๆตั้งแต่สิงคโปร์ไปจนถึงอินเดียที่เล็งเป้าหมายนักลงทุนอิสลาม
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. เตรียมพิมพ์เผยแพร่หลักเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับบริษัทต่างๆที่ต้องการออกพันธบัตรอิสลามในไตรมาสหน้า นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง โฆษกก.ล.ต.ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กวานนี้ (15 ก.ค. 2010) การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินตามแนวทางที่นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะวางไว้เมื่อปีที่แล้วที่ต้องการให้ 4 จังหวัดชายแดนใต้ปรับใช้การเงินอิสลามภายใต้กฎชารีอาะห์ให้มากขึ้น
ประเทศไทยต้องการผลิตภัณฑ์ตลาดทุนเพราะความต้องการบริการด้านการเงินอิสลามจะเพิ่มขึ้นในไม่กี่ปีข้างหน้าเพื่อตอบสนองต่อชาวมุสลิมซึ่งมีอยู่ 4.3% จากประชากร 67 ล้านคนของประเทศไทย นางจารุพรรณกล่าว บลจ.อยุธยาและบริษัท แอมอินเวสต์เมนต์ มาเนจเม้นท์ เอสดีเอ็นของมาเลเซียกล่าวว่า ทางบริษัทอาจจะซื้อพันธบัตร sukuk ซึ่งจะมาใช้เป็นเงินทุนในการปล่อยกู้ในระบบเศรษฐกิจไทยที่มีมูลค่ากว่า 272,000 ล้านดอลลา่ร์ ซึ่งขยายตัว 12% ในไตรมาสแรกของปีนี้
“เรากำลังมองถึงการปรับระบบในปัจจุบันให้เหมาะสมกับธุรกรรมทางการเงินอิสลาม” นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา “ขนาดของเศรษฐกิจไทยใหญ่โตมากและรัฐบาลก็มีโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายของบรรดาธนาคารอิสลาม”
เสียงตอบรับผลิตภัณฑ์
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มวาณิชธนกิจที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย จะช่วยจัดการเรื่องการจัดจำหน่ายพันธบัตรล็อตนี้ นายธีรศักดิ์กล่าว พันธบัตร sukuk มีแหล่งรายได้มาจ่ายผู้ถือจากอสังหาริมทรัพย์หรือโครงการลงทุนเช่น ถนน และ โรงไฟฟ้า
“หากเรตติ้งดี เราก็สนใจ” นายเจษฎา สุขทิศ ผู้จัดการกองทุนจากบลจ.อยุธยาซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 2,300 ล้านดอลลาร์กล่าววานนี้กับบลูมเบิร์ก “โดยปกติแล้ว รัฐวิสาหกิจมักจะได้เครดิตเรตติ้งที่สูง”
ประเทศไทยได้เครดิตเรตติ้งในระดับบีบีบีบวกจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s ซึ่งถือเป็นระดับน่าลงทุนที่ต่ำสุดเป็นอันดับที่ 3 นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังของไทยได้เพิ่มประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยเป็น 6% ในปีนี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา จากการประมาณการณ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ระดับ 5%
ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ออกกฎระเบียบในเดือนพฤษภาคม 2009 เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการเงินอิสลาม ขณะที่รัฐเกราละทางตอนใต้ของอินเดียได้ออกแผนในเดินธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อขายพันธบัตร sukuk เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การออกขาย sukuk ทั่วโลกลดลง 29% มาอยู่ 6,600 ล้านดอลลาร์ นับแต่ต้นปี
แผนการออกพันธบัตร
ล่าสุด ประเทศไทยมียอดตราสารหนี้คงค้างในระบบจำนวน 191,000 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม เป็นรองแค่มาเลเซีย จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบี
“ขณะนี้ประเทศไทยมีตลาดพันธบัตรที่มีสภาพคล่องและยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหาภาคที่ดีเยี่ยมที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม sukuk” นายโรฮิต ชอว์ดรี่ย์ ผู้จัดการกองทุนจากธนาคารบาห์เรนอิสลามิกแบงก์ในกรุงมานาม่าซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ 350 ล้านดอลลาร์ และเป็นธนาคารอิสลามใหญ่อันดับ 2 ของประเืทศกล่าวกับบลูมเบิร์กวานนี้ “นี่จะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับผู้ออกพันธบัตรในประเทศไทย”
ดัชนีพันธบัตรอิสลาม HSBC/NASDAQ Dubai US Dollar Sukuk Index ซึ่งสร้างจากพันธบัตรอิสลามที่ออกในประเทศต่างๆจากอินโดนีเซียจนถึงซาอุดิอาระเบียเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยวานนี้และให้ผลตอบแทน 6.9% ในปีนี้ ขณะที่ตราสารหนี้ที่ออกในประเทศกำลังพัฒนาให้ผลตอบแทน 7.4% ข้อมูลจากดัชนีพันธบัตร EMBI Global Diversified Index ของเจ.พี.มอร์แกนระบุ
ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตร sukuk ในประเทศเกิดใหม่้และดอกเบี้ยระหว่างธนาคารในกรุงลอนดอนหรือ Libor ลดลง 0.01% มาอยู่ที่ 4.16% ข้อมูลจากดัชนี HSBC/NASDAQ Index ระบุ ส่วนต่างนี้ลดลงจาก 4.67% เมื่ีอสิ้นปีที่แล้ว
ตลาดวิ่ง
อัตราผลตอบแทนบนพันธบัตรอิสลามของมาเลเซียที่มีคูปองหน้าตั๋ว 3.928% และหมดอายุในเดือนมิถุนายน 2015 ลดลง 0.5% มาอยู่ที่ 3.27% นับแต่ออกซื้อขายเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ข้อมูลราคาจากธนาคารเอชเอสบีซีระบุ ตลาดพันธบัตรอิสลามในมาเลเซียคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของตลาดพันธบัตรอิสลามมูลค่า 130,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก
ผู้ออกพันธบัตรอิสลามในเอเชียวางแผนออกพันธบัตรมูลค่าทั้งสิ้น 5,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2010 รวมถึงพันธบัตรมูลค่า 1,000 ล้านริงกิตที่ออกโดยบริษัทคากามัส บีเอชดี ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อบ้านรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซียด้วย รัฐบาลอินโดนีเซียได้คัดเลือก 3 ธนาคารให้เป็นผู้บริหารการจัดจำหน่ายพันธบัตรอิสลามมูลค่า 650 ล้านดอลลาร์ที่จะออกในเดือนตุลาคมปีนี้
ภายใต้พระราชบัญญัติที่ออกในปี พ.ศ. 1946 ประเทศไทยอนุญาตให้มีการใช้กฎอิสลามในจังหวัดที่มีชาวมุสลิมทางภาคใต้จำกัดเฉพาะเรื่องการตั้งครอบครัวและการจัดการมรดกเท่านั้น นายอภิสิทธิ์สัญญาที่จะทุ่มความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาเพิ่มเติมในชายแดนใต้ซึ่งมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่อสู้เพื่อการตั้งรัฐเอกราชนับแต่ประเทศไทยได้ผนวกเอารัฐสุลต่านอิสรในปี พ.ศ. 1902
ประเทศไทยกำลังสร้างตลาด sukuk นับแต่บลจ.กรุงไทยได้ออกกองทุนเพื่อการเกษียณตามหลักชารีอะห์เมื่อเดือนธันวาคม 2006 ให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้น ด้านบริาัทลูกของรอยัลดัชต์ เชลล์ ในประเทศไทยก็ได้ออกพันธบัตรอิสลามเป็นรายแรกในตลาดมาเลเซียตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งในปัจจุบันได้ขยายตัวจนมีมูลค่ากว่า 275,000 ล้านริงกิต
“การกระจายตัวเป็นสิ่งสำคัญและพันธบัตร sukuk ในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ขาดแคลน” นายโมฮัด ฟาริด คามารูดิน ผู้จัดการกองทุนซึ่งช่วยบริหารสินทรัพย์ในตลาดพันธบัตรอิสลามมูลค่า 1,300 ล้านริงกิต ที่แอมอินเวสต์เมนต์ ให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา “ผมหวังว่า จะมีการออก sukuk เพิ่มขึ้นในหลายๆประเทศเช่น ในสหรัฐฯ ประเทศไทย หรือ ออสเตรเลีย” เขากล่าว
ที่มา Bloomberg